กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา
เจ้าเอื๊อก
ฉบับ “แผ่นดินแห่งความหวัง” วารสาร “รางวัลลูกโลกสีเขียว”
ผมเป็นเด็กที่ไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ (เป็นคำกล่าวหาจากแม่ผมเอง) แต่ผมก็มีเหตุผลนะ ก็การอ่านหนังสือมันไม่เร้าใจ สู้เกมคอมพิวเตอร์ไม่ได้
วันหนึ่คอมพิวเตอร์ที่บ้านดันเสีย (แน่นอนว่าแม่ต้องโทษผมแหงอยู่แล้ว) แม่คงจะรำคาญที่เห็นว่าผมป่วนไปทั่วบ้าน เลยยื่นหนังสือมาเล่มหนึ่งให้ผม ชื่อว่า “ประสบการณืยิ่งใหญ่ในหมู่บ้านเล็กๆ“ (โอ๊ย! เสียงผมโวย) แล้วสรุปว่าเรื่องมันเป็นอย่างไรเพื่อว่าแม่จะเอาไปลงหนังสือ แล้วแม่จะออกค่าซ่อมคอมพ์ให้ (เสียงโดยวายของผมค่อยเบาลง)
เพื่อให้ความทรมานของผมจบลงไวๆ แมก็ลุยอ่านจนจบภายใน ๒ วันครึ่ง และต่อไปนี้คือเนื้อหาของมัน...
มีหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งกลางหุบเขาในจังหวัดโคจิ เกาะชิโกกุ มีชื่อว่า “อุมะจิ” สมัยก่อน การจะไปถึงหมู่บ้านต้องไปด้วยม้าเท่านั้น หมู่บ้านนี้จีงได้ชื่อว่าอุมะจิ แปลว่า ทางม้า
สมัยก่อน หมู่บ้านมีรายได้จากทำสัมปทานป่าไม้สน พอหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองราวปี ๒๔๙๐ ญี่ปุ่นก็ปรับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ยุติการทำไม้ (ส่วนบ้านเราแม่บอกว่าเลิกการทำไม้เมื่อปี ๒๕๓๐) ที่หมู่บ้านอุมะจิ ชาวบ้านเปลี่ยนจากการทำไม้มาเป็นการหาจุดเด่นของตัวเองเพื่อสร้างรายได้ ก็พบว่ามีที่แหล่งน้ำแร่ร้อน มีส้มยูสุป่าที่เกาะอยู่ตามหน้าผาทั่วไป ที่เกาะชิโกกุนั้นเป็นแหล่งส้มยูสุชั้นยอด ด้วยเหตุนี้ ในปี ๒๕๐๖ ชาวบ้านก้เลยเอาพันธุ์ยูสุจากป่ามาพัฒนา และทำอาชีพเพาะต้นกล้าเพื่อให้สหกรณ์การเกษตรเอาไปขาย (ระบบสหกรณ์การเกษตรของญี่ปุ่นเกิดพร้อมๆ กับการยกเลิกสัปทานไม้)
แต่หมู่บ้านอุมะจินั้นเป็นสังคมผู้สูงอายุส่วนใหญ่ เพราะคนหนุ่มสาวออกไปทำงานนอกบ้านเกิด ลุงป้าที่นี่ไม่เห็นด้วยกับการใช้สารเคมี ก็แน่นอนว่าส้มยูสุที่นี่จึงไม่งาม ขายสดไม่ได้ราคา เหลือเพียงหนทางเดียว คือต้องแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ให้ได้
ที่สหกรณ์การเษตรหมู่บ้านอุมะจินี้ มีลุงคนหนึ่งชื่อ โมจิฟูมิ โตทานิ เป็นหัวหน้าแผนกของสหกรณ์การเกษตรเล็กๆ แห่งนี้ ลุงโตทานิเป็นกลไกสำคัญในการแปรรูปส้มยูสุ และมีจุดยืนว่า “ต้องขายส่งตรงจากบ้านเรา” แต่หนทางนั้นยาวไกลและไม่ง่ายเลย ไม่สะดวก ไม่พอใจ ไม่ ไม่ และไม่ เป็นงานที่ยากลำบากอย่างยิ่ง และความพยายามนั้นก็ค่อยๆ ผลิดอกออกผล จนวันหนึ่ง จู่ๆ ละครก็เปิดโรง และดำเนินไปอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบัน โรงงานแปรรูปยูสุในหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีประชากรประมาณ ๑,๒๐๐ คนแห่งนี้ มีพนักงาน ๓๒ คน ในปี ๒๕๔๐ มียอดขายผลิตภัณฑ์สูงถึง ๑,๘๓๐ ล้านเยน (ผมเขียนถูกครับ... ล้านเยน” ทุกอย่างเป็นงาน “ขายตรง” จากหมู่บ้าน มีสมาชิกทั่วประเทศและน้ำยูสุพร้อมดื่มชื่อ “เจ้าเอื๊อกบ้านอุมะจิ” แล้วก็ยังมีผงยูสุสำหรับผสมอาบน้ำทำจากเปลือกยูสุ มีน้ำมันนวดหน้าที่สกัดจากเม็ดยูสุ มีโรงแรงน้ำแร่ที่ซ่อนตัวอยู่ริมธาร ด้วยรูปแบบการก่อสร้างที่เคารพธรรมชาติ ไม่ฉูดฉาด เอาไว้คอยต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือน
เอ๊า...แค่จั่วหัวก็ยาวซะงั้น ยังมีสารพัดวิธีที่ลุงโตทานิและชาวบ้านคิดค้นออกมาอีกมากมาย ทำให้หมู่บ้านอุมะจิกลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงนิเวศของแท้ และรักษาธรรมชาติไว้ได้นานๆ (ผมอยากยืมคำที่แม่ชอบพูดบ่อยๆ ว่า “ยั่งยืน” มาใช้มั่งจัง)
ผมอยากให้ท่านมารู้จัก “เจ้าเอื๊อก” ที่ลุงโตทานิสร้างขึ้นมา (หน้าตาเหมือนปกหนังสือที่ถ่ายรูปมาให้ดูนี่แหละ) มันเป็นยี่ห้อน้ำผลไม้ก็จริง แต่ดูมีตัวตนยังไงไม่รู้ อาจจะเป็นเพราะว่าชุมชนในญี่ปุ่นไม่ปฏิเสธเรื่องการตลาดว่าเป็นเรื่องของนายทุนอย่างเดียว รู้จักเอาการตลาดมาใช้ให้เหมาะสมกับชนบท ผมคิดเอาเองว่า ความรู้ไม่ใช่ของน่ารังเกียจ ไม่เห็นจะต้องแบ่งขั้วว่าความรู้นี้ควรจะเป็นของคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้
ผมหวังว่าคอมพ์ที่บ้านจะซ่อมเสร็จเร็วๆ ไม่อย่างงั้น แม่คงจะยัดเยียดหนังสือเล่มใหม่มาให้อ่านอีกแน่ๆ เลย แล้วมันจะเป็นธุระให้พวกคุณต้องมาอ่านไอ้สิ่งที่ผมเขียนอีกน่ะสิ
ทรมานกันแย่เลย!
ประสบการณ์ยิ่งใหญ่ในหมู่บ้านเล็กๆ (พิมพ์ครั้งที่ ๒ ปรับปรุงใหม่ ปี ๒๕๕๑)
มาซิฮิโกะ โอโตชิ-เขียน
มุทิตา พานิช-แปล
สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา
สั่งซื้อได้ทาง www.suan-spirit.com
โทรฯ ๐๒-๖๒๒-๐๙๕๕, ๐๒-๒๒๒-๕๖๙๘
ราคาเล่มละ ๒๓๘ บาท รวมค่าจัดส่งภายในประเทศ
ส่วนค่าจัดส่งต่างประเทศและต่างโลก ควรโทรฯ ไปสอบถามราคา
จาก แม่นายลูกหมี
คอลัมน์ “อาหารสมอง”
วารสาร “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ฉบับ “แผ่นดินแห่งความหวัง”
ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๑๓ ประจำเดือน มกราคม- มีนาคม ๒๕๕๒