เตารมยางลดต้นทุน iTAP ฉลุย ประหยัดฟืนไม้ยาง35%-ฟุ้งเทงบสร้างอีก12แห่ง

ข่าวทั่วไป Monday June 8, 2009 14:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--ไอแอนด์ไอ คอมมิวนิเคชั่น iTAP ระดมสมองผู้เชี่ยวชาญพัฒนาเตาอบยางแผ่นรมควันประหยัดพลังงานต้นแบบให้ สกย.เมืองคอนจนสำเร็จ เสริมศักยภาพการรมยางแผ่นให้ได้มาตรฐาน ป้องกันเชื้อเพลิงปะทุต้นเหตุเพลิงไหม้ห้องรมยาง ที่ปรึกษาโครงการฯ ยันลดการใช้ฟืนไม้ยางได้มากถึง 35 % พร้อมจับมืออุตสาหกรรมภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย4จังหวัดคลอดงบระลอกใหม่ลุยสร้างเตาอบลดต้นทุนรวม 12 เตา สู่โรงรมยางภาคใต้ สหกรณ์กองทุนสวนยางพารา (สกย.) จัดตั้งขึ้นตามนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาราคายางตกต่ำในระยะยาว ปัจจุบันมีสมาชิกสหกรณ์ฯ อยู่กว่า 700 แห่ง และกำลังประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากปัจจัยหลายด้าน โดยเฉพาะไม้ยางพาราซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตยางแผ่นรมควันมีราคาสูง ส่วนหนึ่งมีผลมาจากการแข่งขันทางด้านการตลาดที่มีการนำไม้ยางพาราไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นมากขึ้น จนดูเหมือนว่ากลุ่มสหกรณ์กำลังตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อกระบวนการผลิต ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากราคาไม้ยาง ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แสดงความคิดเห็นภายหลังเดินทางตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาต้นแบบเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงาน ที่ทางอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เครือข่ายโครงการ iTAP ภายใต้ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาขึ้นเพื่อมุ่งเน้นช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพยางแผ่นรมควัน ที่สหกรณ์กองทุนสวนยางพาราบ้านหนองแดงสามัคคี อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ว่า โครงการดังกล่าวเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สามารถให้ความช่วยเหลือสู่ภาคเกษตรกรได้อย่างตรงเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่ม 4 จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลตะวันออก คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มรายได้แล้ว เตาอบรุ่นใหม่ยังช่วยในเรื่องความประหยัดซึ่งในกรณีนี้สามารถลดต้นทุนเชื้อเพลิงซึ่งเป็นไม้ยางพาราในการผลิตยางแผ่นรมควันได้ถึง 60 สตางค์ต่อกิโลกรัม ตรงนี้ถือว่าเป็นกำไรของเกษตรกร เตาอบยางแผ่นรมควันรุ่นใหม่เป็นผลงานการพัฒนาของ iTAP ที่น่าชื่นชมทั้งงานด้านการบูรณาการ ด้านความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เกษตรกรชาวสวนยางพารา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือว่าการเข้ามามีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายหมายถึงทุกคนเป็นเจ้าของโครงการเดียวกันส่งผลให้การพัฒนาดียิ่งขึ้น รมว.วิทยาศาสตร์ ฯ บอกอีกว่า ยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของเกษตรกรภาคใต้ที่มักจะได้รับผลกระทบจากราคาตลาดโลก iTAP ในฐานเป็นหน่วยงานลูกของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกระดับชั้นให้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นการพัฒนายางแผ่นให้มีคุณภาพ ก็เพื่อไม่ให้ราคาก้าวกระโดดขึ้นลงมากจนเกินไป ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่จะต้องหางบประมาณเข้าไปดูแลช่วยเหลือเกษตรกรไทยให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ด้าน บุญโชติ ร่มเย็น ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยาง (สกย.) บ้านหนองแดงสามัคคี จำกัด หมู่ 11 อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เล่าว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้กลุ่ม สกย. ต้องเร่งพัฒนาตัวเองให้อยู่รอดจากผลกระทบของกลไกตลาดโลก ทางสหกรณ์ฯ จึงได้นำปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและความสูญเสียในระหว่างกระบวนการผลิตปรึกษากับสำนักงานอุตสาหกรรม จ. นครศรีธรรมราช เพื่อขอรับความช่วยเหลือ กระทั่งได้รับการติดต่อจาก โครงการสนับสนุนพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP ) ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงมาศึกษาปัญหาของกระบวนการผลิตทั้งหมด โดยพบว่าปัญหาจากเตาอบยางแผ่นรมควันที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีด้วยกัน 2 รุ่น คือ รุ่นแรกสร้างขึ้นเมื่อปี 2537 ต้องใช้ไม้ยาง 1,000 กิโลกรัม จึงจะผลิตยางแผ่นรมควันได้ 1,200 กิโลกรัม ต่อ 5 วัน หรือต่อ 1 รอบของการอบและรมควันยาง รุ่นที่ 2 สร้างขึ้นในปี 2538 ใช้ไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิงในปริมาณเท่ากับปี 2537 แต่สามารถผลิตยางแผ่นรมควันได้ 2,000 กิโลกรัม โดยเตาอบยางที่ สกย. บ้านหนองแดงสามัคคี จำกัดมีอยู่คือ รุ่นปี 2537 ซึ่งเฉลี่ยแล้วต้องเสียค่าใช้จ่ายไม้ยางพารา 1.64 บาท จึงจะผลิตยางแผ่นได้ 1 กิโลกรัม ขณะที่ยางแผ่นรมควันในปัจจุบันมีราคารับซื้อเฉลี่ยเพียง 50 บาทต่อกิโลกรัมทั้งนี้ยังไม่คิดรวมค่าน้ำยางดิบที่รับซื้อมาจากสามาชิกสหกรณ์และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาทิ ค่าแรงงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าขนส่ง เป็นต้น และปัจจุบันสหกรณ์ฯ สามารถผลิตยางแผ่นรมควันได้ 441,000 กิโลกรัมต่อปี โดยสามารถให้บริการแก่สมาชิกสหกรณ์ 142 ราย ผู้จัดการสหกรณ์ฯ บอกอีกว่า ปัจจุบันราคาไม้ยางพาราอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.70 บาท แต่ทางสหกรณ์ยังมีความจำเป็นต้องใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิต เนื่องจากควันจากไม้ยางพารามีคุณสมบัติในการป้องกันเชื้อราแก่ยางแผ่น อย่างไรก็ดีแม้จะมีการนำไม้เงาะมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับไม้ยางพาราในอัตราส่วน 50 ต่อ 50 แต่ก็ยังไม่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ เพราะไม้เงาะมีความหนาแน่นมากกว่าทำให้มีน้ำหนักเยอะ อีกทั้งยังถูกลูกค้าตำหนิในเรื่องสีของยางแผ่นรมควันเปลี่ยนเป็นสีเหลืองใสและสีไม่สม่ำเสมอ ต่างจากยางแผ่นรมควันที่ใช้ไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิงที่จะเป็นสีน้ำผึ้ง หรือสีน้ำตาลเข้ม ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ที่ปรึกษาเทคโนโลยีโครงการสนับสนุนพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล่าถึงที่มาของความร่วมมือในโครงการการสร้างต้นแบบเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงานว่า ได้รับการประสานจาก คุณสิริน์ชนา วิวิฒน์ศิริพงศ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี 2550 ให้เข้ามาช่วยพัฒนากระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันของสหกรณ์กองทุนสวนยางต่างๆ โดยในโครงการแรก iTAP ได้ร่วมกับสหกรณ์กองทุนสวนยางจันดี อ.ทุ่งสง ในการออกแบบเตาอบยางแผ่นรมควันประหยัดพลังงาน โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และจากนั้นได้ส่งผลงานให้ที่ปรึกษาเทคโนโลยีเครือข่าย iTAP มหาวิทยาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ดำเนินการต่อในโครงการที่สอง โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ คือ นายมชิมนต์ธรณ์ พรหมทอง อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าเป็นผู้เชี่ยวชาญควบคุมการสร้างต้นแบบเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงาน โดยได้สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองแดงสามัคคี จำกัด ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่มีความพร้อมอีกทั้งได้เคยรับรางวัลการจัดการสิ่งแวดล้อมดีเด่น ที่กำลังประสบปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามราคาไม้ยางพาราที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง เพื่อเป็นต้นแบบในการเผยแพร่และถ่ายทอดเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้องและเพื่อยกระดับผู้ผลิตให้สามารถเพิ่มช่องทางการแข่งขันได้ จากการศึกษาปัญหาพบว่าเตาอบยางแผ่นรมควันมีสภาพเก่า มีขนาดห้องเผาไหม้เล็ก ประกอบกับมีพื้นที่ถ่ายเทความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงกับอากาศที่นำออกจากห้องอบยางแผ่นรมควัมไม่สมดุลกัน ความร้อนส่วนใหญ่จึงสูญเสียไปกับก๊าซที่ไหลออกจากปล่องควันหรือทางประตูห้องรมยาง ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ที่ผ่านมาพบว่ายางแผ่นกว่า 20 % เป็นยางด้อยคุณภาพ เนื่องจากลมร้อนในห้องรมยางไม่สม่ำเสมอ ในขณะที่ยางแผ่นต้องการความร้อนเพียง 40-60 องศาเซลเซียสเท่านั้น แต่สำหรับเตาใหม่นี้ทางผู้ทำการรมยางสามารถควบคุมและผ่อนถ่ายความร้อนจากเตาได้เองจากบานเปิดปิดท่อส่งความร้อนระหว่างเตากับห้องรมยาง หากเป็นเตาเก่าจะให้ความร้อนในอุณหภูมิที่สูงกว่าและให้ความร้อนไม่สม่ำเสมอส่งผลให้ยางแผ่นไหม้ไม่ได้คุณภาพ ดร.นันทิยา ยังบอกอีกว่า จากการเก็บข้อมูลเบื้องต้นทางเครือข่าย iTAP ก็ได้นำปัญหากลับมาวิเคราะห์และวางแผนงานก่อสร้างเตาอบยางแผ่นรมควันแบบประหยัดพลังงาน โดยมีระยะดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2551 -31 กรกฎาคม 2552 ซึ่งขณะนี้การดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้นลงแล้วเหลือเพียงขั้นตอนการทดลองเดินเครื่องเพื่อปรับปรุงและหารูปแบบในการปรับตั้งเตาอบยางแผ่นรมควันประหยัดพลังงานให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเท่านั้น โดยผลทดลองเดินเครื่องครั้งแรกพบว่า มีประสิทธิภาพในการประหยัดเชื้อเพลิงสูงมากกล่าวคือ เตารุ่นใหม่นี้ใช้เชื้อเพลิง 35 กิโลกรัมต่อการรมยาง 4 ชั่วโมง ในขณะที่เตารุ่นเก่าซึ่งใช้เชื้อเพลิง 35 กิโลกรัมเท่ากัน แต่สามารถรมยางได้เพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น สำหรับเตารุ่นใหม่นี้นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้จริงแล้วยังสามารถเพิ่มการผลิตยางแผ่นรมควันและเพิ่มคุณภาพของยางแผ่นได้เป็นอย่างดี ดร.ศิริชัย กิตติวราพงศ์ หัวหน้างานและที่ปรึกษาเทคโนโลยีโครงการสนับสนุนพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากปัญหาไม้ยางพาราในพื้นที่ที่ขาดแคลนทางสหกรณ์ต้องสั่งซื้อจากแหล่งอื่น รวมถึงมีอุตสาหกรรมอื่นที่แย่งใช้ไม้ยางพาราเพื่อทำผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ประกอบกับการจะตัดไม้ยางได้ต้องรอให้ไม้มีอายุ 20-25 ปี ทำให้เชื่อว่าในอนาคตอาจจะส่งผลกระทบต่อโรงรมยางทุกโรงอย่างแน่นอน ทาง iTAP เห็นความจำเป็นที่ต้องส่งเสริมให้มองหาแหล่งพลังงานอื่นเข้ามาทดแทน ตัวอย่างเช่น การพัฒนาเพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ ขี้เลื่อยจากไม้ยางพาราอัดแท่งทำเป็นเชื้อเพลิงแทนไม้ยางท่อน โดยเฉพาะอาจจะต้องทำงานวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติสารเคมีป้องกันเชื้อราซึ่งมีอยู่ในไม้ยางพาราเพื่อสกัดออกมาใช้ในระบบการอบรมควันยางแผ่น จะเห็นได้ว่าขี้เลื่อยไม้ยางนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจยางแผ่นรมควันแล้วยังเป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของจังหวัดได้อีกด้วย ดร.ศิริชัย ยังบอกอีกว่า เตารุ่นใหม่นอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานได้จริงแล้วยังสามารถแก้ปัญหาให้กับสหกรณ์ได้ถึง 5 เรื่อง ดังนี้ 1.ความปลอดภัยในการใช้เตา กล่าวคือ มีระบบป้องกันเพลิงจนจึงสามารถลดปัญหาสะเก็ดไฟจากไม้ยางพาราสดปะทุ 2.ลดการใช้เชื้อเพลิงได้มากถึง 35 % 3.ยางแผ่นรมควันมีคุณภาพดีขึ้น สีสม่ำเสมอ ไม่ไหม้ เนื่องจากเตาอบรุ่นใหม่มีระบบการถ่ายเทความร้อนได้ 4. คาดว่าสามารถย่นระยะเวลาในการรมยางจากเดิมต้องใช้เวลา 5 วัน ลดลงเหลือเพียง 4 วันหรือน้อยกว่านั้น ประการสุดท้าย เมื่อมีเวลามากขึ้นก็ช่วยให้สหกรณ์สามารถเปิดรับสมาชิกเข้ามาใช้บริการได้มากยิ่งขึ้นด้วย “นอกจากนี้ iTAP และเครือข่ายมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะมีการขยายผลการดำเนินงานในปี 2553 เพื่อร่วมกับงบประมาณของอุตสาหกรรมจังหวัดที่จะได้มาจำนวน 4 ล้านบาท สนับสนุนแก่สกย.ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก 4 จังหวัด เพื่อนำไปขยายผลในการจัดสร้างเตาอบยางแผ่นรมควันประหยัดพลังงานให้กับสหกรณ์ฯ อื่นๆ รวม 12 เตา โดยแยกเป็นจังหวัดละ 3 เตา”ดร.ศิริชัย ชี้แจง การนำองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเข้าไปช่วยเหลือสหกรณ์กองทุนสวนยางพาราซึ่งมีสมาชิกเป็นเกษตรกรนั้นก็หมายถึงการได้ช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง นี้คือบทบาทหน้าที่ของโครงการ iTAP ที่มีต่อสังคมด้านการพัฒนาเพื่อนำไปสู่ความกินดีอยู่ดีของภาคประชาชนอย่างยั่งยืน สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการช่วยเหลือและสนับสนุนจาก โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP.) สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สวทช. สำนักงานกลาง (กทม.) โทร. 0-2564-8000 หรือ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เครือข่าย iTAP ภาคใต้ โทร. 075-673522 หรือ ที่เว็บไซต์ www.tmc.nstda.or.th/itap และ http://itap.wu.ac.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP (สวทช.) โทร. 0-2270-1350-4 ต่อ 115 บริษัท ไอแอนด์ไอ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เลขที่ 59/9 ถ.พหลโยธิน 4 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 โทรศัพท์ 02-2701350-4 โทรสาร ต่อ 108

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ