ประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสสองโดยคณะเศรษฐศาสตร์ และศูนย์วิจัย ม.รังสิต

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 15, 2009 08:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง คาดการณ์เศรษฐกิจไตรมาส สอง ข้อเสนอแนะทางนโยบาย ทิศทางภาคอุตสาหกรรม ค่าเงิน อัตราดอกเบี้ยและตลาดหุ้น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูปมองเศรษฐกิจโลกติดลบเกือบ 2% ชี้เศรษฐกิจไทยเจอภาวะเงินฝืด เข้าสู่เศรษฐกิจถดถอย หรือ Technical Recession แล้วตั้งแต่ไตรมาสหนึ่ง คาดคนตกงานสูงกว่าตัวเลขประมาณการของทางการอย่างมาก ว่างงานไม่ต่ำกว่า 1 ล้าน 4 แสนคน แต่เศรษฐกิจน่าจะกระเตื้องขึ้นในไตรมาสสี่ปี 52 ปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว การไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมจะทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ เป็นปัจจัยลบสำคัญต่อการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน โครงการที่ไม่โปร่งใสและไม่เหมาะสมจะสร้างปัญหาต่อฐานะทางการคลังและความสามารถในการแขงขันของประเทศในระยะต่อไป ราคาน้ำมันจะเคลื่อนไหวในระดับ 60-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงที่เหลือของปี อัตราดอกเบี้ยจะทรงตัวในระดับต่ำและลดลงได้อีกเล็กน้อยแต่ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นจากเงินเฟ้อติดลบ และอาจเกิดสภาวะกับดับสภาพคล่อง (Liquidity Trap) ทางการควรเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทแข็งค่าเนื่องจากดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนตัวต่อเนื่อง ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีโอกาสทดสอบระดับ 680-700 ช่วงปลายปีโดยจะมีการปรับฐานครั้งใหญ่ช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาสสอง 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต อาคารสาทรธานี ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แถลงถึงการคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้น่าจะขยายตัวติดลบประมาณ 1.9% โดยเริ่มมีสัญญาณของการกระเตื้องขึ้นของตลาดการเงินโลกในช่วงไตรมาสสอง ส่วนภาคการผลิต การค้า การลงทุนระหว่างประเทศน่าจะมีการฟื้นตัวชัดเจนในช่วงปลายปี ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยล้วนมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจติดลบโดยที่สหรัฐอเมริกาติดลบ 3.5 ยุโรปติดลบ 3.3 ญี่ปุ่นติดลบมากถึง 5.8% ขณะที่ประเทศภูมิภาคเอเชียยังมีอัตราการเติบโตเป็นบวกในบางประเทศ เช่น จีน 7% อินเดีย 6% แต่ทุกประเทศจะขยายตัวเป็นบวกได้ในปีหน้าสะท้อนการกระเตื้องตัวขึ้นของเศรษฐกิจโลกเป็นรูป V-shape จากการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการเพิ่มการขาดดุลงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลายแสนล้านดอลลาร์ทั่วโลก อย่างไรการปรับภาวะความไม่สมดุลของเศรษฐกิจจะยังดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะมีผลทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ลดความสำคัญต่อระบบการเงินโลกมากขึ้นตามลำดับ หากไม่มีปัจจัยลบรุนแรงนอกเหนือการคาดการณ์เกิดขึ้นอีก ภาวะการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจโลกน่าจะทำให้อุตสาหกรรมส่งออกของไทยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่หดตัวอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ส่วนอุตสาหกรรมอัญมณีเครื่องประดับ สิ่งทอเครื่องหนัง มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การกระเตื้องขึ้นของดัชนีภาคการผลิตของเศรษฐกิจอาจเป็นเพียงผลของการตอบสนองต่อสินค้าคงคลังที่ลดลง ซึ่งทำให้การฟื้นตัวมีความอ่อนแอและไม่ยั่งยืน ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ภาวะดังกล่าวทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 52 จะอยู่ระหว่างติดลบ 2.5-3.5% โดยคาดว่าจีดีพีไตรมาสสองจะติดลบที่ -5.5 โดยจีดีพีเริ่มเป็นบวกตั้งแต่ไตรมาสสาม ไตรมาสสามขยายตัวเพียง 0.8% ไตรมาสสี่อยู่ที่ 1.8% อัตราเงินเฟ้อติดลบ 0.8-1% เศรษฐกิจเผชิญกับปัญหาเงินฝืดและความถดถอยอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสแรกปีนี้ และ ยังคงดำเนินต่อไปอีกสองไตรมาส คือ ไตรมาสสองและไตรมาสสาม โดยที่เศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นในไตรมาสสี่ซึ่งอาจมีจีดีพีเป็นบวก ตัวเลขคนว่างงานที่แท้จริงจะสูงกว่าที่ทางการประเมินไว้มากพอสมควร เนื่องจากแรงงานไทยจำนวนมากไม่ได้อยู่ในระบบการจ้างงานที่เป็นทางการ รวมทั้งแรงงานภาคเกษตร นอกจากนี้ปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่ง คือ ว่างงานแฝงและการทำงานไม่ได้เต็มศักยภาพเนื่องจากระบบเศรษฐกิจหดตัว จำนวนคนว่างงานที่แท้จริงน่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 1 ล้าน 4 แสนคน หากรวมเข้ากับนักศึกษาจบใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างล่าช้าในช่วงสองไตรมาสแรกของปีงบประมาณ การเร่งรัดการใช้จ่ายก็ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างมีนัยยสำคัญในช่วงครึ่งปีหลัง การคาดหวังว่า การลงทุนภาครัฐจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการจ้างงานจึงยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ดร. อนุสรณ์ ชี้ว่า ภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นในไทยเป็นผลจากการหดตัวของเศรษฐกิจอย่างแรง บวกเข้ากับ สภาวะที่สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ การคาดการณ์ในแง่ร้ายของประชาชนและภาคธุรกิจ ทำให้ลดการบริโภคและการลงทุน ทำให้การลงทุนเอกชนทั้งปีติดลบมากกว่า -17.5% ภาคการบริโภคเอกชนเติบโตไม่ถึง 1% อย่างไรก็ตามมีสัญญาณของการบริโภคและการลงทุนที่กระเตื้องขึ้นบ้างช่วงไตรมาสสาม คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์ของการติดลบน่าจะลดน้อยลง ทางคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูปประเมินอีกว่า อัตราการขยายตัวของภาคส่งออกในปีนี้จะอยู่ที่ติดลบ 18.5% ซึ่งต่างจากเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ค่อนข้างมาก ขณะที่อัตราการเติบโตของการนำเข้าจะหดตัวในระดับที่สูงมากสะท้อนการอัตราการขยายตัวติดลบของการลงทุนภายในประเทศและการชะลอตัวลงอย่างแรงของธุรกิจอุตสาหกรรมที่ใช้สัดส่วนวัตถุดิบนำเข้าสูง ทางคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยออกเป็นสองกรณี โดยที่ กรณีพื้นฐาน (Base Case) และ กรณีเลวร้าย (Worst Case) โดยที่ปัจจัยสำคัญ คือ นโยบายการคลังและการใช้จ่ายภาครัฐ ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ได้วิเคราะห์ถึง แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยว่ามีโอกาสปรับลดลงได้อีกอย่างน้อย 0.25-0.5% ในช่วงที่เหลือของปี ยกเว้นรัฐบาลสามารถกู้เงินได้จากระบบตามเป้าหมายหรือตามแผนงาน และ มีการเร่งรัดการลงทุนภาครัฐตามเป้าหมาย ก็จะไม่ทำให้ดอกเบี้ยปรับลดลงอีก แต่ก็จะไม่มีแรงกดดันให้อัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น เพราะสภาพคล่องในระบบยังมีอยู่สูง เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนติดลบ และ ธนาคารกลางประเทศต่างๆทั่วโลกต่างดำเนินนโยบายผ่อนคลายอย่างมาก การออกพันธบัตรกู้เงินของรัฐบาลไทย จะไม่มีผลให้ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ดอกเบี้ยระยะสั้นอาจปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้นดอกเบี้ยต่ำแต่ต้นทุนการกู้ยืมที่แท้จริงสูงขิ้นจากเงินเฟ้อติดลบ และ อาจเกิดสภาวะกับดับสภาพคล่อง (Liquidity Trap) ซึ่งมีผลทำให้นโยบายการเงินมีประสิทธิภาพต่ำ ต้องเน้นการลงทุนภาครัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนทิศทางราคาน้ำมันมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นและมีโอกาสแตะระดับ 85-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงปลายปี ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและภาคการผลิตที่เริ่มกระเตื้องขึ้น ส่วนค่าเงินบาทในระยะสั้นช่วงสามเดือนข้างหน้ามีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากเงินทุนไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย และ การเกินดุลการค้า มีโอกาสแข็งค่าถึงระดับ 31-32 ต่อดอลลาร์ ช่วงไตรมาสสี่อาจกลับมาอ่อนค่าอีกเมื่อเงินทุนบางส่วนไหลกลับสหรัฐอเมริกา (เศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น) และการลงทุนในประเทศเริ่มฟื้นตัว (มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น) สำหรับ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในช่วงปลายปีสามารถขึ้นไปถึงระดับ 680-700 จุด โดย Sector ที่น่าลงทุน ได้แก่ กลุ่มพลังงาน (ได้รับผลดีจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นและกำไรจากสต๊อคน้ำมัน) กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง (ได้รับประโยชน์จาก Mega Projects ของรัฐบาล) กลุ่มสถาบันการเงิน (ได้รับประโยชน์จาก พรก เงินกู้) คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ได้มีข้อเสนอแนะนโยบายต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในช่วงนี้ ดังนี้ ประการแรก เร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ พลักดันโครงการขนาดใหญ่อย่างมียุทธศาสตร์ โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ยกเลิกโครงการการลงทุนที่ไม่สมเหตุสมผลและมีกลิ่นคาวการทุจริตคอร์รัปชัน ประการที่สอง เสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้าสู่ระบบประกันสังคมแทนนายจ้างและลูกจ้างเป็นเวลา 6 เดือนลดปัญหาการเลิกจ้าง ไม่ควรใช้วิธีลดจ่ายเงินสมทบเพราะกระทบต่อความมั่นคงของระบบประกันสังคมในระยะยาว ประการที่สาม ช่วยเหลือแรงงานในระบบเหมาช่วงที่ถูกเลิกจ้างให้เข้าถึงสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพอิสระ ประการที่สี่ ทะยอยยกเลิกการรับจำนำสินค้าเกษตรและให้ปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบประกันราคาขั้นต่ำแทน ประการที่ห้า ขยายเพดานเงินกู้หนี้สาธารณะอย่างรอบคอบ การชดเชยการขาดดุลงบประมาณควรใช้มาตรการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วย ประการที่หก ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการลงทุนภาครัฐทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่เป็น Hardware (ระบบชลประทาน ระบบขนส่งมวลชนระบบราง ระบบสื่อสารโทรคมนาคม เป็นต้น) และ Software (คุณภาพระบบการศึกษา การวิจัย เทคโนโลยีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ คุณภาพและคุณธรรมของคน) ทางการควรบริหารจัดการค่าเงินบาทให้อ่อนค่าโดยไม่ฝืนกลไกลตลาด ประการที่เจ็ด ลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 25% โดยให้ชดเชยรายได้ภาษีของรัฐด้วยการเก็บภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สินแทน ประการที่แปด ทางการควรบริหารจัดการให้เงินบาทอ่อนค่าโดยไม่ฝืนกลไกตลาด ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนายการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูปในฐานะคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่จะมีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจมากกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจ คือ ความไม่มีเสถียรภาพของระบบการเมือง ความรุนแรงทางการเมืองและความไม่เป็นธรรมต่างๆที่จะนำมาสู่ความขัดแย้งและสภาพอนาธิปไตยอีกรอบหนึ่ง การปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้าน และ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและความไม่เป็นธรรม รวมทั้งทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลอ่อนแอเป็นสิ่งพลักดันให้เกิดขึ้น ผ.ศ. ดร. ธรรมนูญ พงษ์ศรีกูร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวถึง แนวโน้มอุตสาหกรรม (ดูเอกสารประกอบการบรรยาย) อาจารย์วรรณกิตติ์ วรรณศิลป์ นักวิจัยและอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวเสริมว่า (ดูเอกสารประกอบการบรรยายว่าด้วยเศรษฐกิจโลก) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป จุฑาทิพ ลือเลิศยศ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต โทร. 02-9972222 ต่อ 1251

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ