กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คาดการณ์แนวโน้มการเกิดสาธารณภัยในประเทศไทย พบว่า ช่วงกลางเดือนมิถุนายน-ต้นเดือนกรกฎาคม จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง เกษตรกรควรวางแผนเตรียมรับมือผลกระทบดังกล่าว จากนั้นช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนตัวผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนตัวพัดเข้าสู่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่น ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยควรเพิ่มความระมัดระวังและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่ม โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างใกล้ชิด
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ทำการวิเคราะห์ ประเมินและคาดการณ์แนวโน้มการเกิดสาธารณภัยของประเทศไทยในช่วงฤดูฝนปี ๒๕๕๒ จากข้อมูลลักษณะอากาศของหน่วยงานต่างๆ พบว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนมาตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ ๒ ของเดือนพฤษภาคมแล้ว ภาคใต้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนก่อนภาคอื่นๆ
ส่วนปริมาณน้ำฝนตลอดฤดูฝนรวมเฉลี่ยใกล้เคียงกับค่าปกติ โดยหลายพื้นที่ของประเทศมีฝนตกติดต่อกันและฝนตกหนักในบางพื้นที่ ส่งผลให้สถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายลง รวมทั้งทำให้สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันยุติลงในทุกพื้นที่ และในระยะครึ่งเดือนแรกของเดือนมิถุนายน จะมีฝนตกชุกและตกหนักในหลายพื้นที่อาจทำให้เกิดอุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ ส่วนในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ฝนจะตกน้อยลง ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่ ทำให้พืชไร่ พืชสวนและนาข้าวของเกษตรกรได้รับผลกระทบ ขอให้เกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกพืช และบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ จากนั้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมประเทศไทยตอนบนโดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยควรระมัดระวังและเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยและดินโคลนถล่ม และในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวผ่านเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก
ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวพัดเข้าสู่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย โดยพื้นที่ที่พายุหมุนเขตร้อนพัดผ่านจะมีฝนตกชุกหนาแน่นและพายุฝนฟ้าคะนอง ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยและดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งนี้ คาดว่าพื้นที่ตอนบนของประเทศจะสิ้นสุดฤดูฝนประมาณกลางเดือนตุลาคม ส่วนภาคใต้จะสิ้นสุดฤดูฝนประมาณกลางเดือนธันวาคม
นายอนุชา กล่าวเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งที่ลาดเชิงเขา ที่ราบลุ่มริมแม่น้ำและทางน้ำไหลผ่าน เพิ่มความระมัดระวังและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะในช่วงที่พายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวผ่าน โดยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศแจ้งเตือนอย่างใกล้ชิด
หากมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานานในพื้นที่และสังเกตพบสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติ เช่น น้ำเปลี่ยนสีเป็นสีเดียวกับสีดินบนภูเขา ระดับน้ำในลำห้วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สัตว์ป่ามีอาการแตกตื่น รวมทั้งมีเสียงดังมาจากป่าต้นน้ำ ให้รีบอพยพและขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงโดยอพยพไปตามเส้นทางที่ปลอดภัยโดยเร็วที่สุดเพราะอาจเกิดน้ำป่าไหลหลากหรือดินโคลนถล่มขึ้นได้ สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนนิรภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป