กรมวิชาการเกษตร ส่งสับปะรดกินได้ไม่ต้องปอกเปลือก สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรไทย

ข่าวทั่วไป Thursday June 11, 2009 15:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฮือฮาอีกครั้ง! กับสุดยอดผลงานวิจัยและพัฒนาสับปะรดพันธุ์ “เพชรบุรี” ของกรมวิชาการเกษตร ที่ชูลักษณะเด่น กินได้โดยไม่ต้องปอกเปลือก รสชาติอร่อย กรอบ หอมหวาน สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับเกษตรกรไทย สามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาล ซึ่งแต่ละปีไทยมีมูลค่าการส่งออกสับปะรดกว่า 30,000 ล้านบาท เป็นอันดับหนึ่งของโลก มีตลาดหลักอยู่ที่อเมริกา สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และภูมิภาคอาเซียน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 36 ปี กรมวิชาการเกษตรทำการวิจัยและพัฒนาพืชผลทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ได้มีการพัฒนาพันธุ์สับปะรดกว่า 10 ปี จนกระทั่งได้สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี ที่รับประทานได้ทันทีโดยไม่ต้องมานั่งปอกเปลือกเหมือนเช่นสับปะรดทั่วไป ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากตลาดอย่างมาก ตลาดสับปะรดมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยส่งออกสับปะรดเป็นอันดับหนึ่งของโลก และเป็นพืชที่มีความสำคัญในอุตสาหกรรมเกษตร นอกจากจะนิยมบริโภคสดแล้ว ยังสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิด เช่น สับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรด สับปะรดแช่แข็ง สับปะรดกวน สับปะรดอบแห้ง และอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋อง และเปลือกยังสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ ใบใช้ทำเส้นใยและกระดาษ ซึ่งแต่ละปีจะทำรายได้ให้เกษตรกรอย่างมาก ทั้งนี้ทางกรมวิชาการเกษตร มุ่งสร้างการรับรู้สับปะรดพันธุ์ใหม่ดังกล่าวผ่านรูปแบบการทำกิจกรรมด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจัดนิทรรศการผลงานวิชาการของหน่วยงานภายในกรมวิชาการเกษตร นิทรรศการของภาคเอกชนและกลุ่มเกษตรกร มีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทฤษฎีใหม่ เทคโนโลยีการผลิต และการแปรรูปสับปะรดครบวงจร รวมถึงการสาธิตเครื่องจักรกลการเกษตร และเนื่องในโอกาสที่กรมวิชาการเกษตรได้รับการสถาปนาครบรอบ 36 ปีเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง โอกาสนี้ศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 5 จึงได้จัดงานมหัศจรรย์พันธุ์สับปะรดเพชรบุรี 36 ปีกรมวิชาการเกษตรในวันที่ 9 มิถุนายน 2552 ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบุรีถนนบายพาสชะอำ-ปราณบุรี ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อประชาสัมพันธ์สับปะรดพันธุ์ ”เพชรบุรี” ด้านนายดนัย นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 5 กรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงตลาดสับปะรดว่า แต่ละปีไทยมีมูลค่าการส่งออกสับปะรดกว่า 30,000 ล้านบาท เป็นอันดับหนึ่งของโลก มีตลาดหลักอยู่ที่อเมริกา สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และภูมิภาคอาเซียน กรมวิชาการเกษตรจึงวิจัยและพัฒนาพันธุ์สับปะรดที่มีลักษณะเฉพาะ โดดเด่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสับปะรดไทยให้ได้ราคา ซึ่งราคาขายปลีกในตลาดจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาทสับปะรดเพชรบุรี ทางศูนย์ฯ ตั้งเป้าจำหน่ายหน่อสับปะรดดังกล่าวให้ได้ 36,000 หน่อในราคาหน่อละ 3 บาท มีเกษตรกรในหลายจังหวัดให้ความสนใจโทรมาสั่งจองเป็นจำนวนมาก ไม่เพียงเท่านี้ทางศูนย์ฯ ยังมีแนวคิดในการสอนวิธีการขยายพันธุ์เพื่อต่อยอดหน่อสับปะรดให้ได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้แล้วยังเตรียมผลิตกล้าสับปะรดปลอดโรคและตรงตามพันธุ์ เพื่อขยายพันธุ์จำหน่ายต่อไป สำหรับแผนการดำเนินงานที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรไม่เพียงแต่วิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชที่ทรงคุณค่าให้กับเกษตรกรไทยเท่านั้น แต่ยังร่วมมือกับหน่วยงาน กรม กองต่างๆ ภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อช่วยเชื่อมโยงและสนับสนุนทางด้านการตลาด และช่องทางจำหน่ายในระดับท้องถิ่น และชุมชน ผอ.ศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบุรี ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ลักษณะพิเศษของสับปะรดพันธุ์เพชรบุรี สามารถแกะผลย่อย หรือตา (fruitlet) ออกจากกันได้ง่าย ทำให้สามารถแกะผลย่อยออกมารับประทานได้โดยไม่ต้องปอกเปลือก อีกทั้งแกนผลยังสามารถรับประทานได้ รสหวานอมเปรี้ยว มีปริมาณกรดต่ำ กลิ่นหอมแรง เนื้อกรอบ สีเนื้อเหลืองอมส้มสม่ำเสมอ ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ภูเก็ต และสวี 17.7% และ 23.2% ตามลำดับ สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี เป็นพันธุ์ที่จัดอยู่ในกลุ่ม Queen เช่นเดียวกับพันธุ์ภูเก็ต สวีหรือตราดสีทอง มีทรงพุ่มปานกลาง ใบค่อนข้างสั้น หนามลักษณะเป็นตะขอม้วนขึ้นไปหาปลายใบ มีช่อดอกแบบรวม (Spike) ดอกมีเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน กลีบดอกสีน้ำเงินปนม่วง มีลักษณะผลรวม ทรงเจดีย์ คือด้านล่างของผลใหญ่ บริเวณปลายจะคอดเล็ก ตาบริเวณปลายผลติดกับจุกไม่พัฒนา 2 - 3 รอบ ผลขนาดปานกลาง น้ำหนักเฉลี่ย 1.00 กก. ผลกว้างเฉลี่ย 11.9 ซม. ผลยาวเฉลี่ย 19.0 ซม. ตาค่อนข้างใหญ่และนูนเล็กน้อย โดยมีอายุการเก็บเกี่ยวราว 126 วัน มีสีเปลือกผลแก่สีเขียว ผลสุกสีเหลืองอมส้ม (YOG 17 A-B) สีเหลืองอมส้ม (YOG 16 A-B) สับปะรดพันธุ์เพชรบุรีเดิมเป็นพันธุ์ของประเทศไต้หวันในชื่อพันธุ์ Tainan 41 ในปี 2530 โดยนายสณทรรศน์ นันทะไชย เป็นผู้นำพันธุ์มาจากบริษัทส่งออกสับปะรดในรูปของจุก (Crown) จำนวน 12 รูปเนื่องจากไม่ทราบประวัติพันธุ์เดิมมาก่อน จึงไม่สามารถบอกได้ว่าสับปะรดพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่ได้มาจากการคัดเลือกสายต้น ( clone ) หรือการผสมพันธุ์ หลังจากได้รับจุกมาแล้วส่วนหนึ่งนำไปเพิ่มปริมาณหน่อโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และอีกส่วนหนึ่งนำมาปลูกศึกษาคัดเลือกต้นพันธุ์ที่มีลักษณะดีตามเกณฑ์ และสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้ดี หากนำมาเปรียบเทียบกับพันธุ์ภูเก็ต และสวี ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ใช้บริโภคสดอยู่ก่อน จากนั้นในปี 2539-2540 นำไปปลูกทดสอบใน 8 แหล่งทั่วประเทศ ได้แก่ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร สถานีทดลองพืชสวนกาญจนบุรี สถานีทดลองพืชสวนหนองคาย สถานีทดลองยางภูเก็ต สถานีทดลองพืชไร่สงขลา และศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบุรี พบว่ามีการเจริญและให้ผลผลิตดีกว่าพันธุ์เดิม จึงเสนอคณะกรรมการการวิจัยและพัฒนากรมวิชาการเกษตรพิจารณารับรองพันธุ์ และคณะกรรมการได้มีมติรับรองเป็นพันธุ์แนะนำในวันที่ 18 มีนาคม 2541

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ