การติดตามมาตรการช่วยเหลือผู้รับบำนาญเพื่อเพิ่มช่องทางกระตุ้นเศรษฐกิจ

ข่าวทั่วไป Thursday May 28, 2009 09:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--กรมบัญชีกลาง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ติดตามการแก้ไขกฎหมาย ให้ผู้รับบำนาญนำเงินบำเหน็จตกทอดที่เหลือไปใช้ได้ หลังจากรับไปแล้ว 15 เท่า ไม่เกิน 400,000 บาท นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายต่าง ๆ ออกมาเพื่อที่จะให้เกิดการใช้จ่ายให้มากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการที่ประชาชนจะได้รับโดยตรง เช่น การศึกษาฟรี 15 ปี รถเมล์ฟรี การใช้น้ำประปาไฟฟ้าฟรี การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้ไม่ถึง 15,000 บาท คนละ 2,000 บาท การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนละ 500 บาทต่อเดือน เป็นต้น และตอนนี้ก็เข้ามาติดตามเพื่อศึกษาต่อว่าจะมีมาตรการใดอีกบ้างที่จะสามารถช่วยเหลือให้เกิดการใช้จ่ายเงินของประชาชนเพิ่มมากขึ้น นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้รับรายงานจากกรมบัญชีกลาง ว่า มีกฎหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการบัญญัติกฎหมาย ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือและสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ คือ พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการนำวงเงินบำเหน็จตกทอดไป ค้ำประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงินที่กำหนด แต่วงเงินดังกล่าวจะต้องหักจากจำนวนเงินบำเหน็จดำรงชีพ ที่ได้รับไปแล้วตามกฎกระทรวง คือ 15 เท่าของบำนาญรายเดือน ไม่เกิน 400,000 บาท การเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการไว้แล้วเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 และสภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการในวาระที่ 1 แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งหากการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เรียบร้อย ก็จะทำให้ผู้รับบำนาญมีช่องทางการนำเงินไปใช้เพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพภายหลังเกษียณอายุ หรือนำไปบำรุงซ่อมแซมที่พักอาศัย จากการกู้เงินจากสถาบันการเงินที่กำหนดในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยนำวงเงินบำเหน็จตกทอดที่ยังไม่ได้รับเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว “การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้ผู้รับบำนาญสามารถมีเงินก้อนไว้ใช้จ่ายหรือลงทุนประกอบอาชีพภายหลังออกจากงาน ได้รับสิทธิจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราต่ำ เมื่อคืนเงินกู้ครบก็ยังสามารถกู้ใหม่ได้อีก ถือว่า เป็นการช่วยเหลือประเทศชาติด้วยจากการหมุนเวียนการใช้จ่ายเงินในระบบเศรษฐกิจ และที่สำคัญสุดท้ายแล้วผู้รับบำนาญก็ยังมีเงินบำเหน็จตกทอดคงเหลือให้กับทายาทต่อไปด้วย ดีกว่าการจ่ายให้ทั้งหมดในครั้งเดียว โดยเรื่องนี้จะให้กรมบัญชีกลางคอยติดตามและรายงานให้ทราบความคืบหน้าเป็นระยะ ๆ ต่อไป” นายพฤฒิชัย กล่าว กรมบัญชีกลาง โทร. (02) 273-9101

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ