บทความกรมการค้าต่างประเทศ การออกมาตรการซื้อสินค้าอเมริกา หรือ Buy American ของสหรัฐฯ

ข่าวทั่วไป Monday June 1, 2009 16:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--คต. เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ประธานาธิบดีโอบามาได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจฉบับใหม่ (America Recovery and Reinvestment Act) วงเงิน 7.87 แสนล้านดอลลาร์ครอบคลุมมาตรการสร้างการจ้างงานและการใช้จ่ายของภาครัฐบาล ผ่านการลงทุนในการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค อาทิ การสร้างถนน สะพาน และโรงเรียน รวมถึงการวางโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ ตลอดจนการลงทุนด้านพลังงานสะอาดและมาตรการรองรับผลกระทบทางสังคมต่าง ๆ เงื่อนไขประกอบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในส่วนของการลงทุนในโครงการภาครัฐนั้น เงินทุนของรัฐบาลกลางจะต้องจัดซื้อเหล็ก เหล็กกล้า และครอบคลุมวัสดุก่อสร้างอื่น (construction materials) อาทิ ซีเมนต์ที่ผลิตในสหรัฐเท่านั้น ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกว่า “ซื้อสินค้าอเมริกา” หรือ Buy American อย่างไรก็ดี หลังจากมีกระแสคัดค้านมาตรการดังกล่าวอย่างมากจากในสหรัฐฯ เอง เพราะการกระทำดังกล่าวอาจเป็นตัวอย่างไม่ดีให้ประเทศอื่น ๆ พิจารณาแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนี้ของตนเองออกมาเช่นกัน และจากรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกทั้งแคนาดา ยุโรป รัสเซีย จีน และญี่ปุ่น ได้ส่งจดหมายถึงสภาคองเกรสสหรัฐฯ เรียกร้องให้ยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากเป็นการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าเฉพาะตน และอาจทำให้เกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าได้ ซึ่งจะไม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกในขณะนี้ และเป็นการสวนทางกับจุดยืนที่ผ่านมาของสหรัฐฯ ที่ต่อต้านค่านิยมการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ต่อมาสหรัฐฯ จึงได้ปรับแก้ไขให้การบังคับใช้บทบัญญัตินี้ให้สามารถมีกรณียกเว้นสามารถซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศได้ในหลายกรณี เพื่อเป็นการลดกระแสการคัดค้าน ได้แก่ 1. เป็นประเทศที่เป็นสมาชิกความตกลงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ (Agreement on Government Procurement) ภายใต้องค์การการค้าโลกซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 38 ประเทศ 2. เป็นประเทศที่มีความตกลงทวิภาคี (FTA) กับสหรัฐฯ 3. ซื้อวัตถุดิบจากประเทศพัฒนาน้อย โดยวัสดุก่อสร้างที่ใช้จะต้องผ่าน substantial transformation test ว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าในการนำเข้า อย่างไรก็ดี มีกรณียกเว้นให้สามารถใช้เหล็ก เหล็กกล้า และสินค้าวัสดุก่อสร้างอื่นจากประเทศที่อยู่นอกเหนือจากกรณีทั้ง 3 ข้างต้น ได้แก่ 1. ต้นทุนในการใช้วัสดุก่อสร้างภายในประเทศมีราคาสูงอย่างไม่สมเหตุสมผล 2. การใช้เหล็ก เหล็กกล้า และสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตในสหรัฐฯ จะส่งผลให้ต้นทุนโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 3. ต้นทุนวัสดุก่อสร้างภายในประเทศสูงกว่าต้นทุนวัสดุก่อสร้างจากต่างประเทศร้อยละ 6 4. วัสดุก่อสร้างที่ใช้ไม่มีการขุด (mined) และผลิต (produced or manufactured) ในหสรัฐฯ ในปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอ 5. การบังคับใช้บทบัญญัติ Buy American ในการก่อสร้างไม่เป็นผลระโยชน์ต่อสาธารณะ ทั้งนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลสหรัฐฯ โดยผู้รับเหมา (contractor) จะต้อง (1) แจ้งรายละเอียดข้อมูลวัสดุก่อสร้างภายในประเทศ และต่างประเทศที่ใช้ (2) หน่วยวัด (3) จำนวน (4) ราคาต้นทุน (5) ระยะเวลาในการจัดส่ง (6) ที่ตั้งโครงการก่อสร้าง (7) ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง (supplier) และ (8) เหตุผลชี้แจงการใช้วัสดุก่อสร้างจากต่างประเทศ สำหรับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็มีกรณียกเว้น ให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างโลหะชนิดเศษ (Specialty metals) เช่น aluminum, raw steel, cobalt, cobalt, copper, nickel, titanium, zinc (refined) จากแหล่งผลิตต่างประเทศได้ ซึ่งข้อกำหนดนี้เปิดโอกาสให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ สามารถจัดซื้อจัดจ้างโลหะชนิดพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลหะชนิดพิเศษประเภทเหล็ก (metals) และโลหะผสม (alloys) เทคโนโลยีชั้นสูงที่ใช้ใน การผลิตเรือดำน้ำ ขีปนาวุธ เครื่องบินขนส่ง และเครื่องบินทางทหารจากต่างประเทศได้รวมถึงประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นภาคีความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ หรือไม่มีความตกลง FTA กับสหรัฐฯ โดยภาพรวมแล้ว บทบัญญัติของสหรัฐฯ ดังกล่าว ถือเป็นการกีดกันทางการค้า ในลักษณะระบอบปกป้องการค้า (Trade Protectionism) ซึ่งหากประเทศอื่น ๆ นำมาตรการในลักษณะเดียวกันมาใช้น่าจะมีผลกระทบต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก และก่อผลกระทบเสียหายต่อทุกประเทศ โดยเฉพาะจีน อินเดีย และประเทศอีกหลาย ๆ ประเทศรวมทั้งไทย ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกข้อตกลงจัดซื้อจัดจ้างขององค์การการค้าโลกหรือไม่มีความตกลงทวิภาคีกับสหรัฐฯ ถูกกีดกันออกจากตลาดภาคราชการส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับบทบัญญัติ Buy American สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.recovery.gov/sites/default/files/m09-15 .pdf

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ