แนวคิดของงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 23” “ทุกเส้นทางทุกแห่งหน...ยานยนต์พลังชีวภาพ”

ข่าวทั่วไป Thursday November 30, 2006 10:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--สื่อสากล
ในที่สุด ก็มาถึงวันที่ผู้ใช้รถยนต์ต้องยอมรับความจริงอันเจ็บปวดว่า ยุคน้ำมันราคาถูกได้ผ่านพ้นไปแล้ว และยุคของเชื้อเพลิงซึ่งกลั่นจากน้ำมันดิบใต้ผืนดิน ก็เหลือเวลาอีกไม่นานเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ เมื่อยุคของพลังงานในฝัน เช่น ไฮโดรเจน หรือเซลล์เชื้อเพลิงยังมาไม่ถึง แนวทางปฏิบัติเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำมันแพง และสภาวะขาดแคลนในอนาคต สำหรับประเทศที่ไม่มีน้ำมันเป็นทรัพยากรอย่างเราก็คือ การประหยัด พร้อมทั้งพยายามแสวงหาพลังงานจากแหล่งอื่นมาใช้ทดแทน
เริ่มจากเบนซิน นอกจากการรณรงค์ให้ลดปริมาณการใช้ลงแล้ว เรายังนำเอธานอล หรือเอธิลแอลกอฮอลที่ผลิตได้จากพืชผลการเกษตรมาผสมในเนื้อน้ำมันลิตรต่อลิตร โดยเรียกเบนซินผสมเอธานอลนี้ว่า แกสโซฮอล
แกสโซฮอล เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2528 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำมัน และพืชผลการเกษตรราคาตกต่ำ จึงทรงมีพระราชดำริให้ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ฯ นำอ้อยมาแปรรูปเป็นเอธานอล ผสมกับเบนซิน ทดลองใช้กับรถยนต์ในโครงการ ฯ ปรากฏว่าได้ผลดี จนรัฐบาล และบริษัทน้ำมันน้อมรับแนวพระราชดำริไปสานต่อ ทำให้การใช้แกสโซฮอลแพร่หลายไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง
ที่สำคัญตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 สถานีบริการน้ำมันทุกแห่งทั่วประเทศจะจำหน่ายแกสโซฮอล 95 แทนเบนซิน 95 ตามนโยบายรัฐบาล
ด้านน้ำมันดีเซลจะมีไบโอดีเซล ซึ่งเป็นน้ำมันที่ได้มาจากพืช และไขมันสัตว์ทั้งที่ใช้แล้ว และผลิตขึ้นใหม่ให้เลือกใช้ 3 ประเภทตามความต้องการของเครื่องยนต์คือ น้ำมันพืช หรือน้ำมันสัตว์ล้วน ๆ เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู และน้ำมันพืช หรือน้ำมันสัตว์ผสมกับดีเซล สำหรับเครื่องยนต์เกษตร และอุตสาหกรรม ส่วนน้ำมันไบโอดีเซลที่ผ่านการแปรรูปด้วยกระบวนการทางเคมี เพื่อให้มีคุณสมบัติเหมือนน้ำมันดีเซลมากที่สุดใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลในรถยนต์
และเช่นเดียวกับแกสโซฮอล รัฐบาลกำลังเร่งพัฒนา และส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซล ด้วยการสนับสนุนการปลูกปาล์มน้ำมันในภาคใต้ และภาคตะวันออก พร้อมกำหนดเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซล ให้มีปริมาณวันละ 8.5 ล้านลิตร ภายในปี 2555
นั่นหมายความว่า ภายในระยะเวลาเพียง 5 ถึง 10 ปีนับจากนี้ เชื้อเพลิงจากชีวภาพ ทั้งแกสโซฮอล และไบโอดีเซล จะมีการผลิตและจำหน่ายภายในประเทศอย่างทั่วถึง ทำให้เราสามารถประหยัดเงินตราในการนำเข้าสารเพิ่มค่าออกเทน รวมทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากตางประเทศได้ปีละหลายพันล้านบาท
ขณะเดียวกัน ยังช่วยให้เกษตรกรไทยจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาสูงขึ้น ส่งผลดีแก่เศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวม ทั้งก่อให้เกิดการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร อันเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศที่ถูกต้อง และยั่งยืนอีกด้วย
นี่คือที่มาของแนวคิดประจำงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 23” — “ทุกเส้นทางทุกแห่งหน...ยานยนต์พลังชีวภาพ” เพื่อบอกกล่าวแก่คนรักรถทั้งหลายว่า แม้ยุคน้ำมันราคาถูกจะไม่หวนกลับมา แต่อย่างน้อยในยุคที่ทุกแห่งหนเต็มไปด้วยยานยนต์พลังชีวภาพ ก็มีอากาศสะอาดบริสุทธิ์ที่สามารถหายใจได้เต็มปอด ซึ่งบางที ในความเป็นมนุษย์ เราอาจไม่ต้องการอะไรมากไปกว่านี้
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท สื่อสากล จำกัด
คุณพรชนก เสาวมล
โทร 0-2641-8444 ต่อ 405
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ