กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--สสส.
“ทำนาปรังเหลือแต่ซังกับหนี้ ทำนาปีเหลือแต่หนี้กับซัง” คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของเกษตรกรไทยในปัจจุบันที่เกิดจากภาระหนี้สินอันเนื่องมาจากต้นทุนในการทำการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น ซ้ำร้ายการใช้สารเคมีต่างๆ ยังส่งผลเสียโดยตรงต่อสุขภาพของคนในชุมชน
ตำบลเขาดิน อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งประสบปัญหาดังกล่าว เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาและปลูกอ้อยเป็นหลัก จนกระทั่งในปี 2549 ได้มี โครงการชุมชนเป็นสุข เข้ามาช่วยแก้ปัญหาโดยร่วมค้นหาทุกข์และสร้างสุขให้กับชุมชน ซึ่งพบว่าปัญหาส่วนใหญ่คือชาวบ้านมีต้นทุนการทำการเกษตรและรายจ่ายในครอบครัวสูง ถัดมาคือเรื่องปัญหาด้านสุขภาพและสภาพแวดล้อมที่เสียจากการใช้สารเคมี
เมื่อชาวบ้านได้ค้นพบและเข้าใจปัญหาก็นำมาสู่แนวทางแก้ไข เมื่อพบว่ามีต้นทุนการผลิตสูงชาวบ้านก็เริ่มเรียนรู้การทำเกษตรปลอดสาร หันมาใช้ปุ๋ยหมัก ฮอร์โมน สารไล่แมลงจากธรรมชาติ เริ่มทำบัญชีครัวเรือนเพื่อค้นหาสาเหตุของรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นของแต่ละบ้าน ส่วนหนึ่งก็หันมาปลูกพืชผักสวนครัว ทำสบู่ น้ำยาล้างจาน เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน รวมไปถึงการตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินจากการกู้ยืมเงินนอกระบบมาลงทุนทำการเกษตรฯลฯ
นายทองใบ สิงสีทา ทีมบริหารโครงการพัฒนาตำบลสุขภาวะภาคกลางเปิดเผยว่า
โครงการนี้เป็นกิจกรรมที่สืบเนื่องมาจากโครงการชุมชนเป็นสุข ซึ่งพื้นที่ตำบลเขาดินมีหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 3 หมู่บ้านคือ หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 9 จากการทำงานพบว่าแต่ละหมู่บ้านจะมีปัญหาที่คล้ายกัน แต่พอเมื่อเขาได้เรียนรู้และเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริงก็ได้เกิดมีแนวทางการแก้ไขที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละชุมชน
“ที่ผ่านมาในพื้นที่ของตำบลเขาดินเราทำงานได้เพียง 3 ชุมชน ชาวบ้านจึงมาคิดร่วมกันว่าทำอย่างไรที่จะขยายผลความสำเร็จจาก 3 ชุมชนที่เข้มแข็งแล้วนั้นออกไปสู่ระดับตำบลซึ่งมีถึง 12 หมู่บ้าน เพื่อให้สมาชิกทั้งตำบลเป็นเป็นชุมชนที่เป็นสุขทั้งหมด โดยมีแกนนำของแต่ละชุมชนมาร่วมกันคิดว่าถ้าจะทำให้เกิดสุขภาวะขึ้นในตำบลจะต้องทำอย่างไรบ้าง และได้ข้อสรุป 4 ข้อว่า จะต้องลดรายจ่ายในครอบครัว ลดต้นทุนการผลิต นำกองทุนของแต่ละหมู่บ้านมาผสานความร่วมมือในระดับตำบล และพัฒนาให้ตำบลเขาดินเป็นตำบลเกษตรชีวภาพ” นายทองใบกล่าวถึงเป้าหมายของโครงการในพื้นที่ตำบลเขาดิน
นางนกแก้ว จิวจรัสรงค์ อายุ 62 ปี แกนนำเกษตรกรจากบ้านหมู่ 9 ซึ่งมีความเข้มแข็งในเรื่องการรวมกลุ่มทำการเกษตรปลอดสารเพื่อลดต้นทุนการผลิตเล่าว่าในอดีตปลูกอ้อย 10 ไร่จะมีค่าใช้จ่ายทั้งค่ายาค่าปุ๋ยเคมีต่างๆ ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นบาท เมื่อถึงเวลาตัดอ้อยหักค่าใช้จ่ายและค่าแรงแล้วก็จะมีรายได้ประมาณ 5 หมื่นบาท แต่พอหันมาทำการเกษตรแบบปลอดสาร เมื่อหักค่าใช้จ่ายไปแล้วจะมีเงินเหลือถึง 6 หมื่นบาท
“ปุ๋ยเคมีเราก็ใช้น้อยลงเหลือ 1 ลูกต่อ 1 ไร่ โดยใช้ปุ๋ยหมักที่ทำขึ้นเองแทน ยาฆ่าแมลงก็ ใช้น้ำส้มควันไม้แทน พอหักค่าใช้จ่ายก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม 1 หมื่นบาท เงินจำนวนนี้ถึงจะดูว่าไม่มาก แต่แลกมาด้วยเราไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับสารเคมี ได้ในเรื่องของสุขภาพ ได้ดินที่ดี ได้สิ่งแวดล้อมที่ดีคืนมา เพราะเมื่อสิ่งแวดล้อมดี สุขภาพก็จะดี จิตใจเราก็จะดี การเจ็บป่วยต่างๆ ก็จะน้อยลง” ป้านกแก้วกล่าวถึงข้อดีของการทำเกษตรแบบปลอดสารเคมี