กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
TMC ดัน “อัมพวาโมเดล” เป็นต้นแบบการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน นำร่องช่วย 3 ผู้ประกอบการกาแฟโบราณ “สมานการค้า”- เครื่องดื่มน้ำดอกไม้ “แม่สำเนียง”- ข้าวแต๋น “ลุงแว่น” ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปรับปรุงกระบวนการผลิต ยืดอายุผลิตภัณฑ์ พัฒนาคุณภาพตามหลัก GMP ฯลฯคาดต่อยอดความสำเร็จในพื้นที่อื่นๆ พร้อมหนุนวิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็ง ฝ่าเศรษฐกิจต่อไป
ความเจริญที่หลั่งไหลเข้ามาสู่ชุมชนอัมพวาอย่างรวดเร็ว ในภาพรวมได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่นที่มีประชากรกว่า 5,000 คนบนพื้นที่ 2.4 ตารางกิโลเมตรได้เป็นอย่างดี แต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างรวดเร็วของชุมชนแห่งนี้ อาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนในชุมชนได้ ดังนั้นการพัฒนาชุมชนและความเป็นอยู่ของคนในชุมชนที่เน้นซึ่งการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นในชุมชนทั้งด้านสังคมและเทคโนโลยี เพื่อให้คนอัมพวามีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นจึงเกิดขึ้น โดยปี 2552 นี้ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีนโยบายให้การสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กและวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและสอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการนำเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวว่า โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) มีบทบาทหน้าที่โดยตรงในการเสริมสร้างและสนับสนุนผู้ประกอบการ เช่น พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอาหารและขนมไทยให้มีขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีการผลิตเพิ่มขึ้น จึงได้จัด “โครงการการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตอาหารของผู้ประกอบการในชุมชนตลาดน้ำอัมพวา จ.สมุทรสงคราม” ขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนและช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้ประกอบการตลาดน้ำอัมพวา
โดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการอาหารและขนมไทยในชุมชนตลาดน้ำอัมพวาให้มีขีดความสามารถในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย เข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมอันจะเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบในท้องถิ่น และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนและยกระดับผู้ประกอบการอาหารและขนมไทยให้มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการผลิตอาหาร เช่น GHP (Good Hygiene Practice) หรือ GMP (Good Manufacturing Practice) เพื่อความยั่งยืนของชุมชนและผู้ประกอบการ อีกทั้งเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนผู้ประกอบการในแหล่งอื่นๆ ของประเทศไทย
ตัวอย่างต้นแบบการนำร่องโครงการของ TMC ในครั้งนี้ ได้แก่ ร้านกาแฟโบราณ “สมานการค้า” ซึ่งกระบวนการผลิตกาแฟโบราณสมานการค้าที่ผ่านมายังเป็นการใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ได้รับตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น จึงมีแนวคิดต่อยอดผลิตภัณฑ์และต้องการขยายตลาดใหม่ๆ โดยมองปัญหาด้านคุณภาพ อาทิ กลิ่นหอมของกาแฟ และการเก็บรักษาที่ยังไม่ได้มาตรฐาน และสนใจที่จะพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยเบื้องต้นโครงการ iTAP ได้เชิญ ผศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ จากภาควิชาเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม เข้าเป็นผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาด้านการจัดวางระบบการผลิตกาแฟโบราณให้ถูกต้องตามหลักของ GMP เพื่อสร้างโอกาสในการขยายตลาด การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยขึ้น การพัฒนากลิ่นกาแฟให้มีความหอมยาวนานขึ้น การพัฒนาคุณภาพและอายุการเก็บรักษาเครื่องดื่มกาแฟพร้อมดื่ม
เครื่องดื่มน้ำดอกไม้ ตรา “แม่สำเนียง” เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากน้ำดอกไม้นั้น มีอายุการเก็บรักษาในตู้เย็นได้เพียง 7 วัน ทำให้มีข้อจำกัดในการขยายตลาดของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ โครงการ iTAP จึงให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นโดยพาผู้ประกอบการเข้ารับคำปรึกษาจากอาจารย์พิสมัย ศรีชาเยช ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเครื่องดื่มจากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาให้นานกว่า 7 วัน และพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำดอกไม้ให้มีรสหวานน้อยลง
ข้าวแต๋น “ลุงแว่น” ผลิตภัณฑ์ลือชื่ออีกแบรนด์หนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะแห่งอัมพวา โดยโครงการ iTAP เข้ามาเติมเต็มทักษะกระบวนการผลิตข้าวแต๋นเบื้องต้นโดยเชิญ ผศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ จากภาควิชาเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม เข้าไปเป็นผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาด้านเทคนิคการคัดเลือกพันธุ์ข้าวเหนียว เทคนิคการทอดไม่ให้มีกลิ่นหืนของน้ำมัน และไม่โค้งงอ ทั้งนี้ผู้ประกอบการยังมีความต้องการพัฒนาเทคโนโลยีการอบแห้งแผ่นข้าวแต๋นแผ่นดิบ แบบประหยัดพลังงาน มีอายุการเก็บรักษาที่นานขึ้น รวมทั้งพัฒนาต่อยอดให้ข้าวแต๋นลุงแว่นมีคุณภาพดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต และเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์พาร์ค (SWP) ภายใต้ศูนย์บริหาร จัดการเทคโนโลยี (TMC) ยังเป็นอีกหน่วยงานที่เข้าให้การสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ชุมชนและผู้ประกอบการเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากไอทีได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มสปา และที่พัก โฮมสเตย์ โดยมีแนวทางในการสนับสนุน อาทิ การจัดฝึกอบรมด้านอี-คอมเมิร์ส การพัฒนาเว็บไซต์ “อัมพวา ดอทคอม” ทั้งนี้ คาดหวังให้ “อัมพวา โมเดล” เป็นต้นแบบของการใช้เทคโนโลยีกับวิถีชุนชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับชุมชนอื่นๆ ได้ศึกษา และนำไปพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองได้ในอนาคต
ด้านร้อยโทพัชโรดม อุนสุวรรณ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอัมพวา กล่าวว่า ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมองว่าความถนัดของคนในท้องถิ่นยังขาดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้นหากศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ซึ่งมีความถนัดในการบริหารจัดการนำองค์ความรู้เข้ามาช่วยชุมชนย่อมจะทำให้อัมพวากลายเป็นชุมชนโมเดลตัวอย่างซึ่งมีหลาย ๆ โครงการสำหรับการนำร่องในครั้งนี้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนด้วยการนำองค์ความรู้มาสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน
“ ผู้ประกอบการที่พัก โรงแรม รีสอร์ต ของอัมพวามีกว่า 200 รายซึ่ง 90% ล้วนเป็นคนในพื้นที่ มีอาชีพเดิมทางการเกษตรและมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้นชาวบ้านซึ่งผันตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการจึงไม่ได้จบการโรงแรมหรือมีความรู้ด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก การนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ต่างๆเข้ามาช่วยเสริม จึงมีส่วนสำคัญทำให้ชาวบ้านมีความรู้สามารถอยู่บนสิ่งที่เขามี และรู้จักเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมได้ต่อไป”
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) โทร. 02-564-7000 ต่อ 1476 — 8 www.tmc.nstda.or.th
สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อ : โทร. 02-270-1350-4 ต่อ 104 ,114 ,115 อีเมล์ : prtmc@yahoo.com