กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นักกิจกรรมกรีนพีซบนเรือแคนูกางป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “ร่วมปกป้องเจ้าพระยา” บริเวณหน้าวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารเพื่อส่งข้อความรณรงค์หลังจากแถลงสรุปกิจกรรมพายเรือสร้างรอยยิ้มให้เจ้าพระยาในโครงการ “คืนรอยยิ้มสู่สายน้ำ เจ้าพระยาปลอดมลพิษ” ทั้งนี้นักกิจกรรมของกรีนพีซได้พายเรือเป็นระยะทาง 350 กิโลเมตร จากจังหวัดนครสวรรค์ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม มายังกรุงเทพมหานครโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในการแก้ใขปัญหามลพิษในแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมเรียกร้องให้ยุติการปล่อยน้ำทิ้งปนเปื้อนสารพิษจากภาคอุตสาหกรรมและมลพิษจากแหล่งต่างๆ ลงในแม่น้ำ
“แม่น้ำเจ้าพระยาได้กลายเป็นแหล่งรองรับของเสียจากกิจกรรมมนุษย์ น้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดส่วนใหญ่จะมีความสกปรกในรูปบีโอดีหรือสารอินทรีย์ แต่ที่น่ากังวลมากกว่าคือน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทที่ปนเปื้อนด้วยสารเคมีอันตราย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศในระดับที่สูงกว่ามาก” นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว “แม่น้ำเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ หากขาดดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษอย่างคลอบคลุมและเร่งด่วนแล้ว ประชาชนชาวไทยจะได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
กิจกรรมพายเรือสร้างรอยยิ้มให้เจ้าพระยามีวัตถุประสงค์เพื่อจุดประกายให้ทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล โรงงานอุตสาหกรรม ผู้ก่อมลพิษ และชุมชนที่ได้รับผลกระทบรวมพลังปกป้องและร่วมหาทางแก้ไขปัญหามลพิษในแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นแม่น้ำที่สำคัญของประเทศ
จากการสังเกตและเก็บรวบรวมข้อมูลตลอดการรณรงค์ของกรีนพีซ พบในทิศทางเดียวกับข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ นั่นคือ คุณภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาเสื่อมโทรมลงตามลำดับจากช่วงต้นแม่น้ำจนถึงปลายแม่น้ำ โดยค่าดัชนีคุณภาพน้ำเบื้องต้น เช่น ค่าออกซิเจนละลาย (DO) พบว่าในบริเวณต้นแม่น้ำจะมีค่าไม่ต่ำกว่า 6 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่จะเริ่มลดลงเรื่อยๆ เมื่อผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยาลงไป จะเหลือต่ำกว่า 4 ถึง 2 มิลลิกรัมต่อลิตรในบริเวณตอนล่างของแม่น้ำ สีและความขุ่นของน้ำก็เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ยังพบเห็นขยะ จุดปล่อยน้ำทิ้ง และปลาตายมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเส้นทางการรณรงค์
ข้อมูลจากสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมในปี 2550 ระบุว่าโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีจำนวนทั้งสิ้น 1,720 โรงงาน (ไม่รวมโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวน 5 โรงงาน) มีปริมาณน้ำทิ้งรวม 346,425.8 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานีและอยุธยา ตามลำดับ โดยกรุงเทพมหานครมีโรงงานอุตสาหกรรม 1,122 โรงงานที่ปล่อยน้ำเสีย มีปริมาณน้ำทิ้งรวม 76,082.1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทั้งนี้โรงงานบางประเภทหลายแห่งในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงมีการใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการผลิต
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กรีนพีซเปิดเผยรายงาน “พื้นที่และแหล่งน้ำที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำในประเทศไทย” ซึ่งระบุว่าประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำมากกว่าร้อยละ 92.68 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยเป็นพื้นที่เสี่ยงในระดับสูงร้อยละ 6.87 ของพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด ซึ่งหากขาดการลงมือป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำอย่างจริงจัง อาจส่งผลกระทบต่อประชากรไทยมากถึง 4,440,049 คน (1)
“ปัญหามลพิษในแม่น้ำเจ้าพระยายังอยู่ในระดับที่น่าห่วง ซึ่งบ่งชี้ได้ว่ามาตรการควบคุมมลพิษในปัจจุบันยังไม่สามารถที่จะปกป้องแหล่งน้ำของเราได้ และเพื่อเป็นการปกป้องสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน และแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นสมบัติอันมีค่าของประเทศ กรีนพีซจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งปรับปรุงมาตรการและข้อกฎหมายและบังคับใช้อย่างจริงจัง และควรเน้นให้ความสำคัญในประเด็นด้านสารเคมีอันตรายหรือสารพิษในน้ำทิ้งมากกว่านี้ ซึ่งเป็นมลพิษที่มองไม่เห็นและเป็นอันตรายมาก” นายพลาย ภิรมย์กล่าวเสริม
ข้อเรียกร้องของกรีนพีซต่อการรณรงค์เพื่อปกป้องแหล่งน้ำ
1. ตรวจหา ลงโทษ และปิดโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำทิ้งปนเปื้อนสารเคมีอันตรายลงสู่แหล่งน้ำ
2. ดำเนินโครงการฟื้นฟูแม่น้ำเจ้าพระยาโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
3. ปิดหลุมฝังกลบขยะชุมชนบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
4. สร้างแรงจูงใจทางการเงินสำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด (Clean Production) ในภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรรมอินทรีย์ปลอดสารพิษ
หมายเหตุ
(1) สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากรายงาน “พื้นที่และแหล่งน้ำในประเทศไทยที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษ” ได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/water-pollution-risk-areas-thailand
รายงานฉบับย่อสามารถศึกษาได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/water-pollution-risk-areas-thailand-briefing
(2) ดูรายละเอียดโครงการรณรงค์ และชมภาพกิจกรรมรณรงค์พายเรือสร้างรอยยิ้มแก่เจ้าพระยาตลอดการเดินทางได้ที่ http://waterpatrol.greenpeace.or.th