กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--สวทช.
“จินตนาการ” อาจเป็นเพียงความเพ้อฝันที่เป็นไปไม่ได้สำหรับใครบางคน แต่สำหรับเยาวชน 100 ชีวิตในค่าย “ก้าวเข้าลู่...สู่การนักประดิษฐ์” แล้ว จินตนาการ คือ ความคิดสร้างสรรค์ที่นำไปสู่สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นจริงได้ กิจกรรมดีๆ ที่จัดโดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 27-31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
นางพนิดา วิชัยดิษฐ์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนสู่ความเป็นนักประดิษฐ์ กล่าวว่า ค่าย “ก้าวเข้าลู่...สู่การนักประดิษฐ์” เป็นกิจกรรมที่มุ่งหวังต่อเติมจินตนาการ เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ ให้แก่เยาวชนที่กำลังก้าวเข้าสู่เส้นทางสายนักประดิษฐ์ ด้วยการคัดเลือกเยาวชน 100 คน จากผลงานการประกวดวาดภาพสิ่งประดิษฐ์ในหัวข้อ “สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” หรือ “สิ่งประดิษฐ์ที่อำนวยความสะดวกในชีวิต” มาเข้าค่ายเพื่อทำกิจกรรมฝึกฝนกระบวนการคิดและจินตนาการอย่างเป็นระบบบนพื้นฐานของความรู้กับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำทักษะที่ได้กลับไปพัฒนาต่อยอดชิ้นงาน พัฒนาความคิดสร้างสรรค์หรือแม้แต่เปลี่ยนความคิดแผลงๆให้กลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้งานได้จริงให้มากที่สุดภายในเวลา 1 เดือน จากนั้นคณะกรรมการจะคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุดไปแข่งขันกับเยาวชนที่มาจาก 2 เวที คือ การประกวดสิ่งประดิษฐ์จากเยาวชนทั่วประเทศในโครงการของสพฐ. และเวทีวันนักประดิษฐ์ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อเฟ้นหาตัวแทนประเทศไทยเพียงหนึ่งเดียวเข้าร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ หรือ INTERNATIONAL EXHIBITION FOR YOUNG INVENTORS 2009 ที่ประเทศไนจีเรีย
สำหรับการออกแบบกิจกรรมในค่าย นางมนธิดา สีตะธนี ผู้เชี่ยวชาญ ของศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า กิจกรรมที่ให้ทำเน้นที่การคิด การสร้างจินตนาการ และการพัฒนากระบวนการคิด เพราะเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญของนักประดิษฐ์ โดยเด็กๆ ทำงานกันเป็นทีม ร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างจินตนาการ ช่วยกันวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ เพื่อพิชิตโจทย์อันท้าทาย อาทิ การสร้างชั้นวางของด้วยไม้อัด 4 แผ่น ท่อพีวีซี 3 อัน และเชือกเพียงเส้นเดียว การออกแบบถุงกระดาษบรรจุรองเท้ายางฟองน้ำ พร้อมป้ายสินค้า ที่ต้องตอบโจทย์บริษัทผู้ผลิตให้ได้ตรงกลุ่มผู้ใช้มากที่สุด การใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ต่างๆ เช่น น้ำท่วมโลก การจินตนาการตัวเองเป็นทีมนักสำรวจที่ต้องไปสำรวจสภาพภูมิอากาศบนภูเขาหิมาลัย และต้องพักแรมบนภูเขาเป็นเวลา 3 วัน ภายหลังการเกิดพายุหิมะ ซึ่งเด็กๆจะต้องออกแบบโมเดลเพื่อแสดงให้เห็นว่าทีมนักสำรวจสามารถอยู่รอดมาได้อย่างไร นอกจากนั้นเด็กๆ ยังได้ฝึกการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่ต้องสร้างจินตนาการของผลิตภัณฑ์ไปในอนาคต รวมทั้งการทำกิจกรรมเพื่อเรียนรู้กระบวนการทำสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้ทุกกิจกรรมมีวิทยากรมาให้ความรู้และมีคุณครูในค่ายช่วยดูแลเด็กทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย การออกแบบกิจกรรมในค่าย เลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย เป็นสิ่งใกล้ตัว ราคาถูก และเด็กสามารถใช้ทำกิจกรรมเพื่อแปลงความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นชิ้นงานได้
“น้องโรส” หรือ ด.ญ.นิภาภร นันตะระ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนเมืองใหม่ จังหวัดลพบุรี กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ได้เปิดกว้างความคิดและจินตนาการทางการประดิษฐ์เป็นอย่างมาก โดยกิจกรรมที่ประทับใจ คือ การสร้างชั้นวางของ เพราะไม่คิดมาก่อนว่าแค่แผ่นไม้อัด เชือก ท่อพีวีซี จะกลายเป็นชั้นวางของที่มีความแข็งแรงได้ ทำให้เริ่มหันกลับมามองว่าบางทีของใกล้ๆ ตัวที่ไม่มีค่า อาจจะกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหม่ที่มีประโยชน์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ด้าน “น้องโน๊ต” หรือ นายธนัท ตันติภาสน์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) 2 กรุงเทพมหานคร เจ้าของผลงานภาพสิ่งประดิษฐ์เตาอบพลังงานแสงอาทิตย์ระบบเลนส์นูน กล่าวว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากค่ายนี้ คือ การสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ดี บางครั้งจินตนาการอย่างเดียวอาจไม่พอ ต้องมีองค์ความรู้ด้วย เพราะถ้านำข้อมูลความรู้ที่มีหรือที่ศึกษาค้นคว้ามาได้ มาเสริมสร้างจินตนาการที่ไร้ขีดจำกัด ก็จะทำให้สิ่งประดิษฐ์ที่พัฒนาขึ้นมีความน่าเชื่อถือและสร้างประโยชน์ต่อผู้อื่นได้มากขึ้น นอกจากนี้ทุกกิจกรรมโดยเฉพาะ กิจกรรม The Survival ช่วยฝึกให้ทุกคนคิดได้อย่างเป็นระบบ ต้องมีการวางแผน มีขั้นตอน มีการแบ่งงาน รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่สำคัญ คือ การได้ทำงานร่วมกันเป็นทีม และ การทำให้เรารู้จักเปิดใจยอมรับความเห็นของผู้อื่น แม้แต่มุมมองความคิดของเพื่อนๆ น้อง ก็ช่วยต่อเติมความคิดของเราให้กว้างมากขึ้นได้
ขณะที่ “น้องน้ำ” หรือ ด.ญ.สุทธินี ชุ่มเย็น จากโรงเรียนยุพราช จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ค่ายนี้ไม่เพียงช่วยฝึกคิด ฝึกจินตนาการ แต่น้องน้ำยังได้ค้นพบทักษะสำคัญที่หายไปในการเป็นนักประดิษฐ์ด้วย คือระบบการคิดที่ต้องมีการคิดอย่างเป็นขั้นตอน การฝึกการวางแผนในการทำงาน และการทำงานเป็นทีม จากเดิมที่คิดไปเรื่อยๆ ว่าจะทำอะไรบ้าง แต่ตอนนี้เริ่มรู้แนวทางว่า การออกแบบสิ่งประดิษฐ์ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์ แต่สามารถที่จะต่อยอดความรู้ได้ เช่น การออกแบบดินสอ อาจเริ่มต้นด้วยการหาข้อมูลที่มีอยู่ก่อนว่าปัจจุบันมีดินสอรูปแบบใดบ้าง แล้วคิดวิเคราะห์ถึงสิ่งที่ขาดไปหรือสิ่งที่อยากให้มีเพิ่มขึ้นมา จากนั้นก็ค่อยๆคิดใหม่ และจินตนาการว่าจะทำให้ดินสอที่มีอยู่ต่างจากเดิมได้อย่างไร และเริ่มมองหาว่าจะเปลี่ยนสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ด้วยวิธีใดบ้าง
แนวทางการคิดง่ายๆ ในการทำกิจกรรมค่าย หากทุกคนฝึกคิด ฝึกทำบ่อยๆ ก็จะเห็นได้ว่าความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่พรสวรรค์ แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนสร้างได้ และพัฒนาได้
ติดต่อขอข้อมูลและภาพประกอบได้ที่ 02-5647000 ต่อ 1489