ก.ล.ต. ชี้แจงการดำเนินการตามกฎหมายหลักทรัพย์กรณีการซื้อขายหุ้นของอดีตเลขาธิการ กบข.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 11, 2009 16:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--ก.ล.ต. ก.ล.ต. ยืนยันว่าการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นของนายวิสิฐ ตันติสุนทร อดีตเลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการจะดำเนินการอย่างครบถ้วน ตามที่ปรากฏข่าวตามสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของนายวิสิฐ ตันติสุนทร อดีตเลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ว่าอาจมีการซื้อขายหุ้นดักหน้ากองทุนที่ตนเป็นผู้บริหาร และอาจมีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายหลักทรัพย์ อันเป็นการเอาเปรียบกองทุนและผู้ลงทุนรายอื่น นั้น ก.ล.ต. ขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้ว่า ลักษณะการกระทำความผิดสามารถแยกเป็น 2 ประเด็นได้แก่ 1. การใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายหลักทรัพย์ อันเป็นความผิดตามมาตรา 241 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตราดังกล่าวได้กำหนดห้ามบุคคลใดซื้อหรือขายหุ้นของบริษัทจดทะเบียนโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ตนได้ล่วงรู้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือโดยตำแหน่ง ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นมีสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้นและยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชน ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นไป เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น หรือนำข้อเท็จจริงเช่นนั้นออกเปิดเผยเพื่อให้ผู้อื่นซื้อขายหุ้นโดยตนได้รับประโยชน์ตอบแทน ซึ่งการกระทำฝ่าฝืนมาตรานี้เป็นความผิดอาญา ที่จะต้องมีการเปรียบเทียบปรับหรือกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีต่อไป ในกรณีของนายวิสิฐนั้น จากข้อมูลที่ ก.ล.ต. ได้รับในเบื้องต้นตามผลการตรวจสอบของคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการยังไม่อาจชี้ชัดว่า เข้าข่ายฝ่าฝืนพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ หรือไม่ ก.ล.ต. จึงต้องทำการตรวจสอบเพิ่มเติมตามกระบวนการปกติ เพื่อขยายผลการตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป ดังนั้น การตรวจสอบในเรื่องนี้จึงยังไม่แล้วเสร็จ 2. การซื้อขายดักหน้ากองทุนเนื่องจากล่วงรู้ข้อมูลการลงทุนหรือการซื้อขายหุ้นของกองทุนที่ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 241 กรณีนี้ถึงแม้ไม่ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ แต่ก็เป็นความผิดทางจรรยาบรรณเพราะเป็นการเอาเปรียบกองทุนและสมาชิก ซึ่งหากผู้กระทำผิดเป็นผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทั่วไปที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ก.ล.ต. มีมาตรการลงโทษเริ่มตั้งแต่ตักเตือน ภาคทัณฑ์ สั่งพัก จนถึงเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ แต่เนื่องจาก กบข. ไม่ใช่หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. หากมีความผิดดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ต้องเป็นเรื่องภายในองค์กร กบข. ในการพิจารณาตรวจสอบและดำเนินการลงโทษตามกฎระเบียบ วินัย หรือจรรยาบรรณขององค์กรเอง นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ผมขอยืนยันว่าเรื่องนี้จะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา และเมื่อผลการตรวจสอบมีข้อยุติประการใดแล้ว ผมจะแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบด้วยในฐานะที่ท่านเป็นผู้ดูแลกฎหมายเกี่ยวกับ กบข.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ