กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--กระทรวงพลังงาน
กระทรวงพลังงาน เร่งเครื่องยุทธศาสตร์พลังงานทดแทน ด้วยการส่งเสริมโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก(SPP) ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ผลิตและขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 14 โครงการ ได้พลังไฟฟ้ารวม 194 เมกะวัตต์ เตรียมยกระดับ “คณะกรรมการไตรภาคี” เป็น “องค์กรชุมชน” กำหนดแนวทางการพัฒนาพลังงานในอนาคต
นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการเปิดงานสัมมนาคณะกรรมการไตรภาคี โครงการส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2549 ว่า ตามที่ภาครัฐได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทน เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนจาก 0.5% เป็น 8% ภายในปี 2554 ทางกระทรวงพลังงานจึงได้เร่งผลักดันการพัฒนาแหล่งพลังงานภายในประเทศ อาทิ พลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม น้ำ และชีวมวลอย่างจริงจัง โดยตั้งเป้าทดแทนการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ภายในปี 2554 ให้ได้ 7.5 ล้านตัน แบ่งเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 33,000 ตัน พลังงานลม 19,000 ตัน พลังงานน้ำ 102,000 ตัน พลังงานก๊าซชีวภาพ 1.6 ล้านตัน พลังงานจากพืช 2 ล้านตัน และพลังงานจากชีวมวล 3.7 ล้านตัน
“ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่ละปีมีวัสดุเหลือทิ้งจากเกษตรกรรม อาทิ ชานอ้อย แกลบ เปลือกไม้เป็นจำนวนมาก จึงเหมาะสมที่จะส่งเสริมให้นำวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติเหล่านี้มาผลิตเป็นพลังงานทดแทน เพราะนอกจากจะเป็นการสนับสนุนให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าแล้ว ยังเป็นการช่วยกระจายแหล่งเชื้อเพลิง ช่วยเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และเป็นการช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้อีกทางหนึ่ง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่ สนพ. โดยการสนับสนุนจาก จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้ดำเนินโครงการ “ส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน” ด้วยการสนับสนุนราคารับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน เป็นการจูงใจให้เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producers : SPP) ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนได้เข้าร่วมผลิตและขายไฟฟ้ากับภาครัฐมากขึ้น โดยได้มีการคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่มีความเหมาะสม 20 โครงการ ร่วมดำเนินโครงการเมื่อเดือนมิถุนายน 2547 โดยปัจจุบันได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและเริ่มจำหน่ายเข้าระบบแล้ว 14 ราย คิดเป็นพลังไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 194 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงต่างๆ เช่น แกลบ ชานอ้อย และน้ำมันยางดำ ตั้งอยู่ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี ชัยนาท ลพบุรี ปราจีนบุรี นครนายก สุพรรณบุรี เพชรบูรณ์ นครราชสีมา กาฬสินธุ์ และยะลา
โดยโรงไฟฟ้ารายเล็กทุกราย ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกองทุนฯ เรื่องการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดตั้ง “คณะกรรมการไตรภาคี” อันประกอบด้วย ตัวแทนจากชุมชนที่ตั้งโครงการ ตัวแทนจากหน่วยงานราชการระดับท้องถิ่น และตัวแทนจากผู้ประกอบการเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้า เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางป้องกันแก้ไขที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าและมีผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของชุมชน เป็นกระบวนการช่วยสร้างความมั่นใจต่อกลไกของรัฐในการควบคุม ดูแล ให้โรงไฟฟ้าดำเนินงานภายใต้กรอบกฎหมาย
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า การทำงานของคณะกรรมการไตรภาคีมีประสิทธิภาพในการติดตามตรวจสอบโรงไฟฟ้า และมีส่วนช่วยให้โรงไฟฟ้าและชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ดังนั้น เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมได้ดีเยี่ยม กระทรวงพลังงานจึงได้มอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 4 โครงการ ได้แก่ 1. บริษัท ด่านช้าง ไบโอ-เอ็นเนอร์ยี จำกัด 2. บริษัท เอ.ที.ไบโอเพาเวอร์ จำกัด 3. บริษัท เอ เอ พัลพ์ มิลล์ 2 จำกัด และ 4. บริษัท แอดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน)
รางวัลสำหรับคณะกรรมการไตรภาคีดีเด่นในการกำกับดูแลโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 2 รางวัล ได้แก่ คณะกรรมการไตรภาคีบริษัท ไทยเพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด และบริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด นอกจากนี้ยังมีรางวัลสำหรับคณะกรรมการไตรภาคีแบบอย่างในการกำกับดูแลโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 4 รางวัล ได้แก่ คณะกรรมการไตรภาคี 1. บริษัท เอ ที ไบโอเพาเวอร์ จำกัด 2.บริษัท พีอาร์จี พืชผล จำกัด 3. บริษัทเอ เอ พัลพ์ มิลล์ 2 จำกัด และบริษัท แอ็ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) และ 4. บริษัท น้ำตาลสระบุรี จำกัด
“โครงการส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน คงไม่สามารถประสบความสำเร็จ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างเข้มแข็งของคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งกระทรวงพลังงานมุ่งหวังว่า คณะกรรมการไตรภาคี จะยังคงร่วมมือกันดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง และก้าวสู่การเป็น “องค์กรชุมชน” ที่จะร่วมกันกำหนดแนวทางพัฒนาด้านพลังงานในชุมชนของตนเองได้ต่อไปในอนาคต” นายเมตตากล่าว
จากทั้ง 20 โครงการที่ได้รับอนุมัติจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พบว่ามีผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก 6 ราย ประสบปัญหาในการดำเนินการและได้ขอยกเลิกโครงการ ซึ่งประกอบด้วย
1. บริษัทราชบุรีโฮล์ดิ้ง จำกัด ผู้เสนอผลิตไฟฟ้า ด้วยพลังน้ำจากเขื่อนของกรมชลประทาน 3 โครงการประกอบด้วย เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เขื่อนคลองท่าด่าน จ.นครนายก และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.สระบุรี ที่ชะลอการก่อสร้าง เนื่องจากมติครม. ที่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินการ และกระทรวงพลังงานเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านเทคนิค
2. บริษัทอุตสาหกรรมโคราช จำกัด ผู้เสนอผลิตไฟฟ้า โดยใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิง ที่ขอยกเลิกการเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากมติครม.ที่จำกัดพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเป็นผลให้บริษัทประสบปัญหาการจัดหาเชื้อเพลิง
3. บริษัทน้ำตาลตะวันออก จำกัด ผู้เสนอผลิตไฟฟ้าโดยใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลง ที่ขอยกเลิกการเข้าร่วมโครงการ เนื่องจาก บริษัทไม่มีธุรกิจหรือกิจกรรมใดที่เกียวข้องกับการผลิตน้ำตาลและการขายไฟฟ้าโดยได้โอนสิทธิ์และหน้าที่ให้กับบริษัทน้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด
4. บริษัทไฟฟ้าชนบท จำกัด ผู้เสนอผลิตไฟฟ้าโดยใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงที่ขอยกเลิกการเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากประสบปัญหาการจัดการภายในบริษัท