กรมศุลกากรร่วมลงนามกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในสัญญาประกันและทัณฑ์บน

ข่าวทั่วไป Wednesday June 10, 2009 16:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--กรมศุลกากร กรมศุลกากรร่วมลงนามกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในสัญญาประกันและทัณฑ์บนการรับเป็นองค์กรค้ำประกันการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวก ในการขนส่งสินค้าและบุคคลข้ามพรมแดน (IICBTA) ณ จุดผ่านแดน มุกดาหาร-สะหวันนะเขต และจุดผ่านแดน แดนสะหวัน-ลาวบาว ในวันนี้ (วันพุธที่ 10 มิถุนายน 2552) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม กรมศุลกากร นายอุทิศ ธรรมวาทิน อธิบดีกรมศุลกากร ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจฯ กับนายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายไพรัช บูรพชัยศรี กรรมการเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในสัญญาประกันและทัณฑ์บนการรับเป็นองค์กรค้ำประกันการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและบุคคลข้ามพรมแดน (IICBTA) ณ จุดผ่านแดน มุกดาหาร—สะหวันนะเขต และจุดผ่านแดน แดนสะหวัน-ลาวบาว อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ประเทศไทย ลาว และเวียดนามได้จัดทำบันทึกความเข้าใจในการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและบุคคลข้ามพรมแดน (IICBTA) ณ จุดผ่านแดน มุกดาหาร (ไทย)-สะหวันนะเขต (สปป.ลาว) และจุดผ่านแดน แดนสะหวัน (สปป.ลาว) — ลาวบาว (เวียดนาม) ซึ่งได้มีการลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2550 ความตกลงดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าไทยไปยังเวียดนามโดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายยานพาหนะ และลดระยะเวลาในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรในการผ่านแดน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งและจะเป็นส่วนสนับสนุนให้การพัฒนาเศรษฐกิจภายในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต โดยประเทศไทย ลาว และเวียดนาม จะจัดพิธีเปิดการเดินรถขนส่งระหว่างกันตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ในวันที่ 11 มิถุนายน 2552 ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและบุคคลข้ามพรมแดนระหว่างกันทางถนน ลดความยุ่งยากและประสานกฎระเบียบ พิธีการในการขนส่งข้ามพรมแดน และส่งเสริมการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เช่น การใช้แนวเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก การแลกเปลี่ยนสิทธิการจราจร พิธีการข้ามแดน การขนส่งบุคคล การขนส่งสินค้า การนำเข้าชั่วคราว พิธีการศุลกากรสำหรับสินค้าผ่านแดน เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ