กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--ซีพีเอฟ
ซีพีเอฟ เดินหน้าลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในสหพันธรัฐรัสเซีย ตั้งโรงงานอาหารสัตว์และธุรกิจสุกรครบวงจร ซึ่งมีโอกาสเติบโตสูง สามารถผลิตเพื่อตอบรับความต้องการของตลาดในประเทศที่มีมากและส่งออกตลาดต่างประเทศในอนาคต
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ทำพิธีเปิดโรงงานอาหารสัตว์และธุรกิจสุกรครบวงจรอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาอย่างยิ่งใหญ่ ณ เมืองลุคโควิสซี่ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซียภายใต้ชื่อ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ฟู้ดส์ (โอเวอร์ซีส์) จำกัด (Charoen Pokphand Foods (Overseas) Co.,Ltd) ด้วยทุนจดทะเบียน 900 ล้านรูเบิล (1 รูเบิล = 1.1 บาท) โดยมี นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมแขกผู้มีเกียรติ มร.ติกราน คาราฮานอฟ (Mr. Tigran Karahanov) รัฐมนตรีเศรษฐกิจและการค้าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สหพันธรัฐรัสเซีย มร. เยฟเกนี อะฟานาเซียฟ (H.E. Mr. Yevgeny V. Afanasiev) เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซีย ประจำประเทศไทย และนายสุพจน์ ธีรเกาศัลย์ เอกอัครราชทูตไทย ประจำสหพันธรัฐรัสเซีย เข้าร่วมในพิธีเปิดด้วย
“การลงทุนต่างประเทศครั้งนี้เป็นการลงทุนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อซีพีเอฟ รัสเซียเป็นประเทศที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย มีพื้นที่เหมาะสม ประชากรมีความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากรัฐบาลรัสเซีย ทำให้ซีพีเอฟเป็นธุรกิจแรกของไทยที่สามารถเข้าไปลงทุนด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารในรัสเซีย ด้วยงบลงทุน 3,500 ล้านบาท (100 ล้านเหรียญสหรัฐ) ทั้งนี้ โรงงานอาหารสัตว์ที่นี่นับเป็นโรงงานทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของซีพีเอฟ และเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในรัสเซีย มีกำลังการผลิตประมาณ 240,000 ตันต่อปี เน้นการผลิตอาหารสุกร ไก่ และวัว โดยมีระบบความปลอดภัยด้านอาหารด้วยขบวนการตรวจสอบย้อนกลับได้ในทุกขั้นตอนการผลิต และมาตรฐานคุณภาพระดับสากล” นายอดิเรก กล่าวและว่า
สร้างฟาร์มสุกรรองรับความต้องการบริโภค
นอกจากโรงงานอาหารสัตว์แล้ว ในส่วนฟาร์มสุกร บริษัทวางแผนภายใน 5 ปี จะสามารถผลิตสุกรขุนจำนวน 1 ล้านตัวต่อปี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง 2 ฟาร์ม ฟาร์มแรกเป็นฟาร์ม GGP (ทวดพันธุ์) และ GP (ปู่ย่าพันธุ์) ขนาดความจุรวมประมาณ 2,400 แม่ และฟาร์มที่สองเป็นฟาร์มสุกรรุ่นพันธุ์ ขนาดความจุประมาณ 18,000 ตัว
“ปัจจุบัน ชาวรัสเซียนิยมบริโภคเนื้อสัตว์เป็นอย่างมาก มีความต้องการบริโภคเนื้อสุกรถึง 2.75 ล้านตันต่อปี เปรียบเทียบกับอัตราการผลิตในประเทศที่สามารถผลิตได้ 2 ล้านตันต่อปี ทำให้ยังขาดแคลนและต้องนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศอยู่ประมาณ 750,000 ตันต่อปี การที่ซีพีเอฟตั้งโรงงานอาหารสัตว์และธุรกิจสุกรครบวงจรครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่ดีของซีพีเอฟ ชาวรัสเซียจะได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ ทำให้เชื่อมั่นว่า ในอนาคต นอกจากจะไม่ต้องนำเข้าแล้ว ยังสามารถขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปอื่นๆต่อเนื่องได้อีก รวมทั้งสามารถจำหน่ายไปยังต่างประเทศ ซึ่งหลังประสบความสำเร็จในรัสเซียแล้ว เป้าหมายต่อไป คาดว่าจะขยายการลงทุนไปยังยูเครนและยุโรปตะวันออก”
การลงทุนครั้งนี้ นับเป็นอีกย่างก้าวสำคัญของซีพีเอฟ ซึ่งยังยึดนโยบายหลัก 3 ประการที่ประธานธนินท์ เจียรวนนท์ ให้ความสำคัญมาโดยตลอดในการดำเนินธุรกิจในทุกประเทศที่ซีพีไปลงทุน คือ จะต้องเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ สร้างประโยชน์ต่อประชาชนในประเทศนั้น และสุดท้ายเกิดประโยชน์ต่อบริษัท
มั่นใจปีนี้กำไรเพิ่ม ปันผลมากขึ้น
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กล่าวถึงการดำเนินงานของซีพีเอฟในปีนี้ว่า อนาคตธุรกิจอาหารยังมีโอกาสท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ มั่นใจดำเนินนโยบายและกลยุทธ์ถูกทาง ส่งผลการดำเนินงานปี 2552 โดดเด่นกว่าปีที่ผ่านมา โดยปรับประมาณการยอดขายอาจเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2551 ในอัตรา 10% ด้วยพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง การลงทุนด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์ CP การขยายการลงทุนไปประเทศอื่นๆ และการส่งออกสินค้าอาหารทั้งกุ้งและไก่ยังดีต่อเนื่อง มั่นใจปีนี้สามารถจ่ายเงินปันผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นได้มากกว่าปี 2551
“บริษัทดำเนินนโยบายปรับโมเดลธุรกิจไปสู่ฟู้ดส์หรืออาหารมากขึ้น ได้ขยายธุรกิจจากสินค้าอาหารสัตว์และสินค้าจากการเลี้ยงสัตว์ สู่ธุรกิจอาหารพร้อมรับประทานภายใต้แบรนด์ CP มากว่า 4 ปี ด้วยความมุ่งมั่นในการผลิตสินค้าอาหารที่ปลอดภัย ถูกสุขอนามัยและมีรสชาดที่ถูกใจผู้บริโภค โดยวันนี้ซีพีเอฟส่งออกสินค้าอาหารภายใต้แบรนด์ CP ไปกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ซี่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด ในปีที่ผ่านมาอัตราการเติบโตของการส่งออกโดยเฉพาะเกี๊ยวกุ้งเพิ่มกว่า 100% และในปีนี้ ยังคงคาดการณ์การเติบโตของสินค้ากลุ่มนี้อีก 100% จากปี 2551” นายอดิเรก กล่าว
นอกจากฐานการตลาดในประเทศไทยแล้ว ซีพีเอฟได้ผลักดันสินค้าอาหารส่งออกให้มากขึ้น ทั้งตลาดใหม่และสินค้าใหม่ โดยปัจจุบัน บริษัทมีการส่งออกสินค้าในส่วนของไก่ กุ้ง และอาหาร ไปมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก และยังเห็นศักยภาพการขยายตัวในประเทศต่างๆอย่างต่อเนื่อง
เน้นประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และการควบคุมต้นทุนทุกขั้นตอน
ด้านฐานการผลิต ซีพีเอฟขยายฐานการผลิต โดยเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานหรือฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หรือโรงงานแปรรูปในอีก 8 ประเทศ ได้แก่ ตุรกี มาเลเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ อังกฤษ จีน อินเดีย และล่าสุดประเทศรัสเซีย โดยโครงการลงทุนที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนด้วยความระมัดระวัง และเมื่อโครงการเหล่านั้นประสบความสำเร็จ จึงเริ่มขยายธุรกิจ ซึ่งประเทศต่างๆเหล่านี้โดยเฉพาะอินเดียและรัสเซียเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการขยายธุรกิจของบริษัทอีกมากในอนาคต
ซีพีเอฟ อนาคตสดใส
ปี 2552 นี้ถ้าพิจารณาที่ต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะด้านวัตถุดิบต้นทาง เช่น ข้าวโพดและกากถั่วเหลืองนั้น คาดว่าระดับราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 10-15% แต่ราคาอาจมีการผันผวนตามฤดูกาลบ้าง อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของราคาคงไม่น่าจะเหมือนปี 2551 ที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติอย่างมากตามระดับราคาน้ำมันโลก ขณะที่ ด้านระดับราคาสินค้าเนื้อสัตว์ คาดว่าจะปรับตัวสู่ภาวะปกติ สำหรับราคาสินค้าส่งออกยังคงอยู่ในระดับที่ดี โดยเฉพาะสินค้าอาหารพร้อมรับประทานภายใต้ แบรนด์ CP ซึ่งทำให้คาดว่าระดับการทำกำไรของบริษัทน่าจะกลับสู่ภาวะปกติของธุรกิจ
ในอนาคต ซีพีเอฟมองธุรกิจอาหารต้องเน้นในเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพ ต้นทุน และความปลอดภัยของอาหาร เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เนื่องจากวันนี้รูปแบบในการทำธุรกิจมีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้หลายอย่าง จึงพยายามพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจอยู่ตลอดเวลา ต้องทำให้บริษัทมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง มีระบบการทำงานที่มีประสิทธิผล ระบบการตรวจสอบอย่างทันท่วงที และที่สำคัญต้องมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ เป็นคนดีคนเก่งขององค์กร
สำนักสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ซีพีเอฟ
โทร. 02-625-7344-5, 02-631-0641, 02-638-2713