BOI เปิดสัมมนาเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในหัวข้อ “การเปิดเสรีการลงทุนของอาเซียนภายใต้ความตกลง ACIA”

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 15, 2009 15:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--บีโอไอ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เปิดสัมมนาเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในหัวข้อ “การเปิดเสรีการลงทุนของอาเซียนภายใต้ความตกลง ACIA” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน แนวทางการเปิดเสรีการลงทุน เตรียมความพร้อมและรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดข้อสงวนของไทย ภายใต้ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement) หรือ ACIA เมื่อวันศุกร์ 12 มิถุนายน 2552 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น (หลักสี่) ดร. อรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวเปิดงานสัมมนาว่า “การจัดงานสัมมนาเวทีสาธารณะในวันนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุน เนื่องจากเป็นเวทีที่จะเผยแพร่ความรู้ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของการเปิดเสรีการลงทุนในอาเซียน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราอย่างยิ่ง การเปิดเสรีการลงทุนเป็นส่วนหนึ่งของงานส่งเสริมการลงทุน ซึ่ง BOI ได้ดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 40 ปี ด้วยภาวะเศรษฐกิจและภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลกปัจจุบัน อาเซียนจึงจำเป็นต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาค โดยการมุ่งไปสู่การรวมตัวที่แน่นแฟ้นกว่าเดิมในรูปแบบของ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” เพื่อให้สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ หรือประชากรกว่า 550 ล้านคน กลายเป็นฐานตลาดเดียวกันในอีก 5 ปีข้างหน้า การรวมเป็นหนึ่งของชาติอาเซียน เพื่อให้อาเซียนมีความเป็นหนึ่งเดียวในด้านการลงทุน และเป็นฐานรองรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น จึงได้มีการจัดทำความตกลงด้านการเปิดเสรีการลงทุนครั้งแรกขึ้นในปี 2541 ที่เรียกว่า AIA และมีผลบังคับใช้มาโดยตลอด การเปิดเสรีจะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้กับอาเซียน ในการพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันในเวทีโลก จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงความตกลง ส่งผลให้มีการลงนามความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน หรือ ACIA ไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ หัวหิน ในระหว่างการประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 14 ที่ผ่านมา” เลขาธิการ BOI กล่าวต่อไปว่า “ขณะนี้ BOI กำลังรวบรวมความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน และจากเวทีสาธารณะในวันนี้ เพื่อจัดทำเป็นรายการข้อสงวน เมื่อจัดทำแล้วเสร็จจะนำเข้าสู่การพิจารณาขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ก่อนดำเนินการให้ความตกลงฉบับนี้จะมีผลบังคับต่อไป งานสัมมนาเวทีสาธารณะในวันนี้ ได้รับเกียรติจากภาครัฐ และตัวแทนภาคธุรกิจครอบคลุมธุการกิจที่เปิดเสรีมาร่วมกันมองหาช่องประโยชน์และชี้แนะโอกาสการลงทุน รวมทั้งแลกเปลี่ยนมุมมองต่างๆในการเปิดเสรีด้านการลงทุนตามความตกลง ACIA นี้ หวังว่าทุกท่านจะได้ประโยชน์จากการสัมมนาในวันนี้” หลังจากเปิดงานสัมมนาจึงเป็นเวทีในการให้ความรู้ เกี่ยวกับภาพรวมในของอาเซียนและการประสานผลประโยชน์ในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยนายสุภัฒ สงวนดีกุล ผู้อำนวยการสำนักอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวบรรยายสรุปภาพรวมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า “อาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อตั้งเมื่อ 2510 มีจุดประสงค์แรกเพื่อสร้างความมั่นคง ต้านภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีความร่วมมือทางด้านเศรษกิจของอาเซียน โดยที่ผ่านมามีความร่วมมือทั้ง 3 ด้าน ที่สำคัญคือ เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ลงนามเมื่อปี 2535, กรอบความตกลงด้านการค้าบริการ (AFAS) เริ่มปี 2538 และเขตการลงทุนอาเซียน (AIA) เริ่มปี 2538 ซึ่งกรอบความร่วมมือดังกล่าวเป็นจุดเริ่มของความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจในประเทศสมาชิก มีการลดภาษี และถูกจับตามองจากตลาดโลกว่าจะเป็นจะกลายเป็นตลาดใหญ่ต่อไปในอนาคต โดยทั้ง 10 ประเทศได้ลงนามร่วมกันเพื่อยืนยันเจตนาร่วมกันให้ดำเนินการสำเร็จตามกำหนดในปี 2558” การมุ่งสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายใต้แนวคิด One Vision, One Identity, One Community โดยในปี 2550 ที่ผ่านมาได้มีการลงนามในปฏิญญาเซบูเพื่อเร่งรัดให้เป็น “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” เร็วขึ้น จากเดิมปี 2020 ให้เป็นปี 2015 คุณสุภัฒยังได้กล่าวอธิบายแผนงานใน AEC Blueprint ด้วยว่า แผนงานที่สำคัญภายใต้ AEC Blueprint มีเป้าหมายเพื่อ (1) เป็นตลาดและฐานการผลิตร่วม มุ่งให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า, บริการ, แรงงานฝีมือ, การลงทุน, และเงินทุน อย่างเสรี (2) สร้างเสริมขีดความสามารถแข่งขัน ในความร่วมมือ อาทิ e-ASEAN, นโยบายการแข่งขัน, นโยบายภาษี, สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา, การค้มครองผู้บริโภค เป็นต้น (3) การพัฒนเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค ด้วยการลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างสมาชิกเก่าและใหม่ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนา SMEs และ (4) การบูรณาการเข้ากับสินศรษฐกิจโลก โดยปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจ และสร้างเครือข่ายการผลิต จำหน่าย โดยเฉพาะการจัดทำเอฟทีเอกับประเทศนอกภูมิภาค เช่น อาเซียน+3 อาเซียน+6 อาเซียน-อียู ทั้งนี้ คุณสุภัฒอธิบายประโยชน์ของประชมคมเศรษฐกิจอาเซียน สรุปได้ว่า เป็นตลาดขนาดใหญ่ 550 ล้านคนที่สามารถจะดึงดูดเงินลงทุนจากประเทศนอกอาเซียนได้มากขึ้น เป็นแหล่งวัตถุดิบ แรงงาน เทคโนโลยีและสถานที่ผลิต ที่สามารถลดต้นทุนในการผลิตให้ต่ำลงและได้เปรียบในเชิงการค้า อีกทั้งการรวมตัวกันจะทำให้เพิ่มกำลังการต่อรองได้ เป็นฐานการผลิตร่วมกันทั้ง 10 ประเทศ ขยายตลาดได้มากกว่า การบรรยายสรุปภาพรวมการเปิดเสรีด้านการลงทุนภายใต้ความตกลง ACIA โดย นางวาสนา มุทุตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือการลงทุนต่างประเทศ กล่าวว่า “ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement) หรือ ACIA เป็นความตกลงด้านการลงทุนที่ครอบคลุม 4 หลักใหญ่ คือ การเปิดเสรีการลงทุน การให้ความคุ้มครองการลงทุน การส่งเสริมการลงทุน และการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน โดยลงนามไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 ในระหว่างการประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 14 ที่ชะอำ ประเทศไทย การเปิดเสรีการลงทุนใน 5 สาขาธุรกิจหลัก ได้แก่ เกษตร, ประมง, ป่าไม้, เหมืองแร่ และอุตสาหกรรมการผลิต และกิจการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับ 5 สาขาดังกล่าวเพื่อรองรับการรับช่วงการผลิต การเปิดเสรีการลงทุน เป็นการกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศวิธีหนึ่ง โดยการให้สิทธิพิเศษกับนักลงทุนจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและ นักลงทุนต่างชาติที่มีกิจการอยู่ในอาเซียน (Foreign-owned ASEAN-based investor) ในการเข้ามาลงทุนได้อย่างเสรีมากกว่านักลงทุนจากประเทศอื่นๆ” อย่างไรก็ดี คุณวาสนายังได้อธิบายเรื่องการเปิดเสรีการลงทุนเพิ่มเติมอีกด้วยว่า “การเปิดเสรีหมายถึง การปฏิบัติและให้สิทธินักลงทุนอาเซียนเท่ากับนักลงทุนไทย ซึ่งแต่ละประเทศสามารถเลือกเปิดเสรีสาขาต่างๆได้ตามสมัครใจ สามารถกำหนดเงื่อนไขในการให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน หรือยังไม่พร้อมจะเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนทำกิจการใดก็สามารถสงวนเงื่อนไขและกิจการนั้นๆ ไว้ได้ และยังหมายถึงการผ่อนปรนหรือยกเลิกข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนที่เคยผูกพันไว้ในความตกลงเดิม ส่วนการคุ้มครองการลงทุนเพื่อเป็นหลักประกันให้นักลงทุนมั่นใจว่าจะได้รับความยุติธรรม เช่น การเวนคืน การชดเชยกรณียึดทรัพย์ หรือหากมีการฟ้องร้องก็สามารถทำได้ภายใต้กระบวนการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศได้ ผลที่จะเกิดในเชิงรับคือการเป็นแหล่งลงทุน ทั้งจากอาเซียนด้วยกันเองและจากต่างชาติ เกิดการจ้างงาน ถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาคุณภาพแรงงาน เป็นต้น ส่วนในเชิงรุก คือ โอกาสที่ธุรกิจไทยจะสามารถเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยมีหลักประกัน มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมความร่วมมือในระดับภูมิภาคนี้ได้ แต่พยายามพัฒนาให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้ให้ได้มากที่สุด” จากนั้นจึงเป็นการเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง “ประโยชน์จากการเปิดเสรีการลงทุนในอาเซียน” โดยผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ประกอบด้วย นายเจน นำชัยศิริ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, นายเชาวลิต เอกบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เปเปอร์ จำกัด (มหาชน), ดร.หลักชัย กิตติพล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยฮั้ว ยางพารา จำกัด, นายจุมพล รังสรรค์ ผู้อำนวยการฝ่ายโอเวอร์ซี ออเปอร์เรชั่น บริษัท ไทยซัมมิท ออโตพาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด และ ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย นายเจน นำชัยศิริ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวภาพรวมของการลงทุนและผลของ ACIA ว่า “ผมมองว่าเชิงรุกน่าสนใจมากกว่า เพราะว่า อาเซียนมีความหลากหลายในเรื่องปัจจัยการผลิต ทางด้านวัตถุดิบ ค่าแรง น่าจะมีโอกาสที่เราจะสามารถลดต้นทุนได้ อินโดนีเซีย มีค่าแรงถูกและมีตลาดขนาดใหญ่ เช่น ตลาดอาหารฮาลาล ผมมาจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ เมื่อหลายปีที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่ไปตั้งโรงงานที่จีน เพราะว่า เรามองแต่ละประเทศ เราไม่สามารถทำได้เพราะกำลังในการผลิต หรือขนาดตลาดไม่เพียงพอ แต่ความถนัดของแต่ละประเทศ ถ้าเรารวมกันเป็น supply chain จะส่งให้เรามีขีดความสามารถมากขึ้น แม้เอฟทีเอ มี Rules of Origin แต่เราก็สามารถที่จะสะสมถิ่นกำเนิดได้ เป็น supply chain ที่มีประสิทธิภาพ ฐานตลาดที่ใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะตลาดเวียดนาม นอกจากจะเป็นฐานการผลิตแล้ว ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจ อุตสาหกรรมก็น่าจะเติบโตได้ เพราะหากมีสิทธิประโยชน์ที่แน่นอนเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้ความเสี่ยงลดลง อะไรก็ตามที่ทำให้ความเสี่ยงลดลง ทำให้การลงทุนมากขึ้นแน่นอน” นายเชาวลิต เอกบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่เป็นภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ในการไปลงทุนในอาเซียนมาแล้ว กล่าวว่า “เอสซีจีเปเปอร์ในเครือซีเมนต์ไทย เรามองอาเซียนมานานและเป็นวิสัยทัศน์ของบริษัทมาหลายปีแล้ว เพราะเห็นศักยภาพ ทั้งเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีการเติบโต เรามีโรงงานตั้งอยู่ในอาเซียนอยู่แล้ว เกือบทุกประเทศ เว้นที่บรูไน ลาว และพม่า สำหรับการรวมประชาคมอาเซียน เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน เห็นชัดจากอียู ที่มีความเข้มแข็งแน่นอน แม้เราไม่รวมกันแต่ประเทศอื่นก็จะมองเป็นกลุ่มรวม การค้า การลงทุน จะมีความชัดเจนและก้าวหน้าไปมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทศในอาเซียนด้วยกัน เรายังไม่มีความแตกต่างจากประเทศภายนอกกลุ่ม เขาต้อนรับเราเหมือนกับที่ต้อนรับชาติอื่นๆ เรามีแนวความคิดแต่ยังไม่มีกรอบชัดเจน ที่ผ่านมา เราต่างคนตางอยู่ในบ้านของตัวเอง ซึ่งเอสเอ็มอีไทยอาจจะได้เปรียบกว่าไต้หวันได้ในอนาคตหากเราทำแบบนั้นได้จริง มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมคือ ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดหลายอย่างเกี่ยวกับกฎระเบียบในต่างประเทศ เช่น การถือครองที่ดิน พูดเรื่องการค้า แข่งขันรุนแรงรวดเร็วมาก เช่น การดัมพ์ราคาสินค้าเข้ามาในตลาด อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือภาคเอกชนทันต่อเวลาด้วย” ส่วน ดร.หลักชัย กิตติพล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยฮั้ว ยางพารา จำกัด นักธุรกิจในอุตสาหกรรมยางพารา กล่าวว่า “ผมคิดว่า ในภาพรวมทางด้านประชาชนได้ประโยชน์ เช่น สินค้าที่ถูกลง ส่วนทางด้านผู้ประกอบการ ผมเจาะลงไปทางด้านธุรกิจยางพารา ประเทศไทย เป็นโอกาสของกลางน้ำ ที่มีวัตถุดิบมาผลิต และส่งออกไปยังตลาดได้ จีนเริ่มสนใจมาลงทุน ทั้งกลางน้ำและการทำผลิตภัณฑ์ ถ้าเราใช้จุดเด่นตรงนี้ ก็น่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น แม้แรงงานของบางประเทศค่าแรงถูกกว่าแต่ว่าไม่ได้คุณภาพเท่ากับไทย อาจจะมีผลกระทบกับผู้ประกอบการ เช่น เอสเอ็มอีก็อาจจะมีผลกระทบ ภาครัฐน่าจะเข้ามาช่วยเอสเอ็มอีหรือขนาดกลางในการไปลงทุนต่างประเทศ จะทำให้มีโอกาสในการเติบโตได้ รัฐต้องเข้ามาช่วยดูแลผลประโยชน์ของประเทศไทย และช่วยเยียวยา ด้านการเงินกับการลงทุน ต้องช่วยกันทั้งสองฝ่าย” นายจุมพล รังสรรค์ ผู้อำนวยการฝ่ายโอเวอร์ซี ออเปอร์เรชั่น บริษัท ไทยซัมมิท ออโตพาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงธุรกิจของบริษัทและกิจการในเครือว่า “ธุรกิจหลักคือ ชิ้นส่วนรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ทำมา 33 ปีแล้ว มีบริษัทกว่า 30 บริษัท จ้างพนักงานกว่า 16,000 คน รายได้รวมกว่า 42,000 ล้านบาท ในประเทศ ที่เราทำธุรกิจในเชิงรุกเป็นประสบการณ์ของแต่ละประเทศ มีทั้งหมด 8 ประเทศ เริ่มจากมาเลเซีย เมื่อ 28 ปีที่แล้ว ตอนแรกค่อนข้างมีปัญหา ไทยไม่ค่อยสนับสนุนในการให้บริษัทไปลงทุนต่างประเทศ ส่วนต่างประเทศก็ยังไม่ยอมรับการลงทุนภายนอก เช่นการถือหุ้น การกู้เงิน อินเทนซีฟ ค่อนข้างลำบาก คุณจุมพลยังได้เล่าประสบการณ์ในเชิงรุกของการไปลงทุนทำธุรกิจในต่างประเทศและสถานการณ์ปัจจุบันของแต่ละประเทศด้วยว่า “แต่ปัจจุบันที่มาเลเซียก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จ มียอดขายกว่า 3,000 ล้านบาท ต่อมาคือ อินเดีย น่าสนใจมากเพราะตลาดขนาดใหญ่ 1,100 ล้านคน มีตลาดมอเตอร์ไซค์ 8 ล้านคัน ที่เราไปอินเดียเพราะตลาด เรื่องการกีดกันการลงทุนก็น้อยลง เมื่อ 5 ปีที่แล้วมีการส่งเส ริมการลงทุนบ้างแล้ว ปัจจุบันที่อินเดียมีโรงงาน 5 โรง จ้าง 3,000 คน ยอดขาย 3500 ล้านบาท อินโดนีเซีย มอเตอร์ไซค์ 6 ล้านคน เราไปลงทุนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว คาดว่าจะเพิ่มการผลิต 3-4 เท่าตัว ต่อมาเราไปลงทุนที่เวียดนาม มีตลาดมอเตอร์ไซค์ 3 ล้านคัน ซึ่งก็เติบโตดี ส่วนที่จีน เราร่วมทุนกับบริษัทของญี่ปุ่นเพื่อทำชิ้นส่วนรถยนต์ให้เมอซีเดสเบนซ์ และสุดท้ายที่ญี่ปุ่นเป็นการไปเทคโอเวอร์บริษัทที่ญี่ปุ่น” ในฐานะที่เป็นรุ่นพี่ในการไปลงทุนต่างประเทศ คุณจุมพลยังได้แนะนำผู้ประกอบการรายอื่นๆ ว่า “ขอเตือนเรื่องการลงทุน การไปต่างประเทศคงจะมีความยากสามเท่า ทั้งเรื่องภาษา วัฒนธรรม ตลาดใหม่ ลูกค้าใหม่ กฎหมายของแต่ละประเทศ อีกทั้งการเตรียมบุคลากร ถ้าเป็นไปได้ขอให้หาเพื่อน เช่น ร่วมลงทุน ปัญหาที่เจอคือ เรื่องภาษีเถื่อน แต่ไม่รู้จะแก้อย่างไร เวียดนามเปิดโอกาสเร็วมาก ใช้เวลาในการจดทะเบียนเปิดโรงงานภายใน 1 เดือน ไม่ต้องติดต่อเองด้วย ส่งเสริมให้ต่างชาติเข้าไปลงทุน เปรียบเทียบเวียดนามและอินโดนีเซีย ใช้เวลาถึง 3 เดือน” ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย “เราเป็น SMEs กลุ่มแรกๆ ที่ไปต่างประเทศ ทั้งในเอเชีย แอฟริกา การลงทุนในอาเซียน ราชการอาจจะมองว่าเป็นโอกาส ประเทศไทยดูแลนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างดี แต่ต่างชาติมักมีคำถามเรื่องนิติรัฐ หรือการใช้กฎหมายของไทย และการใช้อำนาจต่อรองของกลุ่มข้างถนน เช่น การต่อรองผลประโยชน์กับโรงงาน แต่สำหรับการไปต่างประเทศนั้น ส่วนใหญ่พร้อมที่จะกีดกัน และปกป้องเรา หรือข้อจำกัดเชิงนโยบาย เช่น ประมง เราก็ปิดประตูห้ามเข้ามา ถ้าเราเปิดก็เท่ากับเขาต้องเปิดให้เราด้วย ผมคิดว่าอย่างสาขาประมงขอให้เปิดไปเลย แต่อีกประการหนึ่งคือ การเอื้อประโยชน์ของประเทศเจ้าบ้าน บางประเทศก็ยังมีภาษีท้องถิ่น ภาษีรัฐ แต่บางทีก็ไปเจอมากกว่านั้น คือ ภาษีเถื่อน เช่น เราจะส่งผลไม้ไปอินโดนีเซียเจอค่าเปิดตู้ๆ ละแสน อุปสรรคใต้โต๊ะ แต่ว่ารัฐยังไม่เคยนำมาคุยกันอย่างเปิดเผยบนโต๊ะ กฎหมายก็เขียนไว้อย่างหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติก็มีอุปสรรคอยู่ และในเรื่องการคุ้มครองของรัฐเจ้าบ้าน หรือถ้ารัฐเจ้าบ้านให้ไม่พอ รัฐไทยต้องให้ความช่วยเหลือ รวมถึง กลไกของรัฐ รัฐบาลต้องเข้าไปดูแลการลงทุนในต่างประเทศของคนไทย ต้องมีวิธีการอย่างไรในการให้ความคุ้มครอง ส่วนการส่งเสริมของรัฐบาลไทย ควรมีปัจจัยไปด้วย เช่นร่วมมือกับเอ็กซิมแบงก์ เพราะบางทีมีเพียงปัจจัยการผลิต ไทยเราไม่มีเลย ต้องไปซื้อเครื่องจักรประเทศที่สาม อยากให้ชะลอความตกลง แล้วหันมาแก้ปัญหาอุปสรรคก่อน แล้วค่อยรุกไปข้างหน้า” อย่างไรก็ตาม คุณเจนได้กล่าวฝากทิ้งท้ายไว้ว่า “ส่วนใหญ่บริษัทขนาดใหญ่หากต้องการลงทุนก็มีช่องทางในการไปต่างประเทศได้ง่ายกว่า แต่สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก อยากฝากหน่วยงานภาครัฐทั้งบีโอไอหรือกระทรวงพาณิชย์ อาจจะจัดหน่วยงานดูแล คำถามที่น่าสนใจคือ เรารู้จักเพื่อนบ้านเราแค่ไหน หลักสูตรพื้นฐาน น่าจะมีประวัติศาสตร์เปรียบเทียบประเทศเพื่อนบ้านเราทั้งหมด ที่น่าสังเกตคือ ประเทศเพื่อนบ้านเราพูดไทยได้ เราอย่ามองว่าให้ทุกคนซึมซับหรือมาปรับตัวเข้ากับเรา เราต้องถามตัวเองว่า เราปรับตัวเข้ากับเพื่อนบ้านเรา เชื่อว่าเราได้ประโยชน์ และไปทำประโยชน์ หรือสร้างมูลค่า หรือสร้างบริการอะไรให้ประเทศเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน” เช่นเดียวกับคุณวิชาญที่มองว่า “ผมยังยืนยันความคิดว่า เห็นด้วยในการลงทุนในต่างประเทศ เพราะในบ้านเราหลายสาขาเต็มที่แล้ว Free trade ก็ดีแต่ว่าจะต้อง fair trade ด้วย การสนับสนุน ถ้าเราเปิดประตูแล้ว แต่ยังไม่ต่อแขนต่อขาก็ยังไม่มีทางสำเร็จได้ เพราะอยากไปลงทุนแต่ยังไม่สำเร็จสักที เช่นประมง ขอสัมปทานได้ แต่ว่ายังไม่ปักหลักที่ไหนได้ ต้องนำกลับมา เพราะเราไม่ได้เปิดสาขานี้ ผมว่าน่าจะเปิดไปเลย เพราะบางประเทศ เขาก็สู้เราไม่ได้ สุดท้ายเรื่องการช่วยเหลือและดูแล สถานทูตไทยในต่างประเทศก็พยายามช่วยเหลือ ดูแล แต่เรื่องการคุ้มครอง ทั้งสถานทูตหรือว่ารัฐบาล ยังไม่มีความชัดเจนในด้านการคุ้มครอง โดยเฉพาะปัญหาในการลงทุน การค้า มีวิธีการหรือมาตรการใดในการคุ้มครองบ้างหรือไม่”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ