กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--ปชส.จร.
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยได้ขอเจรจาชดเชยกับสหภาพยุโรป เนื่องจากเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2549 สหภาพยุโรป ได้แจ้งต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ว่าจะปรับเปลี่ยนอัตราภาษีและระบบการนำเข้าสินค้าไก่หมักเกลือ (HS0210 9939) เนื้อไก่ปรุงสุก (HS1602 3219) และเนื้อไก่งวงปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย (HS1602 31) จากเดิมใช้ระบบภาษีเพียงอย่างเดียว โดยนำเข้าได้ไม่จำกัดจำนวน มาเป็นการจัดเก็บภาษี 2 ระบบ คือ ภาษีสำหรับสินค้าที่นำเข้าในโควตาและนอกโควตา โดยจะเก็บภาษีในโควตาสำหรับไก่หมักเกลือร้อยละ 15.4 ไก่ปรุงสุกร้อยละ 10.9 และ ไก่งวงร้อยละ 8.5 ส่วนภาษีนอกโควตาเป็น 1,300 ยูโร/ตัน และ 1,024 ตัน สำหรับไก่ปรุงสุกและไก่งวง ซึ่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าวส่งผลกระทบต่อไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ในตลาดสหภาพยุโรป ไทยจึงขอเจรจาชดเชยกับสหภาพยุโรป ตามที่ความตกลงแกตต์เปิดโอกาสให้ประเทศผู้มีส่วนได้เสียขอเจรจาชดเชยจากสหภาพยุโรปได้ ซึ่งกรณีของประเทศไทยมีสิทธิเจรจาในสินค้าไก่หมักเกลือและไก่ปรุงสุก
ในการเจรจาอย่างเป็นทางการกับผู้แทนสหภาพยุโรป ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 22 — 23 พฤศจิกายน 2549 สามารถสรุปผลการเจรจาได้ โดยสหภาพยุโรปตกลงกำหนดโควตารวมไก่หมักเกลือจำนวน 264,245 ตัน ซึ่ง 92,610 ตัน เป็นโควตารายประเทศสำหรับไทย อัตราภาษีในโควตา ร้อยละ 15.4 อัตราภาษีนอกโควตา 1,300 ยูโร/ตัน สำหรับไก่ปรุงสุก สหภาพยุโรปตกลงกำหนดโควตารวมจำนวน 250,953 ตัน ซึ่ง 160,033 ตัน เป็นโควตารายประเทศสำหรับไทยและลดอัตราภาษีในโควตาให้ไทยจากร้อยละ 10.9 เป็นร้อยละ 8 อัตราภาษีนอกโควตา 1,024 ยูโร/ตัน
“ในปีที่แล้วไทยส่งออกไก่ปรุงสุกได้ 106,545 ตัน แต่ไม่สามารถส่งไก่หมักเกลือได้ เนื่องจากมีปัญหาไข้หวัดนก ส่วนสถิติส่งออกเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง ไทยส่งออกไก่ปรุงสุกเป็นจำนวน 80,616 ตัน และไก่หมักเกลือ 15,823 ตัน ซึ่งตามกติกา WTO สหภาพยุโรปมีสิทธิที่จะชดเชยผลกระทบให้กับไทยโดยคำนวณจาก 1) สถิติการนำเข้า 3 ปีย้อนหลัง + อัตราการเติบโตร้อยละ 10 หรือ อัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงดังกล่าว หรือ 2) สถิติการนำเข้าปีล่าสุด + อัตราการเติบโตร้อยละ 10 ซึ่งปริมาณโควตาสูงสุดที่ไทยจะได้สำหรับไก่ปรุงสุกและไก่หมักเกลือ คือ 117,200 ตัน และ 60,624 ตัน ตามลำดับ ในครั้งนี้จึงถือว่าไทยประสบความสำเร็จเพราะสามารถเจรจาให้สหภาพยุโรปชดเชยโควตาได้สูงกว่าปริมาณดังกล่าว นอกจากนั้น ยังสามารถเจรจาลดอัตราภาษีในโควตาลงจากร้อยละ 10.9 เป็นร้อยละ 8” นางสาวชุติมากล่าว