รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนเมษายน 2552

ข่าวทั่วไป Thursday May 28, 2009 14:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนเมษายน 2552 ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณปรับตัวที่ดีขึ้นผ่านการหดตัวที่ลดลงในการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากอุตสาหกรรมอาหารและเคมีภัณฑ์ที่สามารถส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีนและอินเดีย แต่การผลิตในภาคการเกษตรและบริการหดตัวมากขึ้น ในขณะที่การใช้จ่ายทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศยังคงอ่อนแอ สะท้อนได้จากเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนรวมทั้งการส่งออกที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ดังนั้น ภาครัฐยังจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มการใช้จ่ายภายในประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่อาจฟื้นตัวช้าและการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ยังอ่อนแอ ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจจากภายนอกประเทศพบว่ายังมีความแข็งแกร่งจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นค่อนข้างมาก ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศมีความเสี่ยงลดลงจากอัตราการว่างงานที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้ 1. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านอุปทานประจำเดือนเมษายน 2552 พบว่า ภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีสัญญาณของการหดตัวที่ชะลอลง ขณะที่ภาคเกษตรและภาคบริการจากการท่องเที่ยวหดตัวเพิ่มขึ้น โดยเครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมนั้น แม้ว่าดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2552 หดตัวลงร้อยละ -12.8 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ก็เป็นการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -17.7 ต่อปี นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าแล้ว พบว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (หลังปรับปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ขยายตัวที่ร้อยละ 5.7 ต่อเดือน ขยายตัวต่อเนื่องจากร้อยละ 2.4 ต่อเดือน และร้อยละ 2.1 ต่อเดือนในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2552 ตามลำดับ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอุตสาหกรรมอาหารและเคมีภัณฑ์ที่ขยายตัวดีขึ้นจากการส่งออกไปยังตลาดภูมิภาคโดยเฉพาะจีนและอินเดียที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การผลิตในภาคบริการจากการท่องเที่ยวยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนเมษายน 2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.1 ล้านคน หดตัวร้อยละ -11.9 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศในช่วงเดือนเมษายนและวิกฤติเศรษฐกิจโลก ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนเมษายน 2552 หดตัวที่ร้อยละ -1.5 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อปี ตามผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง และอ้อย จากปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่สูงทำให้เกษตรกรเร่งการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในช่วงปีก่อนหน้า ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรในเดือนเมษายน 2552 หดตัวร้อยละ -17.2 ต่อปี ตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ทั้งนี้ ราคาและผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงทำให้รายได้เกษตรกรในเดือนเมษายน 2552 หดตัวที่ร้อยละ -18.7 ต่อปี 2. มูลค่าการส่งออกที่หดตัวน้อยกว่ามูลค่าการนำเข้าส่งผลให้ดุลการค้ายังคงเกินดุลต่อเนื่องในเดือนเมษายน 2552 ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนเมษายน 2552 อยู่ที่ 10.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -26.1 ต่อปี โดยมาจากปริมาณการส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -23.7 ต่อปี ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -3.1 ต่อปี อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวในหลายหมวดสินค้า โดยหากพิจารณามูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (หลังปรับปัจจัยทางฤดูกาล) พบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ต่อเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวที่ดีขึ้นของการส่งออกไปยังตลาดภูมิภาคและตลาดเกิดใหม่ อันได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และอินเดีย เป็นหลัก สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนเมษายน 2552 หดตัวที่ร้อยละ -36.3 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวของปริมาณสินค้านำเข้าที่ร้อยละ -31.4 ต่อปี และราคาสินค้านำเข้าที่หดตัวร้อยละ -7.2 ต่อปี อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าแล้ว พบว่ามูลค่าการนำเข้าเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (หลังปรับปัจจัยทางฤดูกาล) ขยายตัวที่ร้อยละ 7.6 ต่อเดือน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อเดือน โดยเป็นการปรับตัวที่ดีขึ้นของมูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบ ซึ่งอาจสะท้อนคำสั่งซื้อที่เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าที่ต่ำกว่ามูลค่าส่งออกทำให้ดุลการค้าในเดือนเมษายน 2552 เกินดุลต่อเนื่องที่ 0.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 3. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนเมษายน 2552 ยังคงหดตัวในระดับสูง สะท้อนได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนเมษายน 2552 หดตัวที่ร้อยละ -17.7 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -17.5 ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวร้อยละ -21.9 ต่อปี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2552 ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 88 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 65.1 จุด จากปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ในขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนในส่วนภูมิภาค เช่น ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวที่ร้อยละ -17.7 ต่อปี เนื่องจากรายได้เกษตรกรที่หดตัวตามราคาและผลผลิตสินค้าเกษตรที่หดตัวส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนในส่วนภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่ร้อยละ 4.2 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคในการเลือกซื้อรถยนต์ขนาดเล็กที่มีราคาต่ำและประหยัดน้ำมันมากขึ้น ประกอบกับปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากภาวะราคาน้ำมันสูงทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อรถยนต์ใหม่ในปีก่อนหน้า 4. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนเมษายน 2552 หดตัวลงต่อเนื่องเช่นกัน โดยเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนหดตัวที่ร้อยละ -23.3 ต่อปีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวร้อยละ -39.7 ต่อปี หดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ในขณะที่เครื่องชี้การลงทุนในหมวดการก่อสร้างจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -1.7 ต่อปี สอดคล้องกับยอดขายปูนซีเมนต์ในเดือนมีนาคม 2552 ที่หดตัวร้อยละ -11.7 ต่อปี บ่งชี้ถึงการลงทุนในหมวดก่อสร้างที่หดตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่หดตัว 5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนเมษายน 2552 พบว่า รายจ่ายรัฐบาลในเดือนเมษายน 2552 รัฐบาลเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 141.7 พันล้านบาท หดตัวจากในช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ -8.4 ต่อปี เนื่องจากมีช่วงวันหยุดราชการมากกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน และปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการโอนงบลงทุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ รายจ่ายรัฐบาลสามารถแยกออกเป็นรายจ่ายประจำจำนวน 117.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.7 ต่อปี และรายจ่ายลงทุนที่สามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 20.0 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -55.7 ต่อปี ในขณะที่รายได้สุทธิของรัฐบาลในเดือนเมษายน 2552 เท่ากับ 81.7 พันล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -34.8 ต่อปี เนื่องจากผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและการนำส่งกำไรของรัฐวิสาหกิจที่ลดลงมากเป็นสำคัญ อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี แม้ว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่ลดลงนี้ถือเป็นกลไกนโยบายการคลังในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยอัตโนมัติ (Automatic Stabilizer) ทำให้ภาคเอกชนมีภาระภาษีที่ลดลงในช่วงภาวะเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว แต่รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะงบประมาณลงทุนมากขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวโดยเร็ว 6. เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง โดยทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2552 อยู่ในระดับสูงที่ 116.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกินกว่า 5.0 เท่า ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศเริ่มมีความเสี่ยงลดลงจากอัตราการว่างงานที่เริ่มทรงตัว โดยอัตราการว่างงานในเดือนมีนาคม 2552 อยู่ในระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.9 ของกำลังแรงงานรวม และปรับตัวลดลงจากเดือนมกราคม 2552ที่อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ของกำลังแรงงานรวม นอกจากนั้น แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2552 ยังหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -0.9 ต่อปี แต่หากพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้า จะพบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนเมษายน 2552 ขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่อเดือน โดยมีปัจจัยจากดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่าความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดอาจมีแนวโน้มลดลง สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 อยู่ที่ร้อยละ 41 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 40 จากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2552 แต่ยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ