กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--สสส.
จังหวัดสระแก้วเป็นผืนป่าต้นน้ำของแม่น้ำบางปะกง ได้ประสบปัญหาถูกบุกรุกทำลายเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว จนทำให้ดินเสื่อมโทรม แหล่งน้ำแห้งแล้ง สิ่งแวดล้อมเป็นพิษจากการใช้สารเคมีในปริมาณที่สูง ส่งผลกระทบกับสุขภาวะของประชาชนในจังหวัดสระแก้ว และประชากรที่เกี่ยวข้องกับลุ่มน้ำในภูมิภาคกว่า 40 ล้านคน
เมื่อปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดการรวมตัวของคณะทำงานที่เรียกว่า “เบญจภาคี” 5 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคราชการ คือจังหวัดสระแก้ว และหน่วยงานด้านความมั่นคง ภาควิชาการ คือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสระแก้ว, ภาคประชาสังคม คือ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิเศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์ศึกษากสิกรรมธรรมชาติสระแก้ว (บ้านดิน) มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), ภาคธุรกิจเอกชน คือบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) และ ภาคประชาชน ได้แก่ ประชาชนจาก 9 อำเภอ ในจังหวัดสระแก้ว ที่เข้าอบรมโครงการศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน หลักสูตร “หลักกสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง”
โดยมีเป้าหมายในการสร้าง “สัมมาชีพ” ให้กับชาวบ้าน และการพลิกฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ด้วย “ความพอเพียง” ซึ่งแนวทางในการสร้างสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้นในชุมชนนั้นๆ จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและปลูกฝังธรรมะขั้นพื้นฐานให้กับองค์กรในชุมชนเสียก่อน
ปัจจุบัน วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จังหวัดสระแก้ว หรือ “โพธิวิชชาลัย” นับเป็นองค์กรสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสุขภาวะชุมชนให้บรรลุจุดมุ่งหมาย โดยมีผลงานทางวิชาการรองรับหลักสูตรการเรียนรู้ในชุมชน ซึ่งได้ดำเนินการโครงการวิจัยกระบวนการขับเคลื่อนชุมชน และสร้าง“ฐานเตรียมความพร้อมห้องเรียนโพธิวิชชาลัยและแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต” จำนวน 15 ฐานหรือ 15 ห้องเรียน ใน 9 อำเภอของจังหวัดสระแก้วได้แก่ อำเภอเมือง, เขาฉกรรจ์, คลองหาด, อรัญประเทศ, วังสมบูรณ์, ตาพระยา, โคกสูง, วังน้ำเย็น และอำเภอวัฒนานคร เพื่อเป็นห้องเรียนต้นแบบในการดำเนินชีวิตประกอบสัมมาชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแก่นิสิตนักศึกษาของวิทยาลัยโพธิวิชชาลัยและให้กับประชาชนที่สนใจทั้งในและนอกพื้นที่
นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน สสส. เปิดเผยว่าโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสุขภาวะชุมชนพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ส่งผลดีสูงสุดต่อสุขภาพของประชาชน จากการได้ กินดี อยู่ดี และมีสุขอย่างพอพียง ซึ่งประชาชนจะสามารถเรียนรู้การดำรงชีวิตอยู่แบบวิถีเศรษฐกิจพอเพียงผ่านฐานเรียนรู้ของห้องเรียนโพธิวิชชาลัย ซึ่งแต่ละแห่งจะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ของท้องถิ่นสู่ประชาชนทั่วไป
“สิ่งสำคัญคือการผลักดันให้เกิดเป็นหลักสูตรการศึกษาสำหรับเยาวชนในพื้นที่ นับเป็นกระบวนการในการพัฒนาศักยภาพของคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสามารถพัฒนาสู่การเป็นผู้นำได้ในระยะเวลาอันสั้น และบุคคลคุณภาพเหล่านี้จะเป็นเครือข่ายที่สำคัญในระยะยาว ในการขับเคลื่อนวิถีเศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางในการสร้างสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นโครงการนำร่องที่มีรูปแบบการจัดการความสัมพันธ์อย่างมีส่วนร่วมของสถานศึกษาในการร่วมพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งได้อย่างชัดเจน” นางสาวดวงพรกล่าว
วันนี้ “ห้องเรียนชีวิต” ของโพธิวิชาลัยกำลังเปิดสอนในระดับปริญญาตรีรุ่นแรก จำนวน 49 คน โดยเปิดสอบจากความรู้ทางวิชาการ และการทดสอบภาคปฏิบัติ เพื่อทดสอบบุคลิกภาพและทัศนคติของเด็ก
ผศ.อำนาจ เย็นสบาย รองอธิการบดีฝ่ายเครือข่ายการเรียนรู้ มศว. เผยว่ากว่าจะเป็นโพธิวิชาลัย จนได้รับรองหลักสูตรและเปิดสอนอย่างเป็นทางการแทบจะปางตาย เพราะต้องต่อสู้กับหลายฝ่ายที่เห็นต่างกัน และเริ่มต้นด้วยการไม่มีงบประมาณ แต่มาจากการบริจาค จนสามารถมีทุนการศึกษาให้กับเด็กได้ถึง 49 ทุน
วิชาที่เปิดสอนจะสอนทั้งวิชาการ และวิชาชีพ ซึ่งเนื้อหาของวิชาการจะประกอบด้วย วิชาบังคับทั่วไป เช่น ภาษาอังกฤษ ความเข้าใจในหลักปรัชญา การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิศาสตร์ ส่วนวิชาชีพจะเรียนรู้ผ่านห้องเรียนทั้ง 15 แห่งซึ่งเป็นฐานที่มีความสำเร็จ มีจุดเด่น มีองค์ความรู้ที่แตกต่างกันไปในแต่ละบริบทของพื้นที่ และมีมาตรฐานที่จะเป็นห้องเรียนของวิทยาลัยได้ ซึ่งฐานเหล่านี้สามารถที่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่นิสิตที่จะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกเดือนมิถุนายนนี้ ในโครงการบัณฑิตคืนถิ่น รวมถึงขยายผลไปถึงชุมชนและชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง
“กระบวนการนี้ สสส.ได้มีส่วนสำคัญในการสร้างฐานการเรียนรู้ให้กับนิสิตนักศึกษา และฐานเหล่านี้ก็ได้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน โดยเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่ประกอบสัมมาชีพโดยไม่เบียดเบียนธรรมชาติ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม” อาจารย์อำนาจกล่าว
ด้านตัวแทนภาคประชาสังคม อ.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เปิดเผยว่า โพธิวิชชาลัยจะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่จะเปลี่ยนระบบการศึกษาทั้งประเทศ โดยใช้ฐานการเรียนรู้ 15 ฐาน เป็นที่ๆ ทำให้ชาวบ้านเห็นว่าถ้าทำการเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแล้วจะไม่จน แต่ถ้าทำแบบเดิมๆ ก็มีแต่จะเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น
“ในอดีตไม่เคยมีมหาวิทยาลัยไหนนำเอาภูมิปัญญาของชาวบ้านและหลักปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาใช้ในการเรียนการสอน แต่โพธิวิชชาลัยนำสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาร่วมกันแล้วสอนเป็นวิชา โพธิวิชชาลัยจึงเป็นที่ๆ ทำให้ชาวบ้านได้เข้ามาเรียนรู้และพัฒนาตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการจากเดิมทำนาใช้ปุ๋ย ยา และสารเคมีได้ข้าวแค่ 70 ถังต่อไร่ แต่พอเปลี่ยนมาทำแบบกสิกรรมธรรมชาติ ทำปุ๋ยใช้เอง ต้นทุนก็ไม่มี แถมยังได้ข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 95 ถังต่อไร่ ซึ่งนี่คือข้อพิสูจน์ว่าการทำเกษตรแบบนี้จะรวยและยั่งยืน” ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติระบุ
“การเรียนรู้ของโพธิวิชาลัยจะแตกต่างไปจากความรู้ทีได้รับจากการเรียนการสอนปกติ แต่เป็นการสอนในสถานที่จริง ไปพัฒนาชีวิตคนจริงๆ แล้วไม่ได้สอนเฉพาะนักเรียนนักศึกษาแต่ยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้สอน ผู้เรียน และชาวบ้านในชุมชน ดังนั้นโพธิวิชชาลัยจึงเป็นสถาบันการศึกษาที่ทำงานด้านการพัฒนาชุมชนไปพร้อมกับการให้การศึกษา” นายแพทย์สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพกล่าวสรุป.