กรมสรรพสามิตจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นในการพัฒนากฎหมาย

ข่าวทั่วไป Monday June 15, 2009 15:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--กรมสรรพสามิต กรมสรรพสามิตจัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย กับการพัฒนากฎหมายของกรมสรรพสามิต เพื่อนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายให้มีความสมบูรณ์ สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันยิ่งขึ้น วันที่ 15 มิถุนายน 2552 นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียกับการพัฒนากฎหมายของกรมสรรพสามิต ว่า การเปิดสัมมนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของรัฐบาล ที่ได้กำหนดแนวทางพัฒนากฎหมายของส่วนราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันเสนอแนวทาง และแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ และเป็นการดำเนินการเพิ่มเติมจากนโยบายแก้ไขกฎหมายเพื่อปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าบางรายการที่ได้ดำเนินการไปเมื่อไม่นาน มานี้ คือ เหล้า เบียร์ ยาสูบ และน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนากฎหมายครั้งนี้ก็ยังคงมีสินค้าบางรายการที่ต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีให้มีความเหมาะสม เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่ม เป็นต้น นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรมสรรพสามิตได้จัดทำแผนพัฒนากฎหมาย โดยปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับสภาวการณ์และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึง สนับสนุนการกระจายอำนาจทางการคลังสู่ท้องถิ่นโดยมีการปรับปรุงกฎหมายเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นจัดเก็บรายได้จากค่าธรรมเนียมได้มากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพึ่งพาตนเอง การสัมมนาครั้งนี้มีผู้แทนภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนภาครัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคม อบต. แห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมสรรพสามิต โรงงานยาสูบ องค์การสุรา โรงงานไพ่ เข้าร่วมใน การสัมมนา ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 กรมสรรพสามิตเสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย 5 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 พระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 และพระราชบัญญัติไพ่ พุทธศักราช 2486 โดยมีการปรับปรุงแก้ไขในประเด็นที่สำคัญ คือ 1. ถ่ายโอนภารกิจในการออกใบอนุญาตขายสุราและยาสูบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนตำบล และกรุงเทพมหานคร) 2. กำหนดนิยาม “ราคาขาย ณ โรงงาน” เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบริหารจัดเก็บภาษี จากเดิมซึ่งไม่มีการกำหนดนิยามไว้ 3. ปรับปรุงฐานภาษีสำหรับสินค้าที่นำเข้าและสินค้าที่ผลิตในเขตปลอดอากร เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี 4. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การประกาศมูลค่าสินค้าเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษี 5. กำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีในกฎหมาย 6. กำหนดจุดความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีสำหรับสุราและยาสูบให้ชัดเจนยิ่งขึ้น 7. กำหนดให้มีการประเมินภาษีในพระราชบัญญัติสุรา และพระราชบัญญัติยาสูบ 8. ปรับปรุงหน่วยที่ใช้ในการจัดเก็บภาษีสุราแช่จากเดิม “ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์” เป็น “ลิตร” 9. ปรับปรุงแก้ไขอัตราค่าธรรมเนียมและอัตราโทษ 10. ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีไพ่ 11. แก้ไขกฎหมายในประเด็นอื่นๆ ให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ตามแนวทางการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของกรมสรรพสามิตในครั้งนี้ ยังมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับฐานภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้านำเข้า ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องได้รับ การแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันประเทศต่างๆ ได้มีความสนใจเกี่ยวกับการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี หรือ Free Trade Area (FTA) มากขึ้นทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ความตกลงดังกล่าวเป็นการให้สิทธิพิเศษทางการค้าและการลงทุนแก่ประเทศที่เข้าร่วมทำความตกลง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดภาษีศุลกากรระหว่างกันภายในกลุ่มลงให้เหลือน้อยที่สุด หรือเป็น 0% ซึ่งจะทำให้มีการขยายตัวในทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่ได้ร่วมทำความตกลง อย่างไรก็ตาม การที่ภาษีศุลกากรลดลงก็ย่อมจะเกิดผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะนอกจากรัฐจะสูญเสียรายได้จากภาษีศุลกากรแล้ว การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้านำเข้าก็ย่อมได้รับผลกระทบโดยตรงเช่นกัน เพราะภาษีศุลกากรเป็นฐานของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ซึ่งผลกระทบดังกล่าวทั้งหมดกำลังจะเกิดขึ้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ตัวอย่างเช่น - ตามกรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน สินค้ารถยนต์ สุรา และยาสูบ อัตราอากรขาเข้าจะลดลงเหลือ 0% ภายในปี 2553 - ตามกรอบความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย สินค้ารถยนต์ อัตราอากรขาเข้าจะลดลงเหลือ 0% ภายในปี 2553, สุราอื่น ๆ (นอกจากไวน์) และสินค้ายาสูบ อัตราอากรขาเข้าจะลดลงเหลือ 0% ภายในปี 2553, ส่วนสินค้าไวน์ อัตราอากรขาเข้าจะลดลงเหลือ 0% ภายในปี 2558 - ตามกรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น สินค้ารถยนต์สำเร็จรูปที่มีความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ซีซี อัตราภาษีศุลกากรจะลดลงจากร้อยละ 80 เหลือร้อยละ 60 ในปี 2553, สินค้าสุราส่วนใหญ่ อัตราอากรขาเข้าจะลดลงเหลือ 0% ภายในปี 2560 ส่วนเบียร์ ไซเดอร์ และวิสกี้ อัตราอากรขาเข้าจะลดลงเหลือ 0% ภายในปี 2555 จากสภาพปัญหาเกี่ยวกับฐานภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้านำเข้าดังกล่าว จึงสมควรที่จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงฐานภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้านำเข้าอย่างเร่งด่วนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและรองรับกับสภาพการณ์ของสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการพัฒนากฎหมายของกรมสรรพสามิตในการสัมมนาครั้งนี้ การจัดโครงการสัมมนาในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียจะได้มีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางการพัฒนากฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสรรพสามิต และมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากฎหมายของกรมสรรพสามิตต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ