กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
ความอ้วนเป็นสาเหตุของสารพัดโรค ซึ่งกำลังคุกคามหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ประกอบกับวิถีชีวิตคนไทยที่เปลี่ยนไป มีชีวิตที่เร่งรีบทำให้เห็นความสำคัญของการออกกำลังกายน้อยลง บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ร่วมมือกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขในการสนับสนุนโครงการศึกษาวิจัยการประเมินปัจจัยเสี่ยงของโรคเมตะบอลิก ซินโดรม เพื่อแนะนำให้รู้จักการดูแลสุขภาพ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อป้องกันการเกิดโรคก่อนวัยอันควร
พญ. แสงโสม สีนะวัฒน์ สำนักที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “คนอ้วนมีหลายแบบ แต่แบบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพคือ คนที่อ้วนลงพุง ซึ่งมักใช้การวัดรอบเอว (โดยวัดผ่านสะดือ) เป็นเกณฑ์พิจารณา โดยยึดหลักว่าชายไทยหากวัดรอบเอวเกิน 36 นิ้ว จะนับว่าอ้วนลงพุง ส่วนผู้หญิง เกิน 32 นิ้ว ซึ่งหากเข้าข่ายที่เรียกว่าอ้วนลงพุงแล้ว คุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเมตะบอลิก ซินโดรม (Metabolic Syndrome) ซึ่งหมายถึงกลุ่มโรคที่เกิดจากไขมันในช่องท้องแทรกอยู่ตามกระเพาะ ลำไส้ ตับ ตับอ่อน จะทำให้อินซูลินที่หลั่งจากตับอ่อน ออกฤทธิ์ได้ไม่ดี จนเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และนำไปสู่โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดตีบตันตามมา
ดังนั้น หากทราบว่าอยู่ในข่าย “อ้วนลงพุง” และยังพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงอีก 2 ใน 4 ข้อดังต่อไปนี้ แสดงว่าคุณกำลังเป็นโรคเมตะบอลิก ซินโดรม ซึ่งคุณต้องเร่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายโดยด่วน ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวได้แก่
1. ความดันโลหิตสูง 130/85 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
2. น้ำตาลในเลือด ขณะอดอาหารสูง 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป
3. ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป
4. ระดับไขมันเอชดีแอล (HDL) คอเลสเตอรอลน้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรสำหรับผู้ชาย และน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรสำหรับผู้หญิง”
พญ. แสงโสม กล่าวต่อว่า “คำว่าโรคเมตะบอลิก ซินโดรม นับว่ายังเป็นคำใหม่ที่ยังไม่คุ้นหู แต่อีกไม่นานคำนี้จะเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เพราะโรคเมตะบอลิก ซินโดรม มีโรคกลุ่มที่เกี่ยวพันหลายโรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วน ซึ่งโรคทั้งหลายเหล่านี้มีต้นกำเนิดเดียวกันคือความดื้อต่ออินซูลิน ความดื้อต่ออินซูลินเป็นภาวะที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ แต่สิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมจะช่วยกระตุ้นความผิดปกตินี้ให้แสดงออกมามากขึ้น และการอ้วนลงพุงนับเป็นสภาวะสำคัญที่สุดที่จะกระตุ้นภาวะดื้อต่ออินซูลินนี้ ในขณะที่กลุ่มโรคดังกล่าวยังเป็นสาเหตุการตายของมนุษย์ถึงร้อยละ 70 ในอนาคตอันใกล้นี้ หรือคาดว่าในปี พ.ศ. 2563 จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 25 ล้านคนทั่วโลก”
ด้วยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำ และมีความห่วงใยสุขภาพของคนไทย โดยมุ่งส่งเสริมให้คนไทยปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารอย่างสมดุลเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงได้ร่วมมือกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้การสนับสนุนโครงการศึกษาวิจัยการประเมินปัจจัยเสี่ยงของโรคเมตะบอลิก ซินโดรม เป็นมูลค่า 1,500,000 บาท โดยได้มอบเครื่องมือตรวจวัดไขมันในร่างกาย Bio-electrical Impedance เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำวิจัย พร้อมสนับสนุนการผลิตสื่อเผยแพร่ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการเพื่อป้องกันโรคอ้วน โดยกรมอนามัยเป็นผู้ดำเนินการสำรวจกลุ่มวัยทำงาน จำนวน 3,000 ราย ในเขตกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เดือนมีนาคม - ธันวาคม 2549
นางฆรนี เทียนไทย ผู้รับผิดชอบโครงการ Wellness บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า “คนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดว่าโรคกลุ่มนี้จะเป็นกับคนที่อ้วนเท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว คนผอมก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน หากมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง และออกกำลังกายไม่เพียงพอ ก็จะมีโอกาสมีปริมาณไขมันในร่างกายเกินกำหนด ดังนั้น การศึกษาวิจัยโครงการนี้จะช่วยสร้างกระแสให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว มีความเข้าใจ และตระหนักถึงความเสี่ยงของการเกิดโรค เนื่องจากกลุ่มโรคดังกล่าวสามารถป้องกันได้ หากได้รับการส่งเสริมด้านสุขภาพอย่างถูกต้อง โดยมีหลักการคือ การสร้างความสมดุลระหว่างอาหารที่รับประทานเข้าไป และการใช้พลังงานของร่างกายในแต่ละวัน เพื่อจะได้มีภาวะโภชนาการที่ดี มีสุขภาพที่ดี และมีชีวิตที่ยืนยาว ดังปณิธาน Good Food, Good Life ของเนสท์เล่”
วิธีการป้องกันโรคเมตะบอลิก ซินโดรม ทำได้โดยการออกกำลังกายและรู้จักเลือกรับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ซึ่งไม่ง่ายเหมือนการฉีดวัคซีนป้องกัน ดังนั้น ยุทธวิธีในการปราบโรคกลุ่มนี้ที่ดีที่สุด คือให้การศึกษาเรื่องอาหารและการออกกำลังกายแก่ประชาชนเพื่อการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต โดยต้องเริ่มต้นด้วยการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นคุณค่าเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย จนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการป้องกันโรคดังกล่าว
มร. เกรแฮม แคมพ์เบลล์ (ที่ 4 จากขวา) ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มเนสท์เล่ ประเทศไทย ทำพิธีเซ็นสัญญาสนับสนุนโครงการศึกษาวิจัยประเมินปัจจัยเสี่ยงของโรคเมตะบอลิก ซินโดรม พร้อมมอบเครื่องวัดไขมันในร่างกาย แก่ นพ. สมยศ เจริญศักดิ์ (ที่ 5 จากขวา) อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ:
กุนธิรา ณัฐวัฒนานนทน์
บริษัท พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส จำกัด
โทร. 0-2651-8989 ต่อ 332
Khuntira@prassociates.net
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net