กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--เอสซีจี
เอสซีจี จับมือสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย เปิดตัวสุดยอดหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP_PRO ผลงานนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เจ้าของแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยแห่งประเทศไทย Thailand Rescue Robot Championship 2008 เดินหน้าพัฒนาสมรรถนะหุ่นยนต์เต็มกำลัง พร้อมเป็นตัวแทนสู้ศึกระดับโลกและป้องกันแชมป์ให้ประเทศไทยสมัยที่ 4 ในการแข่งขัน World RoboCup 2009 ณ เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย วันที่ 29 มิถุนายน — 5 กรกฎาคมนี้
นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย สนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย Thailand Rescue Robot Championship อย่างจริงจังต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 และได้ส่งทีมชนะเลิศในแต่ละปีไปร่วมแข่งขันในเวทีหุ่นยนต์นานาชาติ เพื่อสนับสนุนและสร้างโอกาสให้เยาวชนไทยได้พิสูจน์ฝีมือทางนวัตกรรมในสนามทดสอบด้านเทคโนโลยีระดับโลก ที่ผ่านมาเยาวชนไทยได้พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพเป็นอย่างดี โดยคว้าแชมป์โลกติดต่อกันถึง 3 สมัย สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยอย่างยิ่ง ทำให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันทุกชาติให้การยอมรับความสามารถของเด็กไทยอย่างแท้จริง
“ล่าสุดทีม iRAP_PRO นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คว้าแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัย Thailand Rescue Robot Championship 2008 เอาชนะผู้เข้าร่วมแข่งขัน 77 ทีม จาก 49 สถาบันทั่วประเทศ รวมทั้งผู้เข้าแข่งขันต่างชาติจากญี่ปุ่น 1 ทีม และอิหร่าน 2 ทีม เตรียมพร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก World RoboCup 2009 ที่เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย วันที่ 29 มิถุนายน — 5 กรกฎาคมนี้ นอกจากความสามารถของสมาชิกทุกคนแล้ว ทีม iRAP_PRO ยังมีความตั้งใจและความมุ่งมั่นสูงมากที่จะนำชัยชนะกลับมา เพื่อรักษาแชมป์ให้ประเทศไทยสมัยที่ 4 อีกด้วย” นางวีนัส กล่าว
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง 4 - 5 ปีที่ผ่านมา วงการหุ่นยนต์ไทยมีพัฒนาการที่ดีและมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากความสนใจของนักศึกษาที่สมัครเข้าแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งตื่นตัวในการค้นคว้าหาข้อมูลและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของหุ่นยนต์ให้มีความพร้อม ทั้งรูปร่างที่หลากหลาย และประสิทธิภาพที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การพัฒนาระบบเคลื่อนไหว การวาดแผนที่อัตโนมัติ การติดกล้องที่มีความละเอียดสูง และการใช้ระบบการสื่อสารแบบไร้สาย (Wireless LAN) เป็นต้น
ความสำเร็จของทีมเยาวชนไทยที่สามารถคว้าแชมป์จากเวทีหุ่นยนต์กู้ภัยโลกมาได้ถึง 3 สมัยติดต่อกัน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนไทยว่ามีความสามารถทัดเทียมกับประเทศที่มีความเจริญทางด้านเทคโนโลยี เป็นการยกระดับวงการหุ่นยนต์กู้ภัยของไทย ให้ได้รับความสนใจและถูกจับตามองมากขึ้น และเพื่อนำมาต่อยอดช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากเหตุการณ์ต่างๆ ทางสมาคมฯ ยังคงมุ่งมั่นผลักดันให้เยาวชนพัฒนาหุ่นยนต์กู้ภัยให้มีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น รวมทั้งพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้งานจริง
รศ.ดร.วิบูลย์ ชื่นแขก คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดเผยถึงประสิทธิภาพของหุ่นยนต์กู้ภัยว่า สมาชิกในทีม iRAP_PRO ทุกคนได้ช่วยกันพัฒนาหุ่นยนต์กู้ภัยให้มีสมรรถนะสูงสุด โดยมีหุ่นยนต์กู้ภัยทั้งหมด 3 ตัว ประกอบด้วย หุ่นยนต์บังคับด้วยมือ 2 ตัว และหุ่นยนต์อัตโนมัติ 1 ตัว ใช้ระบบสายพานในการขับเคลื่อน สามารถเคลื่อนที่ได้ทุกสภาพผิว จุดเด่นคือแขนกลที่มีกล้องติดอยู่ และมีความคล่องตัวสูง กำหนดทิศทางการเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ หมุนได้ 360 องศารอบตัว และสามารถยืดความยาวเพื่อเพิ่มขอบเขตการมองเห็นได้ เชื่อว่าเป็นจุดแข็งของเราที่จะทำให้มีโอกาสคว้าแชมป์โลกได้
นายอาทิตย์ ตระกูลธงชัย หรือน้องบิ๊ก ในฐานะหัวหน้าทีม iRAP_PRO เปิดเผยถึงความพร้อม และความมั่นใจในการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยว่า ถึงแม้จะเป็นการลงแข่งขันในเวทีระดับโลกเป็นครั้งแรก แต่ก็ไม่รู้สึกกดดันมากนัก พยายามพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นมาใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้เวลา 6 เดือนหลังจากเป็นแชมป์ประเทศไทย คิดค้น พัฒนา เพิ่มเทคนิค เพื่อรองรับเหตุการณ์ได้ทุกสถานการณ์ ทำให้มั่นใจว่ามีศักยภาพพร้อมสำหรับการแข่งขันกับนานาประเทศ อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ความร่วมมือของทุกคน และการทำงานเป็นทีม ซึ่งก็เป็นหัวใจสำคัญในการก้าวไปสู่ความสำเร็จเช่นกัน
World RoboCup เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 แบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ฟุตบอลหุ่นยนต์ (RoboCup Soccer) หุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCup Rescue) หุ่นยนต์ทำงานบ้าน (RoboCup @Home) และหุ่นยนต์ระดับเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี (RoboCup Junior) โดยในปี 2009 นี้ จัดขึ้นที่เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย มีผู้สมัครเข้าแข่งขันกว่า 300 ทีม จากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก สำหรับการแข่งขันประเภท RoboCup Rescue หรือหุ่นยนต์กู้ภัย มีผู้สมัครเข้าแข่งขัน 24 ทีม จาก 13 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ออสเตรีย ออสเตรเลีย แคนาดา จีน เยอรมนี กรีซ อิหร่าน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก ปากีสถาน สวีเดน สหรัฐอเมริกา และไทย สำหรับทีม iRAP_PRO ตัวแทนประเทศไทย จะเดินทางไปร่วมแข่งขันที่เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน — 7 กรกฎาคม 2552
Thailand Rescue Robot Championship โครงการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคม ที่เอสซีจีริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2547 มีเป้าหมายในการสนับสนุน และส่งเสริมให้เยาวชนไทยพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงสร้างโอกาสให้เยาวชนได้แสดงออกซึ่งความสามารถด้านนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ที่ผ่านมาเอสซีจีได้สนับสนุนทีมหุ่นยนต์กู้ภัยเข้าร่วมแข่งขันระดับโลกมาโดยตลอด และตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยสามารถคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยมาได้ถึง 3 สมัยซ้อน
บรรยายภาพ นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร (ที่ 2 จากขวา) ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ (กลาง) นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย และรศ.ดร.วิบูลย์ ชื่นแขก (ที่ 4 จากขวา) คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมเปิดตัวสุดยอดหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP_PRO ผลงานนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เจ้าของแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัย Thailand Rescue Robot Championship 2008 ซึ่งจะเป็นตัวแทนประเทศไทยสู้ศึกระดับโลก ในการแข่งขัน World RoboCup 2009 ณ เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย วันที่ 29 มิถุนายน — 5 กรกฎาคมนี้