กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--CPF
นายพินิจ กังวานกิจ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟเป็นภาคเอกชนของไทยที่ให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และประสบความสำเร็จอย่างมากในด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำจนนำไปสู่การพัฒนาเชิงเศรษฐกิจของธุรกิจสัตว์น้ำในประเทศไทย
ทั้งนี้ การพัฒนาด้านพันธุกรรมหรือจีนีติกส์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนกำหนดความสำเร็จในการผลิต มากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งทางซีพีเอฟได้ทำการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำหลายชนิด อาทิ ปลาทับทิม (Hybrid Red Tilapia) และกุ้งขาวแวนนาไม หรือ ซีพีเอฟ เทอร์โบ โดยเฉพาะปลาทับทิมนั้นได้รับการปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีธรรมชาติคือคัดสายพันธุ์ ไม่ใช่การตัดแต่งพันธุกรรม และกลายเป็นปลายอดนิยมสำหรับการบริโภคของคนทั่วไป ส่วนพันธุ์กุ้งขาวหรือ ซีพีเอฟ เทอร์โบ นอกจากจะมีความต้านทานโรคดีแล้ว ยังสามารถเจริญเติบโตได้ดีมากภายใน 65 วัน สามารถเลี้ยงได้ขนาด 65 ตัว/กก. จากอดีตที่ต้องใช้เวลาเลี้ยง 130-150 วัน ซึ่งเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง
ล่าสุด ซีพีเอฟได้สนับสนุนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านพันธุศาสตร์เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ครั้งที่ 10 (The 10th International Symposium on Genentics in Aquaclture: ISGA X) ระหว่างวันที่ 22 — 26 มิถุนายน 2552 ณ คอนเว็นชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 5 เซ็นทรัลลาดพร้าว เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการศึกษาวิจัยพันธุศาสตร์สัตว์น้ำในระดับสูง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป
ด้านศาสตราจารย์ ดร.อุทัยรัตน์ ณ นคร หัวหน้าภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การประชุม ISGA X เป็นการประชุมของนักวิชาการชั้นนำด้านพันธุศาสตร์เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจากทั่วโลก โดยในปีนี้มีการเสนอผลงานวิจัยทั้งภาคบรรยายและภาคโปสเตอร์ จำนวน 217 เรื่อง จากผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน จาก 39 ประเทศทั่วโลก โดยมีผลงานวิจัยเด่นๆ ที่จะนำเสนอในการประชุม ISGA 2009 อาทิ การค้นพบโปรตีนที่อาจใช้ควบคุมให้เกิดกุ้งก้ามกรามเพศผู้, กุ้งก้ามกรามโตเร็วโดยการผสมข้ามในประเทศเวียดนาม, กุ้งขาวสายพันธุ์ใหม่, การปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำโดยการใช้เครื่องหมายโมเลกุล, หอยมุกน้ำจืดพันธุ์ใหม่, การปรับปรุงพันธุ์หอยเป๋าฮื้อ, การค้นพบเครื่องหมายโมเลกุลที่สัมพันธ์กับความต้านทานโรคในปลา, การค้นพบเครื่องหมายโมเลกุลที่สัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของกุ้งกุลาดำ, การจับคู่ผสมพันธุ์ปลาบึกโดยอาศัยเครื่องหมายพันธุกรรมในนิวเคลียสและในไมโตคอนเดรียล ดีเอ็นเอ เป็นต้น
สำนักสื่อสารและประชาสัมพันธ์ CPF
โทร. 02-625-7344-5