ปภ. แนะครอบครัวรับมือภัยพิบัติ

ข่าวทั่วไป Tuesday June 2, 2009 11:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเรียนรู้วิธีรับมือภัยพิบัติในระดับครอบครัว โดยจัดเตรียมกระเป๋าบรรจุดเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นและเอกสารสำคัญ จดชื่อ — ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ใส่กระดาษติดตัวเด็กและผู้ที่ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ จดจำสถานที่ตั้งและหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยแจ้งเหตุฉุกเฉิน สอนสมาชิกในครอบครัวเรียนรู้หลัการรับมือภัยพิบัติในเบื้องต้นและวิธีการอพยพหนีภัย ตลอดจนจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัย นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันภัยพิบัติมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยต้องใส่ใจเรียนรู้วิธีรับมือภัยพิบัติในระดับครอบครัว พร้อมสอนให้สมาชิกในครอบครัวเรียนรู้หลักการรับมือภัยพิบัติในเบื้องต้นด้วยตนเอง ดังนี้ จัดเตรียมกระเป๋าที่พกพาได้สะดวก บรรจุเครื่องอุปโภคบริโภคของใช้ที่จำเป็น เช่น มีด เชือก นกหวีด ยารักษาโรค ไฟฉายพร้อมถ่านสำรองให้พอใช้อย่างน้อย ๓ วัน รวมถึงเอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน และสูติบัตร เพื่อให้สามารถ ใช้งานได้ทันที เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ตลอดจนถ่ายสำเนากรมธรรมประกันชีวิต บัตรประกันสังคมและเก็บรูปถ่ายสมาชิกในครอบครัวไว้ในถุงกันน้ำโดยเก็บไว้ตามจุดต่างๆที่ปลอดภัยของบ้าน บันทึกข้อมูลส่วนตัว จดชื่อ — นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ของสมาชิกในครอบครัวหรือญาติ เพื่อใช้ติดต่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็กหรือบุคคลที่พูดภาษาไทยไม่ได้อาศัยอยู่ด้วย ควรจดชื่อ — นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ผู้ปกครองหรือผู้ที่สามารถติดต่อได้ติดไว้กับตัว เมื่อเกิดการพลัดหลงจากการอพยพหนีภัยจะได้ติดต่อญาติได้อย่างถูกต้อง จดจำสถานที่ตั้งและหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน เช่น สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง โรงพยาบาล หน่วยบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น สำหรับการแจ้งเหตุฉุกเฉิน สอนการป้องกันภัยในเบื้องต้นและวิธีอพยพหนีภัยให้กับสมาชิกในครอบครัว เช่น การเปิด — ปิดประตูน้ำ คัทเอาท์ไฟฟ้า และวาล์วถังก๊าซ ตลอดจนเส้นทางหนีภัย และจุดนัดพบที่ปลอดภัยทั้งภายในที่อยู่อาศัยและชุมชน พร้อมทั้งควรฝึกซ้อมการอพยพหนีภัยอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง สำรองเงินสดไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เนื่องจากในช่วงที่เกิดภัยพิบัติอาจส่งผลให้ไฟฟ้าดับทำให้เครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) ไม่สามารถใช้งานได้ จัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัย ด้วยการซ่อมแซมบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ประตูทางออก ระเบียงบ้าน และบันไดไม่ควรมีสิ่งของวางกีดขวาง ติดตั้งถังดับเพลิงเคมีและวางกุญแจบ้านในจุดที่สามารถหยิบใช้ได้สะดวก กรณีเกิดภัยพิบัติ ควรให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและผู้สูงอายุก่อน รวมทั้งควรรีบอพยพออกจากพื้นที่ประสบภัยไปยังบริเวณที่ปลอดภัยในทันที ไม่ควรห่วงทรัพย์สินโดยเด็ดขาด เพราะชีวิตมีความสำคัญมากกว่า การเตรียมความพร้อมในระดับครอบครัวเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับสมาชิกในครอบครัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ