ทริสเรทติ้งวิเคราะห์ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยปี 2552 ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 15, 2009 07:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สถาบันจัดอันดับเครดิตของไทย แถลงถึงภาวะธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชี้ว่าผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยในประเทศไทยยังคงเผชิญกับภาวะการอ่อนตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2552 โดยเฉพาะในกลุ่มบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ซึ่งชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2550 ในขณะที่การเปิดตัวโครงการอาคารชุดใหม่ๆ เริ่มชะลอตัวลงในปีนี้ ซึ่งทำให้คาดว่าจำนวนโครงการที่อยู่อาศัยที่ออกใหม่ทั้งหมดในปี 2552 จะลดลงจากปี 2551 โดยทริสเรทติ้งเชื่อว่าการชะลอตัวของธุรกิจที่อยู่อาศัยในปี 2552 จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับการหดตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศซึ่งได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายใน ได้แก่ การขาดความเชื่อมั่นของผู้บริโภค การชะลอการลงทุน และการขาดเสถียรภาพทางการเมือง ประกอบกับปัญหาการหดตัวของเศรษฐกิจโลกภายหลังวิกฤตทางการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งกระทบต่อรายได้รับของประเทศไทยจากการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งแม้ว่าอาจเป็นไปได้ที่ภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจโลกอาจถึงจุดต่ำสุดภายในปลายปี 2552 แต่การฟื้นตัวของธุรกิจที่อยู่อาศัยในประเทศไทยในอนาคตคงต้องขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ รวมทั้งความต่อเนื่องของมาตรการของรัฐบาลในการสนับสนุนภาคธุรกิจนี้ สำหรับภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศไทยในปี 2551 ที่ผ่านมานั้น พบว่ามีความผันผวนมากทั้งจากแรงกดดันของภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ รวมทั้งวิกฤตสถาบันการเงินโลก ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ซื้อบ้านที่ทำให้มีการชะลอการซื้อออกไป อย่างไรก็ดี ธุรกิจนี้ยังได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลที่นำมาใช้ตั้งแต่ต้นปี 2551 และความต้องการที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดที่เพิ่มขึ้นภายใต้ภาวะน้ำมันแพง ทำให้มียอดขายอาคารชุดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 ประกอบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ส่วนมากมีความระมัดระวังในการลงทุนและการก่อหนี้ จึงส่งผลให้บริษัทส่วนมากสามารถรักษาระดับอัตรากำไรและควบคุมภาระหนี้เอาไว้ได้ ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยที่จัดอันดับเครดิตกับทริสเรทติ้งเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ และทั้งหมดเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยในปี 2551 มีผู้ประกอบการที่จัดอันดับเครดิตกับทริสเรทติ้งและประกาศผลต่อสาธารณะจำนวนรวม 10 ราย ซึ่งมีอันดับเครดิตอยู่ระหว่าง “A” ถึง “BBB” จากการที่ผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตมักเป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดค่อนข้างมากและมีฐานะการเงินที่มั่นคง จึงทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มีความได้เปรียบในการแข่งขันในช่วงที่ตลาดชะลอตัว ซึ่งเห็นได้จากระดับของอัตรากำไรและอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนโดยเฉลี่ยของผู้ประกอบการซึ่งจัดอันดับเครดิตกับทริสเรทติ้งในปี 2551 ที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และบางรายกลับมีผลประกอบการที่ดีขึ้นแม้ว่าหลายรายมียอดขายที่ลดลงอย่างมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก็ตาม ในช่วงปี 2551 ทริสเรทติ้งมีการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยจำนวน 3 ราย ได้แก่ บมจ. พฤกษา เรียลเอสเตท ซึ่งปรับเพิ่มเป็น “A-/Stable” (อันดับเครดิตระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่”) จากเดิม “BBB+/Positive” และ บมจ. ควอลิตี้ เฮ้าส์ ซึ่งปรับขึ้นเป็น “A-/Stable” จาก “BBB+/Stable” ในขณะที่ บมจ. ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ปรับลดเป็น “BBB/Stable” จาก “BBB+/Negative” ทริสเรทติ้งยังพบว่าผู้ประกอบการที่มีผลการดำเนินงานดีขึ้นในปี 2551 ส่วนมากเป็นผลจากการขยายตัวของยอดขายในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ประกอบกับมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากการลดค่าใช้จ่ายด้านภาษีลงบางส่วน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่มีการออกโครงการอาคารชุดในปี 2550 และ 2551 ส่วนมากมียอดขายและอัตรากำไรเพิ่มขึ้นจากการรับรู้รายได้จากการขายอาคารชุดที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและโอนให้แก่ผู้ซื้อในปีถัดไป นอกจากนี้ ในปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนมากต่างก็เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนและการก่อหนี้ รวมทั้งได้เตรียมแหล่งเงินทุนระยะยาวเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลง เช่น การออกหุ้นกู้ และการกู้เงินระยะยาวจากสถาบันการเงิน ทริสเรทติ้งคาดการณ์แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปี 2552 ว่าจะมีความยากลำบากยิ่งขึ้นแม้รัฐบาลจะทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ออกมาแล้ว ซึ่งในบรรดามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมาได้รวมเอามาตรการสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรที่เก็บจากการซื้อขายที่อยู่อาศัยเอาไว้ด้วย ปัจจัยสำคัญในระยะสั้นที่จะกระทบต่อความต้องการที่อยู่อาศัย ได้แก่ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความสามารถในการใช้จ่ายของผู้ซื้อบ้าน ทั้งนี้ ปัจจัยลบที่สำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ การถดถอยของภาวะเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงาน การตกลงอย่างมากของราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (ซึ่งกระทบต่อระดับรายได้ของนักลงทุน) และปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทั้งนี้ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2552 จะหดตัวลง 2.5% ถึง 3.5% ปัจจัยสำคัญที่ทริสเรทติ้งจะต้องติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่องเพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนอันดับเครดิตของผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยในปี 2552 ได้แก่ ความสามารถของผู้บริหารในการปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ความต้องการที่อยู่อาศัยลดลง ความมีวินัยทางการเงิน ความสามารถในการบริหารสภาพคล่อง รวมถึงการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการเงิน และระดับความแข็งแกร่งของการสนับสนุนจากบริษัทแม่ โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการที่มีรายได้จากการขายโครงการอาคารชุดนั้น ทริสเรทติ้งจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่ความสามารถในการโอนอาคารชุดที่สร้างแล้วเสร็จตามแผน และระดับความสามารถในการแข่งขัน ทริสเรทติ้งกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ