กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๙ พิษณุโลกดำเนินโครงการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ด้านการจัดการและป้องกันอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม)ระดับกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ ในวันเสาร์ที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ณ อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ ตำบลช่องแคบ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เพื่อเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินถล่มให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งหน่วยปฏิบัติการหลักและหน่วยร่วมปฏิบัติการสามารถประสานช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดการอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม เพื่อให้หน่วยเผชิญเหตุและประชาชนในพื้นที่ได้เตรียมความพร้อมในการรับมือภัยธรรมชาติในช่วงฤดูฝนนี้
ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๙ พิษณุโลก จึงร่วมกับจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ ตาก พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ ดำเนินการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (แผนปฏิบัติการจัดการและป้องกันอุทกภัย วาตภัยดินโคลนถล่ม) ระดับกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ ในวันเสาร์ที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ณ อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ ตำบลช่องแคบ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่มให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งหน่วยปฏิบัติการหลักและหน่วยปฏิบัติการร่วมสามารถประสาน
การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงซักซ้อมการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยปฏิบัติทั้งในระยะก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัยได้อย่างทันท่วงที เมื่อเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม สำหรับรูปแบบการฝึกซ้อมแผนฯ แบ่งเป็น ภาคเช้า ได้แก่ การบรรยายเรื่องการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ความรู้เกี่ยวกับอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม และการฝึกซ้อมในที่บังคับการ (Commnd Post Exercire : CPX) ส่วนภาคบ่ายจะดำเนินการฝึกซ้อมปฏิบัติการจริง(Field Training Exercise : FTX) โดยจำลองสถานการณ์การเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบ
อย่างรุนแรงและกว้างขวาง จึงจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากจังหวัดใกล้เคียง พร้อมดำเนินการตามขั้นตอนปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์จริงเริ่มตั้งแต่ การรับแจ้งเหตุ การแจ้งเตือน การเฝ้าระวัง การสื่อสาร การประสานการปฏิบัติ การจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอำนวยการ สั่งการแก้ไขปัญหา การค้นหา การเข้าเผชิญเหตุและอพยพช่วยเหลือผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่เกิดเหตุ ทั้งนี้ ภายหลังการฝึกซ้อมแผนฯจะมีการประเมินผล เพื่อตรวจสอบข้อบกพร่องและนำไปแก้ไขปรับปรุงการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินถล่ม ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในระบบมาตรฐานความปลอดภัยของภาครัฐให้กับประชาชนในพื้นที่ต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 022432200 pr dpm