ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร “บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)” ระดับ “A-/Stable”

ข่าวทั่วไป Tuesday October 17, 2006 08:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตองค์กรระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” ให้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% โดย บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส โฮลดิ้งส์ จำกัด (สมาชิกในกลุ่มธนาคารดีบีเอส) ในประเทศสิงคโปร์ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะอันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นจากพื้นฐานเครดิตของตัวบริษัทเองจากการเป็นบริษัทย่อยหลักทางกลยุทธ์ของกลุ่มธนาคารดีบีเอสซึ่งให้การสนับสนุนทั้งในด้านการเงินและด้านอื่นๆ อันดับเครดิตยังอยู่บนพื้นฐานความสามารถของบริษัทในการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และขยายงานด้านวาณิชธนกิจได้อย่างต่อเนื่องโดยสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งทรัพยากร รวมถึงเครือข่ายของกลุ่มธนาคารดีบีเอสได้อย่างเต็มที่ อันดับเครดิตดังกล่าวยังพิจารณารวมถึงฐานทุนที่เพียงพอและสภาพคล่องที่เข้มแข็งของบริษัทเอง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในประเทศ รวมถึงความอ่อนไหวต่อภาวะความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์เช่นเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์แห่งอื่น
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังที่ บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จะยังคงฐานะเป็นบริษัทเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญของกลุ่ม ธนาคารดีบีเอสต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งน่าจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดในประเทศไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการขยายตัวสู่นานาชาติของกลุ่มธนาคารดีบีเอส โดยแม้ว่าผลประกอบการของบริษัทจะค่อนข้างอ่อนไหวต่อสภาวะตลาดและการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่างๆ แต่ไม่น่าจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัท หรือการสนับสนุนจากกลุ่มธนาคาร
ดีบีเอส
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ให้บริการในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นธุรกิจหลักและสนับสนุนโดยธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ การให้คำปรึกษาทางการเงิน ธุรกิจจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับลูกค้ารายย่อย ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์หดตัวลงเล็กน้อย โดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด ณ เดือนมิถุนายน 2549 อยู่ที่ 2.7% ลดลงจาก 2.9% ในปี 2548 3.1% ในปี 2547 และ 3.3% ในปี 2546 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายโดยรวมของลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทลดลง สาเหตุอีกประการหนึ่งคือการระดมเปิดสาขาใหม่ของบริษัทคู่แข่งในขณะที่บริษัทไม่มีนโยบายในการขยายสาขาใหม่ แต่บริษัทมีกลยุทธ์ที่แตกต่างจากคู่แข่งโดยจะขยายฐานลูกค้าซื้อขายหลักทรัพย์ไปสู่กลุ่มลูกค้าสถาบันและลูกค้ารายใหญ่มากขึ้นโดยอาศัยฐานทรัพยากรภายในกลุ่มธนาคารดีบีเอส ในขณะที่การขยายฐานลูกค้ารายย่อยนั้น บริษัทจะให้ความสำคัญและพัฒนาผ่านช่องทางการซื้อขายหลักทรัพย์ทางอินเทอร์เน็ต และการให้บริการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับลูกค้ารายย่อยซึ่งจะช่วยตอบสนองความต้องการที่เป็นลักษณะเฉพาะของลูกค้าแต่ละรายได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการให้บริการลูกค้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากกว่าแค่ให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์แบบเดิมๆ การปรับกลยุทธ์เช่นนี้ถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่โดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มธนาคารดีบีเอสได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการที่จะลงทุนเพื่อเปิดสาขาใหม่เพิ่มขึ้น
ทริสเรทติ้งกล่าวเกี่ยวกับธุรกิจวาณิชธนกิจว่า นอกจากการเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นบริษัทขนาดกลางแล้ว สถานะการเป็นผู้รับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ของ บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ยังพัฒนาขึ้นอย่างมากจากการขยายธุรกิจผ่านความเชี่ยวชาญเฉพาะของบริษัทในด้านกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2549 บริษัททำการจัดจำหน่ายร่วมและรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ CPN Retail Growth ที่ประมาณ19.7% ของปริมาณการขายทั้งสิ้น 10.9 พันล้านบาท ซึ่งถือเป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์กองแรกของประเทศไทยที่เสนอขายต่อต่างชาติ นอกจากนั้น บริษัทยังออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์ของ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นกองที่ 2 เมื่อช่วงต้นปี 2549 โดยเป็นผู้นำในการรับประกันการจัดจำหน่ายในปริมาณถึง 60% ของปริมาณการเสนอขายทั้งหมดที่ 4.09 พันล้านบาท ในขณะเดียวกัน บริษัทยังได้ขยายทักษะความเชี่ยวชาญให้ครอบคลุมถึงงานให้คำปรึกษาในส่วนอื่นด้วย เช่น การควบรวมกิจการ การให้คำปรึกษาทางการเงินอื่นๆ ผ่านแหล่งทรัพยากรบนเครือข่ายสาขานานาประเทศภายในกลุ่มธนาคารดีบีเอส อย่างไรก็ตาม รายได้ในส่วนนี้ก็ยังคงน้อยอยู่ บริษัทล้างขาดทุนสะสมได้ในปี 2545 และเริ่มมีกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยมีกำไรสุทธิในรอบผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2549 ที่ 96 ล้านบาท ซึ่งลดลงจาก 124 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การลดลงของกำไรสุทธิสะท้อนถึงภาวะตลาดที่ซบเซาลงซึ่งทำให้ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง อย่างไรก็ตาม ในแง่การวัดผลกำไรโดยใช้อัตรากำไรรายปีต่อฐานทุนโดยเฉลี่ยแล้วยังถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่สูงกว่า 20% ต่อปีระหว่างปี 2546-2548
ทริสเรทติ้งกล่าวต่อไปว่า บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) มีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 2.75 พันล้านบาทในปี 2546 เมื่อครั้งตลาดหลักทรัพย์ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แต่ลดลงมาอยู่ที่ 1.88 พันล้านบาทในปี 2547 และที่ 1.89 พันล้านบาทในปี 2548 เนื่องจากสินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นบัญชีรอเรียกเก็บจากลูกค้าซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งจะผันผวนสูงตามภาวะการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ณ เดือนมิถุนายน 2549 บริษัทไม่มีสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีนัยสำคัญ เว้นแต่ส่วนของการลงทุนสมทบในหุ้นสามัญจำนวน 14 ล้านบาทเพื่อการจัดตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด ซึ่งเป็นการลงทุนที่บังคับสำหรับสถาบันการเงินทุกแห่ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นการซื้อหุ้นที่เกิดจากการขายเหลือเมื่อครั้งบริษัททำการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ สถานะสภาพคล่องของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและมีความยืดหยุ่นทางการเงินที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ณ เดือนมิถุนายน 2549 บริษัทคงเงินสดและเงินฝากไว้ที่ 471 ล้านบาทโดยไม่มีข้อผูกมัดทางการเงินและภาระหนี้ระยะยาวใดๆ นอกเหนือจากการได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากบริษัทแม่โดยตรงแล้ว บริษัทยังได้รับการสนับสนุนวงเงินสำรองรวมประมาณ 2 พันล้านบาทจากสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของแหล่งเงินทุน ซึ่งถือว่าช่วยเสริมสภาพคล่องได้เป็นอย่างดี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ