กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--สสส.
ปัจจุบันความต้องการบริโภคเห็ดฟางกำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ด้วยมีคุณค่าทางอาหารสูง โดยเฉพาะโปรตีน เกลือแร่ วิตามิน มีไขมันน้อย และมีรสชาติที่โดดเด่นแตกต่างจากอาหารประเภทพืชผักชนิดอื่นๆ
การผลิตเห็ดฟางของเกษตรกรจะนิยมเพาะในโรงเรือน เนื่องจากสามารถผลิตเห็ดได้ตลอดทั้งปี และสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวกับการผลิตได้ ซึ่งการเพาะเห็ดในโรงเรือน เกษตรกรผู้เพาะเห็ดทุกรายจะต้องมีเตาต้มน้ำเพื่อผลิตไอน้ำ ไว้สำหรับอบฆ่าเชื้อเชื้อจุลินทรีย์ภายในโรงเรือนเพาะเห็ด การผลิตไอน้ำจึงนับว่ามีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการเพาะเห็ด เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิต
ในอดีตการผลิตไอน้ำของเกษตรกรส่วนใหญ่จะนิยมใช้วัสดุที่หาง่ายและมีราคาถูกเป็นเชื้อเพลิงเช่น ไม้ฟืน ซังข้าวโพด น้ำมันเตา น้ำมันเครื่องเก่า และยางรถยนต์เป็นต้น ซึ่งยางรถยนต์เก่าถือว่ามีต้นทุนต่ำที่สุดแต่สร้างมลพิษได้มากที่สุด ทั้งเขม่าที่เกาะตามหลังคาและเสื้อผ้า ส่งกลิ่นเหม็นต่อชุมชนโดยรอบ และมีสารก่อมะเร็งซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
ภาควิชาเทคนิคเกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงจัดทำโครงการ “การพัฒนาเตาผลิตไอน้ำสำหรับโรงเรือนเพาะเห็ด” โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อพัฒนาและปรับปรุงเตาผลิตไอน้ำให้มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่ามากขึ้น เพื่อทดแทนการใช้ยางรถยนต์ที่ก่อมลพิษต่อชุมชน และลดมลภาวะที่เป็นพิษ
นายลือพงษ์ ลือนาม อาจารย์ประจำภาควิชาเทคนิคเกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หัวหน้าโครงการการพัฒนาเตาผลิตไอน้ำสำหรับโรงเรือนเพาะเห็ด กล่าวว่า เกษตรกรผู้เพาะเห็ดฟางส่วนใหญ่มักจะนิยมจะใช้ถังขนาด 200 ลิตร ทำเป็นหม้อต้มเพื่อนำไอน้ำเข้าไปฆ่าเชื้อต่างๆ ในโรงเรือน โดยนิยมใช้ยางรถยนต์เก่าเป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำเนื่องจากมีราคาถูก ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมทางโครงการฯ จึงได้พัฒนาเตาอบไอน้ำภายใต้แนวคิดที่ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดมลพิษน้อยที่สุดและเกิดประโยชน์กับเกษตรกรมากที่สุด
“สำหรับเตาผลิตไอน้ำที่ได้รับการพัฒนาแล้วนั้นมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการสร้างประมาณ 6,000-7,000 บาทโดย จะสร้างจากอิฐมอญก่อเป็นผนังเตาและใช้ถังขนาด 200 ลิตร เป็นหม้อต้มน้ำ ลักษณะของการเผาไหม้จะคล้ายคลึงกับเตาที่ใช้เผาถ่าน ซึ่งคุณสมบัติพิเศษนอกจากจะสามารถผลิตไอน้ำไว้ใช้ในโรงเรือนได้อย่างเพียงพอแล้ว ยังเกิดผลพลอยได้คือถ่านและน้ำส้มควันไม้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรหรือจำหน่ายเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง” อาจารย์ลือพงษ์กล่าว
เตาผลิตไอน้ำที่พัฒนาขึ้นนั้นจะใช้เชื้อเพลิงจากวัสดุในธรรมชาติเช่นไม้ฟืนจากต้นไม้ชนิดต่างๆ ในชุมชน โดยไม้ฟืน 100 กิโลกรัม เมื่อผ่านกระบวนการเผาในเตาจนแล้วเสร็จก็จะได้ “ถ่านไม้” ประมาณ 25 กิโลกรัม หรือคิดเป็นประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนัก ซึ่งเกษตรสามารถนำไปขายได้ในราคากิโลกรัมละ 7 บาท ในขณะที่รับซื้อไม้ฟืนมาในราคาเพียงตันละ 500-600 บาทเท่านั้น หักค่าใช้จ่ายแล้วเท่ากับว่ามีรายได้เสริมจากการเผาถ่านประมาณ 1,150-1,250 บาท นอกจากนี้ยังมีผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งคือ “น้ำส้มควันไม้” ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นฮอร์โมนหรือสารไล่แมลงในการทำการเกษตรได้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันจำหน่ายกันในราคาลิตรละ 70 บาท
กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเห็ดบ้านดงข่า ตำบลเกาะโพธิ์ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เป็นกลุ่มเกษตรกรเคยประสบปัญหามลพิษจากควัน เขม่า และกลิ่นที่เกิดขึ้นจากเตาอบไอน้ำที่ใช้ยางรถยนต์เก่าเป็นเชื้อเพลง ซึ่งนอกจากจะรบกวนชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนแล้วยังส่งผลต่อสุขภาพของตัวเอง จึงเริ่มเห็นความสำคัญและหันมาร่วมมือกับโครงการฯ ในการร่วมทำการวิจัยพัฒนาเตาผลิตไอน้ำด้วยการนำภูมิปัญญาพื้นบ้านมาประยุกต์ใช้ โดยมุ่งหวังให้เกิดความยั่งยืนของอาชีพการเพาะเห็ดที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม