กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอ เห็นชอบเปิดประเภทกิจการประกอบรถยนต์ใหม่ แต่ต้องผลิตเฉพาะรถยนต์รุ่นที่ยังไม่เคยมีการผลิตในไทย หวังจูงใจให้ค่ายรถยนต์รายใหญ่ย้ายฐานจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย และดันให้ไทยขยายฐานการผลิตรถยนต์เพิ่มมากขึ้น
นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้เปิดประเภทกิจการประกอบรถยนต์ขึ้นใหม่ เพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตรถยนต์ย้ายฐานการผลิตจากประเทศอื่นๆ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และส่งเสริมให้ประเทศไทยมีฐานการผลิตรถยนต์เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อให้การลงทุนในกิจการใหม่ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการลงทุนในสายการผลิตใหม่ และมีรูปแบบเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ มีปริมาณการผลิตที่สูงมากพอที่จะทำให้เกิดการใช้ชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต จึงได้กำหนดเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน ดังนี้
1.จะต้องมีปริมาณการผลิต ไม่น้อยกว่า 100,000 คันต่อปี ภายใน 5 ปีแรก ของการผลิต
2.จะต้องมีการลงทุนสร้างสายการประกอบรถยนต์ (Assembly Line) ใหม่
3.จะต้องมีขนาดการลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท
4.จะต้องมีการผลิตรถยนต์แบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีการผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยมาก่อน และต้องมีรุ่นที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น รถยนต์แบบผสมที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและไฟฟ้า (Hybrid Electric Vehicle) หรือใช้พลังงานทดแทนในโครงการด้วย
5.จะต้องเสนอแผนการลงทุนผลิตชิ้นส่วนหรือการใช้ชิ้นส่วน และจะต้องได้รับความ เห็นชอบจากคณะกรรมการ
6.ไม่อนุญาตให้ขยายเวลาการดำเนินการตามที่กำหนดในบัตรส่งเสริม
7.จะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2553
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ประกอบด้วย ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรทุกเขต ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นระยะเวลา 5 ปี หากมีขนาดการลงทุนที่ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 6 ปี หากมีขนาดการลงทุนที่ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท ไม่ว่าจะตั้งในเขตใด ทั้งนี้ ให้ได้รับเพิ่มเติมอีก 1 ปี หากยื่นคำขอภายในปี 2552 โดยมูลค่าภาษีที่ยกเว้นไม่เกินมูลค่าเงินลงทุนของโครงการ
“ในภาวะเศรษฐกิจโลกปัจจุบันทำให้ผู้ประกอบการรถยนต์ทั่วโลกต้องปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน ด้วยการลดจำนวนโรงงานผลิตลง และย้ายการผลิตจากโรงงานหลายแห่งมารวมอยู่ที่ใดที่หนึ่ง โดยเฉพาะการสร้างฐานการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียนเพื่อรองรับตลาดในภูมิภาคนี้ ซึ่งการเพิ่มกิจการส่งเสริมการลงทุนนี้ จะเป็นการชักจูงให้มีการย้ายฐานการผลิตรถยนต์มายังประเทศไทย สร้างโอกาส ในการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ และส่งผลดีต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศระยะยาว” นายชาญชัย กล่าว