กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--เวิรฟ
โปรแกรมหนังสั้นและมิวสิควิดีโอจากหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์
วันที่ 19 มิถุนายน 2552 เวลา 19.30 -21.30 น. ณ ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน
หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ร่วมกับ สันติภาพ อินกองงาม ภูมิใจนำเสนอ เชียงราม่า โปรแกรมหนังสั้นและมิวสิควิดีโอ 7 เรื่อง จากหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผลิตในเมืองเชียง ได้แก่ เชียงรุ้ง (จีน) เชียงตุง (พม่า) เชียงทอง (ลาว) เชียงรายและเชียงใหม่ (ไทย) ณ ห้องสมุดวิลเลียม วอรร์เรน วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน เวลา 19.30-21.30น. (ฉายหนัง 1.15 ชั่วโมง และพูดคุยกับโปรดิวเซอร์ 45 นาที) โปรแกรมเชียงราม่า ซึ่งเรียบเรียงโดยโครงการเชียงนั้น นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นในแต่ละพื้นที่แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไป ผ่านทัศนคติของคนในท้องที่ ต่อสถานการณ์ที่กำลังเผชิญในแต่ละพื้นที่ตามช่วงเวลาที่ปรากฏอีกด้วย สำหรับหนังสั้นที่จะนำเสนอในครั้งนี้ผ่านการคัดสรรโดย เจ สันติภาพ อินกองงาม นักกำกับหนังสั้น และโปรดิวเซอร์ เชียงราม่าทั้งหมด 7 เรื่อง ได้แก่
เอ็ม วี : นางมโนราห์
อ้าย คำจัน / ไทลื้อ / เชียงรุ้ง / 4.25 นาที
เพลง นางมโนรา เป็นบทเพลงที่นำคำขับโบราณแบบไทลื้อสิบสองปันนา(ภาษาล้านนาเรียกคำขับนี้ว่า “ค่าว”) มาประกอบดนตรีร่วมสมัย โดยมี อ้าย คำจัน นักร้องไตลื้อยอดนิยมขวัญใจชาวไตเมืองเชียงรุ้งสิบสองปันนาเป็นผู้ขับร้อง เพลง นางมโนรา อยู่ในชุดรวมเพลงปีใหม่ไต โดยมีวัดป่าเซต์(วัดไทลื้อในเมืองเชียงรุ้ง) เป็นผู้สนับสนุน ทั้งอัลบั้มเพลงและวีซีดีคาราโอเกะ โดยเป็นแนวทางสืบสานภาษาและวรรณคดีไตผ่านสื่อร่วมสมัย
หนังสั้น : กลับบ้านที่ไม่เคยกลับ
รุจิรา ชัยประเสริฐ /ไทหย่า / เชียงราย-ยูนนาน/ 15.51 นาที
หนังเรื่อง กลับบ้านที่ไม่เคยกลับ โดยรุจิราและครอบครัว เป็นตัวอย่างอันดี ในแง่ หนังสารคดีที่ผลิตในครัวเรือนโดยไม่ต้องพึ่งระบบสตูดิโอ หนังเรื่องนี้ รุจิราเป็นคนเรียบเรียงเนื้อหา โดยมีพ่อของรุจิราเป็นคนถ่ายภาพและร่วมเล่าเรื่อง และน้องชายของรุจิราเป็นคนตัดต่อลงเสียงประกอบ ครอบครัว ชัยประเสริฐ ของรุจิรา เป็นครอบครัวเชื้อสายชาวไตหย่า ที่ได้มาตั้งถิ่นฐาน ที่เชียงรายหลายชั่วอายุคนแล้ว หนังเรื่องนี้นอกจากจะนำผุ้ชมกลับไปเยี่ยมบ้านที่ไม่เคยกลับของรุจิราแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นสายสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องของชาวไทยและจีนอีกด้วย
เอ็ม วี : สอนลูก
ชิ สุวิชาน / ปกาเกอะญอ / เชียงใหม่/ 2.54 นาที
หลายๆคนคงคุ้นเคยกับชื่อของ ชิ สุวิชาน มาบ้าง ในฐานะนักดนตรีหนุ่มชาวปกาเกอะญอ ผู้มากความสามารถ โดยเฉพาะพรสวรรค์ในเชิงวรรณกรรมและดนตรีแบบปกาเกอะญอ เพลง “สอนลูก” เป็นบทเพลงที่แต่งโดยคุณพ่อของชิ เพื่อใช้สอนสั่งลูกชาย(คือตัวชิเอง) และชิได้นำมาถ่ายทอดต่อ ด้วยสุ้มเสียงปกาเกอะญอประกอบเสียงเตหน่าอย่างไพเราะ โดยมีเนื้อหากล่าวถึงการดำเนินชีวิตตามวิถีธรรมชาติอย่างสอดคล้องกลมกลืน เอ็มวีเพลงนี้ชิกับเพื่อนช่วยๆกันทำ
หนังสั้น : No Childhood At All
แซม กัลยาณี /ปกาเกอะญอ-อังกฤษ / เชียงใหม่-พม่า/ 26.44 นาที
เราอาจคุ้นชื่อ “ขุนพลลิ้นดำ” กันมาบ้าง ในฐานะที่เป็นผู้นำนักรบตัวจ้อย ในกองกำลังกะเหรี่ยงกู้ชาติ หนังเรื่องนี้ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง แต่ แซม กัลยาณี กำลังไถ่ถามถึง สิทธิของความเป็นเด็ก สิทธิของการที่จะได้ กิน ได้เล่น และ นอนหนุนตักพ่อแม่เหมือนเด็กคนอื่นๆ ในวันนี้ขุนพลลิ้นดำตัวน้อย ได้เติบใหญ่เป็นหนุ่มแน่นแล้ว มาดูกันว่าเขากำลังคิดอะไร ประสบการณ์วัยเยาว์ในสนามรบ ส่งผลผลอะไรกับชีวิตเขาบ้าง
เอ็ม วี : หมากไม้
L-ZONE / ไทเมืองหลวง / เชียงทอง / 4.33 นาที
เพลง “หมากไม้”(แปลว่า “ผลไม้” ในภาษาไทย) เป็นบทเพลงของวง L-ZONE ในอัลบั้ม “อยากเห็นแฟนเก่า” ผลิตในเมืองเชียงทอง หลวงพระบาง ภายใต้ความดูแลของค่าย C Star Music(ค่ายเพลง 1 ใน 2 ค่ายของเมืองหลวงพระบาง)ซึ่งดูแลการผลิตทั้งอัลบั้มเพลงและมิวสิควีดีโอ วง L-ZONE เป็นวงน้องใหม่จากหลวงพระบาง ในสไตล์ฮิพฮอพสำเนียงไทเมืองหลวง เพลง “กิ๊กน้อยใจ” ในอัลบั้มก่อนหน้านี้ของพวกเขา ได้ใต่ อันดับขึ้นสู่ความนิยมสูงสุดในประเทศลาวอย่างรวดเร็ว เพลง “หมากไม้” สะท้อนให้เห็นถึง น้ำใสใจซื่อของคนเมืองเชียงทอง หลวงพระบาง และความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินได้เป็นอย่างดี
หนังสั้น : นิทานพระราชา
พรศักดิ์ สุคงคารัตนกุล/ อาข่า / เชียงราย/ 20.53 นาที
นิทานพระราชา เล่าเรื่องถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนอาข่าในจังหวัดเชียงราย ระหว่างการดำรงอยู่อย่างพอเพียงในวิถีของคนรุ่นเก่า กับกระแสทุนนิยมหมู่คนรุ่นใหม่ หนังได้หยิบยกความขัดแย้งของคนสองชั่วรุ่น ในครอบครัวอาข่าครอบครัวหนึ่ง มาเล่าได้อย่างสนุกและงดงาม
เอ็ม วี : ม้งบ่ได้ยะ
เสียงซึงมิวสิค / ม้ง / เชียงใหม่ / 3.53 นาที
เพลง ม้งบ่ได้ยะ เป็นเพลงในอัลบั้ม ม้งบ่ได้ยะ ขับร้องโดย อาหัว แซ่ยะ นักร้องชาวเขาเผ่าม้งจากเชียงใหม่ ถึงแม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จมากนักในตลาดที่เป็น mass ในประเทศไทย แต่ก้ก็ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ชาวม้งในประเทศไทย และอเมริกา อัลบั้ม ม้งบ่ได้ยะ ทั้งเพลงและวีซีดีคาราโอเกะ ผลิตภายใต้ความดูแลของ “เสียง ซึง มิวสิค” ค่ายเพลงท้องถิ่นของเชียงใหม่ ที่ผลิตงานกันแบบครัวเรือน เพลงม้งบ่ได้ยะ แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงร่วมสมัย กับสิ่งที่ชาวเขากำลังเผชิญ มันเป็นมุมสะท้อนกลับต่อสื่อกระแสหลัก โดยมุมมองของชาวเขาเผ่าม้งเอง
กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการสื่อผสม Songs of Memory: Traditional Music of the Golden Triangle ซึ่งจัดแสดง ณ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ในวันที่ 24 เมษายน — 23 กรกฎาคม 2552
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โสมสุดา เปี่ยมสัมฤทธิ์ 02 612 6741
Email: education @ jimthompsonhouse.com