รศ.ดร.สังศิต บุกยื่นสมุดปกขาวต่อ รมว.คลัง จี้ทำแผนแม่บท - ยกระดับ สคร. พัฒนารัฐวิสาหกิจไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 4, 2009 15:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม “รศ.ดร.สังศิต” ยื่นสมุดปกขาวต่อ รมว.คลัง เสนอรูปแบบและกระบวนการพัฒนาและการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการพัฒนารัฐวิสาหกิจด้วยหลักธรรมาภิบาล โดยการจัดทำแผนแม่บทและยกระดับหน่วยงานกำกับดูแล ให้มีบทบาทกว้างขวาง ครอบคลุมยิ่งขึ้น ชี้หากทำอย่างจริงจังจะช่วยเพิ่มศักยภาพการเงินการคลัง ผลักดันขีดความสามารถทางการแข่งขันของชาติเทียบนานาอารยประเทศ วันนี้ (4 มิถุนายน 2552) ที่กระทรวงการคลัง รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานและผู้อำนวยการโครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ได้เข้ายื่นสมุดปกขาวเรื่อง “การพัฒนาและการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการพัฒนารัฐวิสาหกิจด้วยหลักธรรมาภิบาล” ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รศ.ดร.สังศิต เปิดเผยภายหลังการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า ทางโครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล จัดทำสมุดปกขาวดังกล่าว ซึ่งมีความหนาประมาณ 20 หน้า เนื่องจากเล็งเห็นว่ารัฐวิสาหกิจของไทยซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้นจำนวน 59 แห่ง มีขนาดใหญ่ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมาก ซึ่งถ้ารัฐบาลให้ความสนใจกับการพัฒนารัฐวิสาหกิจอย่างจริงจัง มีโอกาสที่รัฐวิสาหกิจเหล่านี้จะช่วยเหลือประเทศทางด้านการเงิน การคลัง โดยอาจจะลดการสูญเสียลงหรือเพิ่มรายได้จากการดำเนินงาน และการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงถ้าเป็นไปได้จะสามารถระดมทุนในตลาดทุน เพิ่มฐานะการคลังให้รัฐได้ดีมากยิ่งขึ้น “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจมีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยในหลายๆ ด้าน แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อนำประสิทธิภาพของการดำเนินงานมาเปรียบเทียบกับภาคเอกชนหรือเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่มีการพัฒนาแล้วพบว่าประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจของไทยยังมีช่องทางที่จะปรับปรุงและพัฒนาได้อีกมาก ซึ่งเมื่อเทียบกับขนาดแล้วน่าจะเป็นจำนวนเงินมหาศาลที่เราสูญเสียโอกาสไป” รศ.ดร.สังศิต กล่าว สำหรับกระบวนการพัฒนารัฐวิสาหกิจที่โครงการฯ ได้นำเสนอนั้น ส่วนหนึ่งได้มาจากการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ สื่อมวลชน รวมถึงองค์กรเอกชน ซึ่งต่างก็มีความเห็นพ้องกันว่าควรจะเพิ่มบทบาทหรือพัฒนารูปแบบการบริหารแบบเอกชนในกิจการที่รัฐวิสาหกิจดำเนินการอยู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และให้ประชาชนได้บริโภคสินค้าและบริการที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม ส่วนที่เห็นต่างกันก็คือแนวทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจ และรายชื่อของรัฐวิสาหกิจที่ควรดำเนินการก่อนหลัง ทางโครงการฯ มีความเห็นว่า รัฐวิสาหกิจควรถอนตัวจากกิจการที่เอกชนดำเนินงานได้ดีกว่า แต่ให้รัฐยังคงกิจการที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติที่มีข้อผูกพันทางสังคมและที่ไม่ให้ผลตอบแทนเชิงพาณิชย์แต่มีความจำเป็นต่อคุณภาพชีวิต และที่สำคัญที่สุด กระบวนการพัฒนารัฐวิสาหกิจต้องนำหลักธรรมาภิบาลมากำกับดูแล ทั้งการกำหนดรูปแบบและขั้นตอนการพัฒนา การดำเนินงาน รวมไปถึงต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุดเพื่อให้การพัฒนาเกิดประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้นการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และลดภาระของภาครัฐ ทางโครงการฯ นำเสนอว่าควรมีการดำเนินการใน 2 ประเด็นหลักด้วยกัน คือ 1.กระบวนการพัฒนา จะประกอบไปด้วยขั้นตอน คือ การจัดทำแผนแม่บทของการพัฒนารัฐวิสาหกิจโดยรวมเพื่อให้สังคมมีส่วนร่วม การปรับโครงสร้างของธุรกิจเพื่อนำไปสู่การแข่งขัน การปรับเปลี่ยนให้เป็นนิติบุคคลรูปบริษัทเพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน การดำเนินงานในเชิงพาณิชย์เพื่อแข่งขันได้ในระบบตลาด และการเพิ่มบทบาทของเอกชนในรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน 2.ผู้รับผิดชอบในการดำเนินการพัฒนารัฐวิสาหกิจและการกำกับดูแล โดยผู้รับผิดชอบด้านการพัฒนารัฐวิสาหกิจควรจะยกระดับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตรง และรายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้สามารถดูแลรัฐวิสาหกิจได้ในทุกกระทรวงที่สังกัดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนคณะกรรมการกำกับดูแลนั้นควรจะเป็นองค์กรอิสระเพียงคณะเดียวเพื่อให้มีแนวนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน แต่จะมีอนุกรรมการเป็นรายสาขาตามความเหมาะสม ควรมีการกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการโดยมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการกำกับดูแล พร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการกำกับดูแลจากต่างประเทศ โดยมีหน้าที่หลัก 2 ประการ คือ การคุ้มครองผลประโยชน์ของสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการพัฒนาและส่งเสริมการแข่งขัน ทั้งนี้ ทางโครงการฯ หวังว่าถ้าประเทศไทยมีกระบวนการพัฒนารัฐวิสาหกิจที่เหมาะสมชัดเจน พร้อมทั้งมีการกำกับดูแลให้เป็นไปตามเป้าหมาย นอกจากจะทำให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ลดภาระทางด้านการเงินและการคลังของประเทศแล้ว ยังจะส่งผลให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับนานาประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศในอีกหลายๆ ด้าน ศูนย์บริการวิชาธรรมาภิบาล สาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล โครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม : www.thaigoodgovernance.org รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ: โทร.02-248-7967-8 ต่อ 118 , 119 โทรสาร. 02-248-7969

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ