“ไหมอีรี่” สู่อุตสาหกรรมรักบ้านเกิด

ข่าวทั่วไป Thursday July 20, 2006 15:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--สกว.
หนุนเลี้ยงไหมอีรี่ โดยใช้ใบมันสำปะหลังหรือใบละหุ่งเป็นอาหาร ไม่ต้องลงทุนปลูกพืชอาหารอย่างอื่น เกษตรกรยังได้ประโยชน์ทั้งจากเมล็ดละหุ่ง หัวมันสำปะหลังและรังไหม ชี้ช่วยแก้จน ทำให้มีรายได้เพิ่ม มีงานทำในท้องถิ่น ไม่ต้องละทิ้งครอบครัวไปหางานทำที่อื่นในหน้าแล้งหรือนอกฤดูเพาะปลูก
ปัจจุบันมีความสนใจผ้าพื้นเมืองที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติมากเพราะสีธรรมชาติให้สีกลมกลืน ไม่ฉูดฉาด ดูสบายตา ที่สำคัญคือเป็นสีธรรมชาติละลายน้ำและมีจุลินทรีย์ย่อยสลายได้ ทำให้ไม่ตกค้างก่อให้เกิดมลพิษจึงปลอดภัยต่อผู้ใช้และสภาพแวดล้อม อีกทั้งการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นหลายชนิดยังให้สีต่างๆ กัน ทำให้เกิดความหลากหลายของสีย้อมที่มีความสวยงามต่างกันไปได้ด้วย
รศ.ดร.ทิพย์วดี อรรถธรรม ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ผู้ประสานงานชุดโครงการไหมอีรี่สู่อุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)กล่าวว่า ไหมอีรี่หนึ่งในวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ถูกสร้างขึ้นจากการห่อหุ้มตัวเองตอนเข้าดักแด้ โดยรังไหมจะมีลักษณะยาวเรียวสีขาวค่อนข้างแบน เส้นใยจะสานกันหลวมกว่ารังไหมหม่อน ปลายข้างหนึ่งค่อนข้างแหลม ปลายอีกข้างหนึ่งของรังจะเปิดเป็นช่องเล็กๆ เพื่อให้ผีเสื้อออกจากรังได้
ไหมอีรี่สามารถเลี้ยงได้ตลอดปีประมาณ 4-5 รุ่นต่อปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่ สามารถเลี้ยงได้ทั้งในที่สูงและที่ราบ และที่อุณหภูมิช่วงตั้งแต่ 25 ถึง 45o C กินใบละหุ่งและใบมันสำปะหลังเป็นอาหาร การทดลองเลี้ยงไหมอีรี่ด้วยพืชอาหารชนิดต่างๆ เช่น ใบละหุ่ง มันสำปะหลัง มะละกอ อ้อยช้าง สบู่ดำ มะยมป่าและสันปลาช่อนยังพบว่า ใบละหุ่งใช้เลี้ยงไหมอีรี่ได้ดีที่สุด รองลงมาคือใบมันสำปะหลัง ส่วนพืชอื่นๆ นั้นอาจใช้ทดแทนกันได้ระยะหนึ่งในช่วงที่พืชอาหารหลักขาดแคลน แต่ไม่สามารถใช้เลี้ยงจนครบวงจรชีวิตได้ในการเลี้ยงไหมอีรี่สามารถใช้ใบมันสำปะหลังและละหุ่งสลับกันได้ นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า ใบของต้นมันลาย มันต้น และใบลั่นทมสามารถใช้เลี้ยงไหมอีรี่ได้เช่นกัน
ปัจจุบันอุตสาหกรรมไหมปั่นต้องอาศัยวัตถุดิบจากเศษไหมหม่อนหรือรังไหมหม่อนที่เสียและสาวไม่ได้ ซึ่งวัตถุดิบเหล่านี้มีไม่เพียงพอจะป้อนโรงงานไหมปั่น อย่างไรก็ตามอาจดึงเส้นใยจากรังไหมอีรี่ด้วยวิธีการสาวได้เช่นกัน โดยใช้เครื่องสาวไหมพื้นบ้านที่เกษตรกรมีอยู่หรือเครื่องสาวไหมแบบใหม่ที่มีการพัฒนาปรับปรุงขึ้นมาใช้ การดึงเส้นใยจากรังไหมอีรี่ไม่ต้องต้มรังโดยยังมีดักแด้อยู่ในรังเพราะรังเป็นแบบรังเปิด สามารถตัดเปลือกรังหรือรอให้ผีเสื้อออกมาก่อนจึงนำรังไปต้ม ทำให้ไม่ขัดต่อความรู้สึกของผู้ใช้ที่ไม่ต้องการฆ่าตัวไหม
รศ.ดร.ทิพย์วดี กล่าวว่า ลักษณะของเส้นไหมอีรี่ที่สาวได้จะมีลักษณะฟู เส้นเป็นปุ่มปมไม่เรียบจึงมีการย้อมเส้นใยไหมอีรี่ด้วยสีธรรมชาติหลายชนิด เช่น สีที่ได้จากใยมะพร้าว เปลือกประดู่ มะเกลือดิบ ใบขี้เหล็ก ขมิ้น ครั่ง ใบหูกวาง ใบสบู่เลือด เปลือกต้นมะม่วงหิมพานต์ เปลือกเมล็ดฝางแดง และมะเกลือ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าเส้นใยไหมอีรี่ติดสีได้ดีและสวยงามแปลกตามากไม่ว่าจะใช้สีสังเคราะห์หรือสีธรรมชาติ สำหรับประเทศไทยมีงานวิจัยและส่งเสริมการเลี้ยงไหมอีรี่อยู่ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่มีการทำในเชิงพาณิชย์เป็นอุตสาหกรรม จึงยังไม่มีการศึกษาถึงการใช้ประโยชน์จากไหมอีรี่อย่างจริงจัง
สำหรับประโยชน์และผลผลิตจากไหมอีรี่นั้นมีมากมาย อาทิ ไข่และตัวหนอนใช้เป็นอาหารเลี้ยงแมลงที่เป็นประโยชน์ได้ เช่น ไข่ไหมอีรี่ใช้เลี้ยงแตนเบียนไข่ในสกุล Anastatus และOoencyrtus เพื่อนำไปใช้กำจัดมวนลำไยและมวนลิ้นจี่ ซึ่งเป็นแมลงศัตรูสำคัญของไม้ผลตัวหนอนไหมอีรี่ใช้เลี้ยงมวน พิฆาตEcocanthecona furcellata ซึ่งเป็นมวนตัวห้ำที่มีประโยชน์เพราะทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินตัวอ่อนของแมลงชนิดอื่นเป็นอาหาร การใช้หนอนไหมอีรี่เป็นอาหารทำให้สามารถผลิตมวนตัวห้ำนี้ให้ได้ปริมาณมากๆ เพื่อใช้กำจัดแมลงศัตรูสำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิด เช่นหนอนคืบละหุ่ง หนอนกระทู้ หนอนแก้วส้ม หนอนร่าน หนอนบุ้ง ในสวนส้ม มะนาว มะม่วง ส้มโอ เป็นต้น
ตัวหนอนและดักแด้เป็นอาหารของคนได้เพราะมีคุณค่าทางโภชนะสูง ดักแด้ไหมอีรี่มีไขมันสูงถึง 25% มีโปรตีน 50% และมีไนโตรเจน 11% นอกจากนั้นยังมีความมันและมีรสชาติอร่อยถูกปากของชาวเขาและเกษตรกรทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นเดียวกับหนอนในไม้ไผ่ที่เรียกกันว่ารถด่วน และสามารถทำเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนอนไหมวัย 3 และ 4 ใช้เลี้ยงปลาได้ดีมาก หรือจะพัฒนาเป็นอาหารเสริมเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น เร่งสีในปลาสวยงาม ซึ่งน่าจะมีราคาถูกกว่าอาหารปลาโดยทั่วไป ในประเทศญี่ปุ่นยังนำเส้นใยไหมอีรี่มาทำเป็นผ้าสวยงามห่อของขวัญ ทำดอกไม้ประดิษฐ์ และวัสดุสวยงามอื่นๆ คล้ายกับการใช้ประโยชน์จากกระดาษสาหรือรังไหมสามารถนำมาบดเป็นผงแป้งละเอียดที่มีความแวววาว ใช้ทำเครื่องสำอางหรือเคลือบวัสดุต่างๆ ทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ และงานฝีมือที่สวยงามมากมาย นอกจากนี้เส้นใยยังมีลักษณะเหมาะที่จะพัฒนาเป็นกระดาษกรองสำหรับใช้ในงานทดลองทางวิทยาศาสตร์เพราะเส้นใยสานกันละเอียดมีความเหนียว ทนทาน และไม่เปียกน้ำง่าย
รศ.ดร.ทิพย์วดี กล่าวอีกว่า ไหมอีรี่ยังเป็นแมลงที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูง หนอนไหมจะกินใบมันสำปะหลังหรือใบละหุ่งเป็นอาหาร ทำให้สามารถส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกละหุ่งหรือมันสำปะหลังเลี้ยงไหมอีรี่เป็นอาชีพเสริมได้ โดยไม่ต้องลงทุนปลูกพืชอาหารอย่างอื่น เกษตรกรยังได้ประโยชน์ทั้งจากเมล็ดละหุ่งหรือหัวมันสำปะหลังและรังไหม ทำให้มีรายได้เพิ่มและมีงานทำในท้องถิ่นเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กเด็กๆยังสามารถช่วยผู้ปกครองเลี้ยงได้ ทำให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และเกิดรายได้พิเศษ ส่งเสริมกิจกรรมร่วมกันและสร้างความสามัคคีในครอบครัวและชุมชน ไม่ต้องละทิ้งครอบครัวไปหางานทำที่อื่นในช่วงแห้งแล้งนอกฤดูเพาะปลูก อีกทั้งเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับการเลี้ยงไหมหม่อนอยู่แล้วจะสามารถเลี้ยงไหมอีรี่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะแนวทางหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรได้ต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย(สกว.)
โทร.0-2619-9701,0-2619-6188 E-mail:pr@pr-trf.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ