ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่ “แทค” ที่ระดับ “A/Stable”

ข่าวทั่วไป Friday July 21, 2006 09:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้เดิม (TAC089A, TAC089B, TAC09OA, TAC09OB, TAC109A) ของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (แทค) ที่ระดับ “A” พร้อมทั้งประกาศอันดับเครดิตให้หุ้นกู้ชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความแข็งแกร่งในการแข่งขันของบริษัทในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของไทย และความสามารถในการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของบริการโทรศัพท์
มือถือซึ่งยังคงเติบโตแม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ช้าลง นอกจากนี้ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับจากคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์จาก Telenor ASA ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมจากประเทศนอร์เวย์ รวมถึงภาระหนี้ของบริษัทที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากการแข่งขันที่ยังคงรุนแรงซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท รวมทั้งจากการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อการขยายโครงข่ายและความสามารถในการให้บริการ และจากความไม่แน่นอนของกฎระเบียบด้านการสื่อสารโทรคมนาคมในปัจจุบัน
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความคาดหมายว่า ภายใต้การดูแลของคณะผู้บริหารปัจจุบัน แทคจะยังคงความสามารถในการแข่งขันและสร้างเงินทุนจากการดำเนินงานที่เพียงพอสำหรับการขยายโครงข่ายได้โดยไม่ทำให้ระดับเงินกู้ยืมสูงมากขึ้นจากปัจจุบัน และยังสะท้อนถึงความคาดหมายว่ากฎระเบียบใหม่ที่ออกโดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จะไม่ส่งผลกระทบในด้านลบต่อผลประกอบการของบริษัท
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2549 อัตราการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อจำนวนประชากรในประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 51% ซึ่งเพิ่มจาก 48% ณ สิ้นปี 2548 อุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือในประเทศมีอัตราการเติบโตที่สูงเป็นอย่างมากในช่วงปี 2544-2545 ที่ระดับ 120% และ 121% ตามลำดับ ต่อมาได้ลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ระดับ 14% ในปี 2548 การแข่งขันในธุรกิจโทรศัพท์มือถือเริ่มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2545 เมื่อ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด (มหาชน) เข้ามาแข่งขันในตลาด ปัจจุบันอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือไทยยังคงครองตลาดโดยผู้ประกอบการสำคัญๆ เพียงไม่กี่ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้นำตลาดด้วยสัดส่วนลูกค้า 51% ตามมาด้วยแทค 30 และทรูมูฟ 15% การเสนอบริการในราคาต่ำเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่นิยมใช้มากที่สุดเพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่และรักษาฐานลูกค้าเก่า เป็นผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาซึ่งกระตุ้นให้ลูกค้าใช้เวลาในการพูดโทรศัพท์นานเกินความจำเป็นอยู่เสมอ ในที่สุด การแข่งขันด้านราคาได้ก่อให้เกิดปัญหาในการเชื่อมต่อสัญญาณโครงข่ายซึ่งนำไปสู่ความต้องการงบลงทุนในการขยายโครงข่ายการที่เพิ่มมากขึ้น
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า แทคสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ได้ที่ประมาณ 30% นับจากปี 2545 ความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเป็นผู้ริเริ่มในการคิดรูปแบบราคาบริการใหม่ๆ การเจาะกลุ่มลูกค้าเพื่อให้บริการตามความต้องการที่แตกต่างระหว่างลูกค้าทั่วไปและลูกค้าองค์กร และกลยุทธ์การเอาใจใส่ลูกค้าเป็นสำคัญ ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2549 บริษัทมีลูกค้าประมาณ 9.8 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้น 13% จากสิ้นปี 2548 และฐานลูกค้าได้เพิ่มเกิน 10 ล้านคนเมื่อเดือนเมษายน 2549 ทั้งนี้ ลูกค้าประเภทใช้บัตรเติมเงิน (Prepaid) ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างรายได้ บริษัทมีโครงข่ายซึ่งครอบคลุมพื้นที่ให้บริการมากกว่า 90% ของจำนวนประชากร และมีแผนจะขยายโครงข่ายเพิ่ม โดยเฉพาะในเขตต่างจังหวัดที่ยังมีความต้องการอยู่อีกมาก นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะเพิ่มรายได้จากบริการเสริมที่มิใช่บริการทางเสียง (Non-voice) โดยการพัฒนาโครงข่ายเพื่อรองรับนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยี 3G และ EDGE (Enhance Data-rates for GSM Evolution) ด้วย แทคยังน่าจะได้ประโยชน์จากการเพิ่มการลงทุนของ Telenor ในรูปของความช่วยเหลือทางการบริหารโดยผ่านทางตำแหน่งผู้บริหารและกรรมการบริษัทซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก Telenor หลังจากการทำคำเสนอซื้อหุ้นเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคม 2548 Telenor มีสัดส่วนการถือหุ้นโดยตรงในแทคเพิ่มขึ้นจาก 29.9% ในปี 2543 เป็น 32.9% และ ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2549 Telenor ถือหุ้นในแทคทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมในสัดส่วน 70.2%
ทริสเรทติ้งยังกล่าวด้วยว่า แทคประสบความสำเร็จในการลดภาระเงินกู้มาโดยตลอด โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจาก 60% ในปี 2546 เป็น 49% ณ เดือนมีนาคม 2549 นอกจากนี้ ระดับอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมยังเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 เท่าจากปี 2544 ซึ่งสืบเนื่องมาจากผลประกอบการที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม งบประมาณการลงทุนเพื่อการขยายโครงข่ายการให้บริการและรองรับเทคโนโลยี 3G คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้และอาจส่งผลให้แทคไม่สามารถนำเงินจากการดำเนินงานมาใช้ลดภาระหนี้ไปสักระยะหนึ่ง บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รวมทั้งใช้ขยายโครงข่ายการให้บริการ และไถ่ถอนหุ้นกู้จำนวน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐของบริษัทซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนพฤศจิกายน 2549

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ