กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--
ภูมิคุ้มกันคอรัปชั่น : สังศิต พิริยะรังสรรค์ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
เมื่อพูดถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมักจะหยิบยกเอา ปตท. มาเป็นกรณีอ้างอิงเสมอ คำถาม ก็คือ การแปรรูป ปตท. ใครได้และใครเสียกันแน่
ปี พ.ศ. 2521 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยรวมองค์การเชื้อเพลิงและองค์การก๊าซธรรมชาติเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำมันทั่วโลก และเมื่อเกิดวิกฤติอีกครั้งในปี 2533 ที่อิรักบุกยึดคูเวต เกิดการกักตุนน้ำมันจนเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันอยู่ทั่วไป รัฐบาลในขณะนั้น จึงได้มีนโยบายส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในกิจการน้ำมันมากขึ้น และทำให้เกิดผู้ค้าน้ำมันรายใหม่หลายรายติดตามมา การปิโตรเลียมฯ ต้องทำหน้าที่เป็นทั้ง "ผู้คานอำนาจ" กับบรรษัทค้าน้ำมันข้ามชาติ ควบคู่ไปกับการแข่งขันในเชิงธุรกิจด้วย
นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเสริมสร้างศักยภาพให้กับ ปตท. ซึ่งแตกต่างจากรัฐวิสาหกิจโดยทั่วไปที่มักเป็นธุรกิจผูกขาด ปตท. ในขณะนั้นตกอยู่ในการโอบล้อมของบริษัทน้ำมันข้ามชาติที่ยึดครองประเทศอยู่ ทั้งที่ตัวเองเป็นธุรกิจขนาดกลางมีทรัพย์สินเพียง 400 ล้านบาท ทำให้ ปตท. ต้องมีการปรับบทบาทเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และแล้วกระบวนการแปรรูปการปิโตรเลียมฯ ก็ถูกจุดชนวนขึ้น ณ ตรงนั้นเอง
วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ช่วยกระตุ้นให้ ปตท. และบริษัทในเครือต้องเร่งปรับโครงสร้างขนานใหญ่ โดยการขวนขวายหาเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน ผลของวิกฤติเกิดการลอยตัวค่าเงินบาทจนทำให้หนี้สินต่อทุนของบริษัทพุ่งเป็น 5 ต่อ 1 ทำให้ยากที่จะกู้เงินเพิ่ม รวมทั้งภาระดอกเบี้ยที่ต้องชำระได้เพิ่มขึ้นมาก ปตท. ต้องเลือกวิธีการที่จะ 1. ยืนบนลำแข้งของตนเองด้วยการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนทั้งจากในและต่างประเทศหรือ 2. การขอเงินงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล หรือ 3. กู้เงินให้รัฐค้ำประกันซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระทางการเงินให้แก่ภาครัฐมากขึ้นไปอีก
จากการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2544 ปตท. กลายเป็นบริษัทมหาชนที่มีความคล่องตัวทางการเงินมากขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 20,000 ล้านบาท และเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน โดยยังมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เช่นเดิม ยุทธวิธียอมเสียส่วนน้อย (กระจายหุ้นบางส่วน) เพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้ ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุนของ ปตท. เหลือเพียง 2 ต่อ 1 และมีเงินสดที่สามารถเพิ่มทุนให้กับบริษัทในเครือที่ประสบปัญหาทางการเงินอย่างสาหัส อาทิเช่น ไทยออยล์ ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเพียง 20 ล้านบาท แต่มีหนี้สินเพิ่มขึ้นถึงเกือบแสนล้านบาท ในขณะนั้น ทั้งไทยออยล์และโรงกลั่นน้ำมันระยองตกอยู่ในอาการโคม่าที่ถูกบีบให้ขายกิจการให้แก่บรรษัทข้ามชาติ ทำให้ ปตท. ต้องเข้าไปเพิ่มทุนเพื่อรักษาสมบัติโรงกลั่นไว้เป็นของคนไทย และก็สามารถแก้ไขจนสำเร็จเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ธุรกิจปิโตรเคมีของไทย อาทิเช่น บริษัทไทยโอเลฟินส์ บริษัทอะโรเมติกส์ ก็เช่นกัน ล้วนแล้วแต่ไม่สามารถจ่ายคืนเงินกู้ได้ทั้งสิ้น ทางเลือกในขณะนั้นคือขายธุรกิจให้ต่างชาติไป แต่ ปตท. ได้ใช้เงินจากตลาดหลักทรัพย์เข้ามาช่วยเพิ่มทุนให้แก่บ
ริษัทเหล่านี้
การต่อสู้ทั้งด้านพลังงานและปิโตรเคมีกับบรรษัทข้ามชาติระดับโลก ได้สร้างความเข้มแข็งให้แก่ ปตท. จนกระทั่งสามารถขยายธุรกิจการวางท่อก๊าซธรรมชาติได้สำเร็จ หากไม่มีการต่อสู้ของ ปตท. อย่างทรหดอดทน ผมคิดว่าในวันนี้เราคงจะเจอแต่สถานีน้ำมันต่างชาติเรียงรายไปทุกถนน ในปัจจุบัน ปตท. กลายเป็นแหล่งใหญ่นำเงินรายได้ส่งรัฐปีละกว่าแสนล้านบาท ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมพลังงานต่างให้ความเห็นว่า การแปรรูปเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ยกระดับ ปตท. ขึ้นเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่ผู้ถือหุ้นกว่าร้อยละ 68 เป็นคนไทย มีการประเมินกันว่า ถ้าไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ปตท. วันนี้คงมีกำไรเพียงปีละ 30,000-40,000 ล้านบาทเท่านั้น และคงไม่มีเงินเพียงพอจะไปซื้อบริษัทลูกต่างๆ ซึ่งคงตกไปเป็นของต่างชาติทั้งหมด
การพัฒนาเศรษฐกิจกับการบริโภคพลังงาน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กัน ผมทราบว่า ปตท. ได้วางงบประมาณลงทุนในปี 2551-2555 ไว้สูงถึง 900,000 ล้านบาท และในปี 2555-2563 จะต้องลงทุนสูงถึง 4 ล้านล้านบาท ทั้งการสำรวจขุดเจาะหาแหล่งพลังงานสำรอง พลังงานทดแทน ซึ่งอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ปตท. ต้องออกไประดมทุน (กู้เงิน) จากต่างประเทศด้วยเครดิตของตนเอง โดยไม่ต้องขอเงินจากรัฐบาลอีกต่อไป หากไม่มีการแปรรูป ในวันนี้ ปตท. คงต้องอาศัยแต่เงินของรัฐ เพื่อไปประกอบภารกิจข้างต้น
การดำรงธุรกิจอยู่ได้ในโลกเสรีนิยมยุคใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจพลังงาน นอกจากมีทุนเพียงพอในการขยายและพัฒนาธุรกิจแล้ว อีกบทบาทหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาและสร้างความมั่นคงให้แก่ธุรกิจ ก็คือ การบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล การที่บริษัทในกลุ่ม ปตท. ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทมหาชน จึงถูกตรวจสอบมากกว่าการเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนในอดีต เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ ปตท. ทั้งกลุ่มในปัจจุบันเป็นบริษัทที่นักลงทุนให้การยอมรับกันมากที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ พร้อมกับการคว้ารางวัลแห่งความสำเร็จในระดับประเทศและนานาชาติอย่างมากมาย ด้วยการที่เป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและรับผิดชอบต่อสังคม
ปตท. เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการพัฒนารัฐวิสาหกิจของไทย ผ่านการแปรรูปเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คนส่วนหนึ่งอาจตั้งข้อสังเกตว่า การขายหุ้น ปตท. ถือเป็นการเปิดประตูให้ทุนการเมืองเข้ามาฮุบกิจการของภาครัฐ แต่หากมองอีกด้านหนึ่ง การแปรเป็นบริษัทมหาชนเป็นผลให้ ปตท. ยิ่งถูกตรวจสอบมากขึ้นและเข้มข้นมากขึ้นไปอีกจากภาคประชาชน รวมทั้งยังต้องดำเนินการตามกรอบ หลักเกณฑ์ และกติกาของตลาดหลักทรัพย์ ในขณะที่ ปตท. เองก็ยังต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบบัญชีจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินอีกด้วย
ดังนั้น ภาคการเมืองจึงต้องระมัดระวังตัวอย่างมาก หากคิดจะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากธุรกิจพลังงาน