ฟิทช์ ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ของบริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่ง เป็น ‘A(tha)’ หลังจากการซื้อหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์

ข่าวทั่วไป Thursday May 11, 2006 15:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาว ของบริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (“SPL”) เป็น ‘A(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ จากเดิม ‘BBB+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นเป็น ‘F1(tha)’ จากเดิม ‘F2(tha)’ หลังจากการเสนอซื้อหลักทรัพย์ (“tender offer”) ของธนาคารไทยพาณิชย์ (“SCB”) ประสบความสำเร็จ ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารใน SPL เพิ่มขึ้นเป็น 92.5% จาก 37.1% การเพิ่มอันดับเครดิตของ SPL มีพื้นฐานมาจากความเป็นไปได้ที่จะได้รับการสนับสนุนในเชิงปฏิบัติการและในด้านการเงินที่เพิ่มขึ้นจาก SCB ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ฟิทช์ยังได้ยกเลิกเครดิตพินิจ แนวโน้มเป็นบวก (Rating Watch Positive, “RWP”) ที่ได้ให้ไว้แก่อันดับเครดิตของ SPL ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 ด้วย
ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้คงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของ SCB ที่ระดับ ‘AA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F1+(tha)’ อันดับเครดิตของชุดหุ้นกู้ระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘AA-(tha)’ (AA ลบ (tha)) ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ เรทติ้ง สถาบันจัดอันดับเครดิตข้ามชาติ ได้คงอันดับเครดิตสกุลเงินตราต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (“IDR”)) ของบริษัทที่ ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสกุลเงินตราต่างประเทศของบริษัทระยะสั้น (Short-term Foreign Currency Issuer Default Rating (“IDR”)) ที่ ‘F2’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BBB’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ระดับ ‘2’
มูลค่าของการเสนอซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4.5 พันล้านบาท ไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสภาพคล่องและสถานะเงินกองทุนของ SCB เมื่อพิจารณาว่ามูลค่าดังกล่าวที่มีค่าเพียงประมาณ 2.3% ของสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องทั้งหมด หรือ 6% ของเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคาร ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549 เท่านั้น
การปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตของ SPL ในอนาคตจะขึ้นอยู่กับระดับความสามารถในการผสมผสานด้านองค์กรระหว่าง SCB และ SPL การควบคุมการบริหารงานผ่านทางคณะกรรมการบริษัทและคณะผู้บริหารของ SPL ระดับความเชื่อมโยงของชื่อบริษัทกับ SCB หลักฐานที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งในเชิงปฏิบัติการและในด้านการเงินจากธนาคารในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือ รวมทั้งความสามารถของ SPL ที่จะรักษาผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งเมื่อเผชิญกับสภาวะการดำเนินงานที่มีความท้ายทายมากขึ้น ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่สูง และแหล่งเงินกู้ของผู้บริโภคที่เข้าถึงง่ายขึ้น ได้ช่วยสนับสนุนการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของ SPL อย่างไรก็ตาม การเติบโตและผลกำไรในปี 2549 อาจจะได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยและการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงขึ้น SPL รายงานผลกำไรสุทธิที่ 875.3 ล้านบาท ในปี 2548 เพิ่มขึ้นจาก 848.7 ล้านบาท ในปี 2547 โดยมีสาเหตุหลักจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของสินเชื่อเช่าซื้อ การถือหุ้นหลักใน SPL น่าจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับรายได้และผลกำไรของ SCB ในระยะปานกลาง อีกทั้งช่วยเพิ่มเครือข่ายลูกค้ารายย่อยของ SCB และช่วยให้ธนาคารสามารถดูแลนโยบายสินเชื่อและการดำเนินงานของ SPL ได้มากขึ้น แม้ว่าในขณะนี้ SPL ยังคงเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ที่แยกจาก SCB อย่างชัดเจน เพื่อความมีประสิทธิภาพในเชิงธุรกิจ
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ
+662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง
+852 2263 9963

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ