กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ระดับ ‘BBB+(tha)’ และระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’ แก่บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF และให้อันดับเครดิตแก่ หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันมูลค่า 1,000 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2553 ของ SF ที่ ‘BBB+(tha)’ โดยมีแนวโน้มเครดิตเสถียรภาพ
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของ SF ในฐานะผู้ประกอบการศูนย์การค้าขนาดกลางซึ่งมีอัตราการเช่าที่สูงในแต่ละศูนย์ฯของบริษัท รวมถึงผลประกอบการที่ดีขึ้น ในปี 2547 รายได้จากการเช่าและบริการปรับตัวขึ้น 50% จากการที่ SF เปิดดำเนินการ 5 ศูนย์ฯใหม่และการปรับขึ้นค่าเช่าและบริการ ในขณะที่ อัตราการเช่าโดยเฉลี่ยสูงเกือบ 100% อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งโดยบางส่วนอยู่ภายใต้สัญญาระยะยาวกับผู้เช่าหลัก (anchor tenant) ซึ่งคิดเป็น 40% ของรายได้การเช่าและบริการทั้งหมดและ SF ยังได้เพิ่มจำนวนผู้เช่าหลักขึ้นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จากนโยบายบริษัทที่จะพัฒนาโครงการโดยการเช่าแทนที่จะซื้อที่ดิน ทำให้เงินลงทุนของ SF มีระดับที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม ค่าเช่าที่ดินและค่าก่อสร้างกำลังปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง SF อาจได้รับผลประโยชน์ในการพัฒนาศูนย์การค้าบันเทิง (Entertainment Centre) จากการร่วมมือกับ บมจ. เมเจอร์ ซีนีเพลกซ์ (MAJOR) ในฐานะที่ MAJOR เป็นทั้งผู้ถือหุ้นรายใหญ่และหนึ่งในผู้เช่าหลักของบริษัท
นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงความเสี่ยงจากแผนการขยายงานที่ใช้เงินลงทุนสูงซึ่งจะเพิ่มระดับหนี้สินของ SF ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ถึงแม้การเพิ่มจำนวนสัญญาระยะสั้นในช่วงที่ผ่านมาจะทำให้ผลตอบแทนต่อบริษัทดีขึ้นแต่ก็จะเพิ่มความผันผวนให้กับรายได้โดยฉพาะอย่างยิ่งหากธุรกิจค้าปลีกมีแนวโน้มอ่อนตัวลง การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ การปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นรวมถึงสถานการณ์ในภาคใต้ที่อาจจะทวีความรุนแรงขึ้นล้วนเป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและตลาดค้าปลีกที่ปัจจุบันมีการแข่งขันสูงและไวต่อปัจจัยกระทบดังกล่าว
ในปี 2547 SF ได้เพิ่มพื้นที่ให้เช่ารวมของบริษัทขึ้น 2 เท่ามาที่ 63,000 ตารางเมตร จากการที่บริษัทได้พัฒนาและเปิด 5 โครงการใหม่ได้แก่ ลาดพร้าว ซอย 120 เอสเอฟ เมเจอร์ ซีนีเพลกซ์ ฉะเชิงเทรา เจ อเวนิว ทองหล่อ 15 แฟมิลี่ เซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ และ ปิยรมย์ เพลส ในปี 2548 นี้ SF จะเปิดโครงการใหม่ขึ้นอีกอย่างน้อย 2 โครงการ ได้แก่ เอกมัย พาวเวอร์ เซ็นเตอร์ และ เพชรเกษม พาวเวอร์ เซ็นเตอร์ และจะเปิดอีก 3 ศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Centre) ได้แก่ รัชดา เอสพลานาด พหลโยธิน และ พัทยา ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ ในปี 2549 แผนการขยายงานดังกล่าวจะทำให้พื้นที่ให้เช่ารวมเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า ภายในสิ้นปี 2549
จากการขยายงานของ SF ในอดีตซึ่งใช้แหล่งเงินลงทุนส่วนใหญ่จากเงินค่าเช่าล่วงหน้าและฐานเงินทุนของบริษัท ส่งผลให้ SF มีระดับหนี้สินต่ำ อย่างไรก็ตามระดับหนี้สินคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในระยะกลางจากการขยายงานอย่างรวดเร็วของบริษัท ณ สิ้นปี 2547 หนี้สินรวมของ SF อยู่ที่ 139 ล้านบาท ส่วนใหญ่ประกอบด้วยเงินมัดจำจากผู้เช่า คิดเป็นอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EBITDA) และ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่รวมค่าใช้จ่ายในการเช่าและหนี้สินที่เป็นเงินค่าเช่าล่วงหน้าต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และ ค่าใช้จ่ายการเช่า (Lease Adjusted Net Debt/EBITDAR) เท่ากับ 0.1 เท่า และ 1.2 เท่า ตามลำดับ ในขณะที่อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA/Interest Expense) อยู่ที่ 771.4 เท่า อย่างไรก็ตาม SF วางแผนที่จะออกหุ้นกู้จำนวน 1,000 ล้านบาทเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับแผนการขยายงาน หากรวมหุ้นกู้และเงินกู้โครงการระยะยาว อัตราส่วน Net Debt/EBITDA น่าจะปรับตัวขึ้นมาที่ประมาณ 1.9 เท่า ในปี 2548 และคงอยู่ในระดับประมาณ 1.0 ถึง 1.5 เท่า จนถึงปี 2551 บนข้อสันนิษฐานที่บริษัทจะมีการใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 1,600 ล้านบาทในปี 2550-2551 ในขณะที่อัตราส่วน EBITDA/Interest Expense น่าจะปรับตัวลงมาที่ประมาณ 9.8 เท่า อนึ่ง การจัดอันดับเครดิตเจ้าหนี้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันครั้งนี้อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์การปรับตัวเพิ่มขึ้นของหนี้สินมีหลักประกันในระดับปานกลางในอนาคต
สำหรับรายงานฉบับสมบูรณ์ของบริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หาได้จาก www.fitchratings.com หรือ ติดต่อ
ธนวัฒน์ รุ่งธนาภิรมย์, นักวิเคราะห์, ภาคอุตสาหกรรม +662 655 4758
เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล, ผู้ช่วยกรรมการ, ภาคอุตสาหกรรม +662 655 4760
Vincent Milton, กรรมการผู้จัดการ +662 655 4759
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้--จบ--