กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--สสส.
กระแสวัตถุนิยมที่เชื่อว่าความมั่นคงของชีวิตคือ “เงิน” และ “การทำงานในเมืองหลวง” ได้ส่งผลให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดเข้ามาเรียนต่อและหางานทำพียงเพราะเชื่อว่าการมีเงินจะช่วยให้เกิดความสุขและความมั่นคงให้กับชีวิตจังหวัดสระแก้วเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหาเยาวชนละทิ้งบ้านเกิด เพื่อไปศึกษาหาความรู้ในเมืองใหญ่ โดยคาดหวังถึงการงานที่สะดวกสบายและรายได้ก้อนใหญ่ที่จะได้รับในอนาคตทำให้อาชีพ ภูมิปัญญาและองค์ความรู้ดั้งเดิมในท้องถิ่นถูกละทิ้ง
จากปัญหาดังกล่าวมีส่วนผลักดันให้ ฐานเตรียมความพร้อมห้องเรียนโพธิวิชชาลัยร่มเกล้าประชารักษ์ อำเภอวัฒนานคร ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ โพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จังหวัดสระแก้ว หรือ “โพธิวิชชาลัย” ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญในการขับเคลื่อน “โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสุขภาวะชุมชนพื้นที่จังหวัดสระแก้ว” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้ดำเนินการรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน แล้วจัดทำเป็นฐานเรียนรู้ภาคปฏิบัติให้แก่นักเรียน โดยมีจุดประสงค์เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนเข้าใจถึงการสร้างสัมมาชีพในถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ผศ.อำนาจ เย็นสบาย รองอธิการบดี ฝ่ายเครือข่ายการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ และที่ปรึกษาโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสุขภาวะชุมชนพื้นที่จังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า ห้องเรียนโพธิวิชชาลัยร่มเกล้าประชารักษ์ มีการรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วในชุมชน เช่น การปลูกผัก ไม้ผล เลี้ยงสัตว์ การแปรรูปสมุนไพร ฯลฯ นำมาสร้างเป็นฐานเรียนรู้ภาคปฏิบัติที่สามารถฝึกทดลองทำได้จริง โดยมุ่งหวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับทุกคนในชุมชน และให้ผู้เรียนสามารถนำไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม
“ลักษณะพิเศษของห้องเรียนโพธิวิชชาลัยร่มเกล้าประชารักษ์คือ นอกจากจะเป็นฐานเรียนรู้ภาคปฏิบัติของชุมชนแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นห้องเรียนธรรมชาติให้แก่นักเรียนของโรงเรียนร่มเกล้าประชารักษ์ได้อีกด้วย ซึ่งจะทำให้เด็กได้เรียนรู้และเข้าใจถึงวิธีการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตโดยไม่ต้องเบียนเบียดเพื่อนมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เป็นการปลูกฝังและพัฒนาให้เด็กมีคุณธรรม จริยธรรม รู้จักแบ่งปันและเอื้ออาทรต่อกัน ซึ่งถือเป็นรูปแบบของการปฏิรูปการศึกษาที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพของเยาวชนได้ทั้งกายและใจ” ผศ.อำนาจกล่าว
ทางด้าน อาจารย์สุภาพ แก้วรัตนานันท์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนร่มเกล้าประชารักษ์ ในฐานะประธานฐานเรียนรู้ห้องเรียนโพธิวิชชาลัยร่มเกล้าประชารักษ์ เปิดเผยว่า ทางโรงเรียนร่มเกล้าประชารักษ์ ถือกำเนิดขึ้นในปี 2521 โดยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงพระราชทานทุนทรัพย์ในการจัดสร้างโรงเรียน ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ทางโรงเรียนจึงตั้งปณิธานไว้ว่า จะพัฒนาเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งปลูกฝังให้รักถิ่นฐานและดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ให้คงอยู่ต่อไป
“ทางโรงเรียนได้จัดทำหลักสูตรวิชาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่เด็กนักเรียน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มานานหลายปี จนกระทั่งปี 2549 ที่ได้รับการสนับสนุนจากโพธิวิชชาลัย ในการจัดตั้งให้เป็นฐานเตรียมความพร้อมห้องเรียนโพธิวิชชาลัยร่มเกล้าประชารักษ์ โดยมีการรวบรวมองค์ความรู้ในท้องถิ่นแล้วถ่ายทอดผ่านฐานเรียนรู้ที่จัดสร้างขึ้น เสมือนเป็นสถานที่ฝึกงาน ซึ่งเด็กจะได้ฝึกภาคปฏิบัติตามฐานต่างๆ แล้วส่งเสริมให้เด็กได้นำกลับไปทำต่อที่บ้าน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ช่วยให้เกิดพึ่งพาตนเองได้ และรู้จักดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของตนเอง” รองผู้อำนวยการโรงเรียนร่มเกล้าประชารักษ์กล่าวซึ่งองค์ความรู้ในท้องถิ่นถูกนำมาสร้างเป็นนฐานการเรียนรู้จำนวน 8 ฐาน ประกอบด้วย ฐานบ้านแม่ธรณี ที่ให้ความรู้เรื่องการทำบ้านดิน, ฐานทรัพย์ในหลุม ที่ให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงหมูหลุม, ฐานคนหัวเห็ด สอนให้เด็กปลูกเห็ด, ฐานเลี้ยงวัวนม, ฐานวิถีชาวทุ่ง ที่ให้ความรู้เรื่องการฝัดและตำข้าว, ฐานงามอย่างมีคุณค่า สอนเรื่องการทำปุ๋ย, ฐานคนเอาถ่าน สอนเรื่องการเตาถ่านและผลิตน้ำส้มควันไม้ และฐานคนมีน้ำยา ที่สอนให้รู้จักการนำสมุนไพรมาแปรรูป
เด็กนักเรียนทุกระดับชั้นกว่า 480 คน จะได้เรียนในวิชาเศรษฐกิจพอเพียง และมีภาคปฏิบัติในห้องเรียนธรรมชาติอย่างสนุกสนาน โดยแบ่งหน้าที่กันดูแลในฐานต่างๆ ทั้งการปลูกผัก ปลูกพืชพลังงาน เลี้ยงสัตว์ และการแปรรูปหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไป ซึ่งจะทำให้เด็กได้เรียนรู้ครบทุกฐาน และจะทำให้เด็กเกิดความรักความผูกพันกับสิ่งที่เฝ้าดูแลมาโดยตลอด และเข้าใจถึงคุณค่าจากองค์ความรู้ในท้องถิ่นที่ได้รับ โดยจะทำให้เกิดการนำไปต่อยอดปฏิบัติด้วยตนเองต่อไป