งานวิจัย ธนาคารทหารไทย คาดสรุปเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 1 ปี 2549 ขยายตัว 5.4%

ข่าวทั่วไป Friday June 2, 2006 14:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--ธนาคารทหารไทย
งานวิจัย ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB Bank สรุปรายงานการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2549 วันนี้ ว่า คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2549 น่าจะมีขยายตัวประมาณร้อยละ 5.4 โดยปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีภาคการส่งออกช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
นางรัตนา เล็งศิริวัฒน์ เจ้าหน้าที่บริหาร งานวิจัย ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า แม้ว่าจะมีปัจจัยลบเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นตั้งแต่ต้นปี แต่เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญ คือรายได้ของเกษตรกรที่ยังคงเพิ่มขึ้นในเกณฑ์ที่สูง รวมทั้งรายได้ของภาคบริการโดยเฉพาะจากธุรกิจท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น ช่วยให้การจับจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนไม่ชะลอลงมากนัก หลังจากต้องเผชิญกับปัจจัยลบทั้งราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้การลงทุนภาพเอกชนชะลอลง ส่วนดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสแรก ปรับดีขึ้น
นางรัตนากล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านอุปสงค์ เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีจากภาคการส่งออก ขณะที่การ นำเข้าและการใช้จ่ายในประเทศชะลอลง โดยมูลค่าการส่งออกมีการขยายตัวร้อยละ 17.9 เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าขยายตัวดีเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 11.0 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเพียงร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับร้อยละ 19.7 ในไตรมาสก่อน ส่วนด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเล็กน้อย ร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับร้อยละ 1.0 ของไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งจากฐานที่ต่ำในปีก่อน ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์และการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน
ในด้านการลงทุนภาคเอกชน มีการชะลอการลงทุน โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเพียงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อน ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้ามีการชะลอลงทั้งสินค้าทุน วัตถุดิบ และน้ำมัน ขณะเดียวกัน ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์และรถยนต์เชิงพาณิชย์ก็ชะลอลงเช่นกันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และค่าครองชีพที่ขยับสูงขึ้น
สำหรับในด้านอุปทาน นางรัตนากล่าวว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีจากการผลิตภาคเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ โดยในภาคเกษตร รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.8 ในไตรมาสที่ 1 เมื่อเทียบกับ 30.9 ในไตรมาสก่อน จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และราคาจำหน่ายที่อยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากไม่มีปัญหาภัยแล้งและไข้หวัดนกที่ส่งผลกระทบในช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 8.8 เทียบกับร้อยละ 7.2 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากความต้องการจากต่างประเทศ ที่เพิ่มขึ้นมาก อุตสาหกรรมที่ขยายตัวดีได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ Hard Disk Drive ยานพาหนะและอุปกรณ์ เครื่องดื่ม เครื่องปรับอาหาร และอาหารทะเลกระป๋อง ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 75.2 ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจเป็นต้นมา
ในด้านการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 ในไตรมาสที่ 1 เทียบกับร้อยละ 2.4 ในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อน เนื่องจากฐานที่ต่ำจากผลกระทบภัยพิบัติสึนามิ และเกิดการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ในด้านการค้าต่างประเทศ มีการขาดดุลเพียง 224 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ขาดดุล 3,312 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่จำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลได้ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงินเกินดุลเพิ่มขึ้นเป็น 1,881 และ 2,999 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน สำหรับทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ณ สิ้นเดือน มีนาคม อยู่ที่ระดับ 55.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมียอดคงค้างการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ จำนวน 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 1 อยู่ในระดับสูง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 5.7 ตามระดับราคา น้ำมันที่ขยับเพิ่มขึ้น และจากฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยับเพิ่มเป็นร้อยละ 2.6 เร่งตัวขึ้นเนื่องจากสินค้าและบริการมีการปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อ ทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนเมษายน 2549 เร่งตัวขึ้นเป็นร้อยละ 6.0 และ 2.9 ตามลำดับ
ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 39.35 บาทต่อ เหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2548 เงินบาทแข็งค่าขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.12 เนื่องจากความเชื่อมั่นในค่าเงินเหรียญสหรัฐที่ ลดลง ส่งผลให้เงินไหลเข้ามาลงทุนในตรลาดหลักทรัพย์ในเอเชียอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในไตรมาสแรก มีกองทุนต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการกลุ่มสื่อสารของไทยด้วย อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เงินบาทมีค่าเฉลี่ยอ่อนลงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 1.89
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 ประกอบธุรกิจด้านธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ และประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารมุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าประเภทต่างๆ ผ่านเครือข่ายสาขารวมทั้งสิ้น 430 สาขา สำนักงานแลกเปลี่ยนเงิน 69 แห่ง เครื่องเอทีเอ็มจำนวน 1,284 เครื่อง รวมทั้งให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ
ธนาคารทหารไทย เป็นธนาคารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีสินทรัพย์รวม 700,000 ล้านบาท นับเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดอันดับห้าในระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย ตามมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ
www.tmbbank.com
ธนาคารทหารไทย: ร่วมคิด เพื่อทุกก้าวของชีวิต
TMB Bank: Better Partner, Better Value
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักสื่อสารภาพลักษณ์องค์กร
วรงค์/ธัญญรัตน์
โทร 02 242 3258,53

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ