อากาศร้อนจัดพีคพุ่งทะลุ 21,064 เมกะวัตต์ ทำลายสถิติล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้ว

ข่าวทั่วไป Thursday May 4, 2006 17:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--กฟผ.
อุณหภูมิที่สูงกว่า 39.3 องศาซลเซียส ส่งผลให้ Peak พุ่งถึง 21,064 เมกะวัตต์ ทำลายสถิติเดิมของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่ค่าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ต่อวัน ทำลายสถิติเดิมจาก 431.4 ล้านหน่วย เป็น 433.7 ล้านหน่วย คาดช่วงวันหยุดต่อเนื่องกัน 3 วัน ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะลดลงกว่าวันทำการปกติถึง 5 % กฟผ.พร้อมเตรียมกำลังผลิตสำรองตลอดช่วงหน้าร้อนกว่า 20% หรือ 4,000 เมกะวัตต์ ชี้หากราคาน้ำมันยังพุ่งต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อค่าเอฟทีในงวดต่อไป
นายคำผุย จีราระรื่นศักดิ์ รองผู้ว่าการอาวุโสกลุ่มระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แจ้งว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม 2549 เวลา 13.30 น. ได้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak)ในระบบ มีค่าเท่ากับ 21,064 เมกะวัตต์ ซึ่งทำลายสถิติเดิมของวันอังคารที่ 28 มีนาคม 2549 ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 20,744.8 เมกะวัตต์ ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันพบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดได้เพิ่มขึ้นถึง 319.2 เมกะวัตต์ หรือ 1.54 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในวันพุธที่ 3 พฤษภาคม 2549 พลังงานไฟฟ้าที่ใช้รวมสูงถึง 433.7 ล้านหน่วย ได้ทำลายสถิติเดิมเมื่อปีที่แล้วในวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 ที่มีพลังงานไฟฟ้าที่ใช้รวม 431.4 ล้านหน่วย ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เพิ่มขึ้นเกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนเพิ่มขึ้นตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงบ่ายของแต่ละวันจะมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นกว่าในช่วงเวลาอื่นๆ (โดยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศเพิ่มขึ้นถึง 300 เมกกะวัตต์) และจากประมาณการหน้าร้อนปีนี้ คือช่วง มีนาคม-พฤษภาคม จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 12,000 ล้านหน่วยต่อเดือน
สำหรับในช่วงวันหยุดต่อเนื่อง 3 วัน คือตั้งแต่วันที่ 5-7 พฤษภาคม 2549 คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะลดลงประมาณ 5% ของยอดการใช้ไฟฟ้าในวันปกติที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 21,000 เมกะวัตต์ โดยในวันที่ 5-6 พฤษภาคม 2549 คาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 20,000 เมกะวัตต์ และในวันที่ 7 พฤษภาคม อยู่ที่ 19,000 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามในช่วงหน้าร้อนนี้ กฟผ. ได้เตรียมแผนกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่ายไม่ต่ำกว่า 4,000 เมกะวัตต์ หรือ ประมาณ 20% ของยอดการประมาณการใช้ไฟฟ้าตลอดทั้งปี ดังนั้นกำลังผลิตสำรองของระบบอยู่ในเกณฑ์พอเพียง
“ จากที่ผ่านมา กฟผ.ได้ปรับแผนการผลิตเพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าวและลดผลกระทบของผู้ใช้ไฟฟ้าจากค่าเชื้อเพลิงที่ผันแปร โดยการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่จะเน้นการใช้ถ่านหินลิกไนต์ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำ โดยจะพยายามหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้า เพราะการใช้น้ำมันจะทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียเม็ดเงินมหาศาลในการนำเข้าเชื้อเพลิงและจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ฟ้าเกี่ยวกับค่าเอฟทีได้ ดังนั้นจึงอยากขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันประหยัดการใช้ไฟฟ้าให้มากที่สุด เพื่อช่วยประเทศประหยัดเงินตราจากการนำเข้าเชื้อเพลิง และ ชะลอการใช้พลังงานให้ยาวนานออกไป” นายคำผุย กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
กองประชาสัมพันธ์ธุรกิจระบบส่ง : โทรศัพท์ 02 -4362342,02-4362346

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ