กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสงครามร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ฝึกซ้อมแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ ในวันพุธที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๒ ณ บริเวณแม่น้ำแม่กลอง หน้าวัดช่องลม ตำบลบ้านปรก อำเภอเมืองฯ
จังหวัดสมุทรสงครามโดยการจำลองสถานการณ์เสมือนจริง เพื่อพัฒนาทักษะ ความพร้อม ความชำนาญ ตลอดจนการประสานงานในการปฏิบัติการกู้ภัย และการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในการกู้ภัยแก่หน่วยงานที่มีหน้าที่ด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งกระตุ้นเตือนให้ภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว
รวมถึงประชาชนตื่นตัวในการป้องกันอุบัติภัยทางน้ำที่เกิดจากการท่องเที่ยวทางน้ำ และตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้นหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น
นายฉัตรชัย ทองแป้น หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า จังหวัดสมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายทะเล มีแม่น้ำแม่กลองไหลพาดผ่านตอนกลางของจังหวัด ประกอบกับมีลำคลองสาขาอีกกว่า ๓๖๐ ลำคลอง ถือเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำที่มีชื่อเสียงของประเทศ เช่น ตลาดน้ำยามเย็นอัมพวา ตลาดน้ำท่าคา
ตลาดน้ำดอนมะโนรา เป็นต้น จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยทางน้ำสูง ดังนั้น เพื่อกระตุ้นเตือนให้ภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว รวมถึงประชาชนมีความตื่นตัวในการป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ ตลอดจนตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้นหากเกิดเหตุขึ้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสงคราม จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ฝึกซ้อมแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ ในวันพุธที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๓.๐๐-๑๕.๓๐ น. ณ บริเวณแม่น้ำแม่กลอง หน้าวัดช่องลม ตำบลบ้านปรก อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสงคราม
โดยจำลองสถานการณ์เสมือนจริง (Field Training Exercise : FTX) ซึ่งแบ่งเป็น ๗ ขั้นตอน ได้แก่ การสื่อสารในการรับแจ้งเหตุเพื่อรายงานขอความช่วยเหลือและการประสานงาน การจัดตั้งกองอำนวยการเฉพาะกิจในการบัญชาการสั่งการ การอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและบริหารพื้นที่เกิดภัย การรายงานเพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือ รวมทั้งการประสานการปฏิบัติและสนับสนุน
การนำผู้ประสบภัยเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัย การปฐมพยาบาลและการนำส่งต่อ และการตรวจสอบเพื่อค้นหาผู้สูญหาย ทั้งนี้ การฝึกซ้อมแผนดังกล่าวนอกจากจะสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัยในการป้องกันภัยแก่ประชาชนแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างทักษะ ความชำนาญในการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์
รวมทั้งการปฏิบัติการร่วมกันแบบบูรณาการในการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้กับบุคลากรผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว และส่งเสริมภาพลักษณ์ของความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางน้ำของจังหวัดให้สมบูรณ์และยั่งยืนต่อไป