กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--Vero PR
เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นจับกุมบริษัทหลายแห่งใน 6 จังหวัดระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคมนี้ พบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท
บริษัทเหล่านี้ดำเนินธุรกิจหลากหลาย ทั้งผลิตสินค้า ให้บริการด้านสถาปนิก อิเล็กทรอนิกส์ บรรจุภัณฑ์ และก่อสร้างเจ้าหน้าที่ตำรวจย้ำว่าการเข้าตรวจค้นจับกุมบริษัทเหล่านี้ เป็นการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง ในเดือนเมษายน เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก. ปศท.) นำกำลังเข้าตรวจค้นจับกุมบริษัท 9 แห่ง ตามเบาะแสที่ได้รับและจากการสืบสวนเบื้องต้นว่ามีการใช้ซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ในปี 2552 นี้ ตำรวจเข้าตรวจค้นจับกุมบริษัทที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เฉลี่ยเดือนละ 6 ครั้ง โดยเข้าตรวจค้นสำนักงานและได้ตั้งข้อหาแก่กรรมการของบริษัทที่มีการใช้ซอฟต์แวร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์
“ตั้งแต่ต้นปีมานี้ เราเข้าตรวจค้นจับกุมบริษัทที่ต้องสงสัยว่าละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทุกสัปดาห์” พ.ต.อ. ศรายุทธ พูลธัญญะ รองผู้บังคับการบก. ปศท. กล่าว “มีเพียงการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่องเท่านั้นที่จะช่วยลดการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยได้”
แนวทางนี้ดูเหมือนจะได้ผล เนื่องจากผลการศึกษาล่าสุดของไอดีซีพบว่า ในปี 2551 อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่ใช้บนเครื่องพีซีของไทยลดลง 2 เปอร์เซ็นต์
ในการเข้าตรวจค้นจับกุมระลอกล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังเข้าตรวจค้นบริษัทในกรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง อยุธยา ปราจีนบุรี และสุมทรสาคร พบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของออโต้เดสค์ โซลิดเวิร์ก ไทยซอฟต์แวร์เอ็นเตอร์ไพร์ส และอื่นๆ
ตำรวจกำลังอยู่ระหว่างการสืบสวนและรวบรวมหลักฐานเพื่อเข้าตรวจค้นจับกุมบริษัทอีกหลายสิบแห่ง โดยประเมินว่าจะดำเนินการตรวจค้นจับกุมบริษัทที่ละเมิดลิขสิทธิ์ทุกสัปดาห์เป็นอย่างน้อยตลอดปี 2552 นี้ บริษัทซึ่งใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วประเทศอยู่ในข่ายที่อาจถูกตรวจค้นจับกุมได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเสริม
“อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ชื่นชมกับการดำเนินงานเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องของทางตำรวจ” นางสาวศิริภัทร ภัทรางกูร โฆษกคณะกรรมการกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ประจำประเทศไทยกล่าว “ด้วยทรัพยากรในมือที่มีอยู่อย่างจำกัด ถือว่าตำรวจทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากแล้ว องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่อาจไม่รู้ว่ามีการเข้าตรวจค้นจับกุมบริษัทที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ แต่เรารู้และเราขอขอบคุณทางตำรวจเป็นอย่างยิ่งที่ให้การสนับสนุนและปกป้องนวัตกรรมของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์” นางสาวศิริภัทรกล่าวต่อว่า ในบางกรณีพนักงานของบริษัทได้ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์เถื่อนมาใช้งานในกิจการของบริษัท
“อย่างไรก็ดี กรรมการต้องตรวจสอบว่ามีซอฟต์แวร์ใดที่ถูกใช้งานอยู่ในสำนักงานของบริษัท” นางสาว ศิริภัทรกล่าว “เป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารที่ต้องแจ้งให้พนักงานของตนทราบถึงนโยบายด้านซอฟต์แวร์ขององค์กรเพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา”
ผู้บริหารองค์กรธุรกิจสามารถศึกษาข้อมูลและข้อเสนอแนะในเรื่องการปฏิบัติให้สอดคล้องกับ ที่ www.stop.in.th หรือที่ www.bsa.org นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบปฏิทินการจัดสัมมนาฟรีเรื่อง การบริหารจัดการทรัพย์สินประเภทซอฟต์แวร์ (Software Asset Management หรือ SAM Seminar) ซึ่งจะให้ข้อมูลเรื่องการจัดการซอฟต์แวร์แท้เพื่อให้เกิดผลผลิตและความปลอดภัยสูงสุด
นอกจากนี้ บีเอสเอยังเปิดสายด่วนเพื่อรับรายงานเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ผู้แจ้งเบาะแสผ่านทาง สายด่วน โทร 02-714-1010 หรือทางออนไลน์ มีสิทธิ์ได้รับรางวัลเงินสดสูงสุดถึง 250,000 บาท ข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ
สรุปผลการเข้าตรวจค้นจับกุมบริษัทที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ตั้งแต่มกราคม 2551 ถึงเดือนเมษายน มีบริษัททั้งหมด 77 แห่ง ใน 15 จังหวัดถูกตั้งข้อหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เครื่องพีซีที่มีซอฟต์แวร์เถื่อนบรรจุอยู่ 2,244 เครื่องถูกยึด คิดเป็นมูลค่าซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดกว่า 238 ล้านบาท
ติดต่อข้อมูลข่าว
อาทิมา ตันติกุล
artima@veropr.com
+66 (0) 2684-1551# # #
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 6841551 Vero PR