สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ขับกล่อมมนตราแห่งดนตรี น้อมรำลึก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ข่าวทั่วไป Wednesday June 17, 2009 11:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--พับบลิค ฮิต แม้ดนตรีคลาสสิกจะจัดเป็นดนตรีตะวันตก แต่ตัวโน้ตที่บรรเลงโดยวงออร์เคสตร้าก็เช่นเดียวกับดนตรีทุกประเภทที่มีความเป็นภาษาสากลไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ใด รัก เศร้า เหงา เริงใจ ภาษาที่ไร้พรมแดนและกาลเวลาของดนตรีย่อมนำพาผู้ฟังไปสู่ความเจิดจรัสหรือหม่นเศร้าได้เฉกเช่นกัน เพื่อน้อมรำลึกถึง พระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา จึงได้จัดแสดงคอนเสิร์ตซิมโฟนี ออร์เคสตร้า ขึ้นเมื่อค่ำคืนวันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่รัชโยธิน โดยได้นำเสนอบทเพลง ซิมโฟนี หมายเลข 4 ประพันธ์โดยคีตกวีเอกของโลกชาวออสเตรียเชื้อสายโบฮีเมียน กุสตาฟ มาห์เลอร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ ที่ปรึกษาของ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา กล่าวว่า คอนเสิร์ตซิมโฟนี ออร์เคสตร้าในครั้งนี้เป็นการแสดงคอนเสิร์ตครั้งที่ 5 ของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา โดยคัดเลือกบทเพลงของคีตกวีเอกชาวออสเตรีย กุสตาฟ มาห์เลอร์ คีตกวีผู้ล่วงลับที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงสงขลานครินทร์ ทรงชื่นชมมาจัดแสดง “กุสตาฟ มาห์เลอร์ อาจจะไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวางในหมู่คนไทยเท่ากับเบโธเฟนหรือโมสาร์ท แต่ในหมู่นักดนตรีคลาสสิกแล้ว เป็นที่ทราบทั่วกันดีว่ามาห์เลอร์เป็นคีตกวีที่เปี่ยมด้วยอัจฉริยภาพด้านดนตรี เขาได้ฝากผลงานการประพันธ์ซิมโฟนีไว้ถึง 10 บทเพลงด้วยกัน สำหรับคอนเสิร์ตในครั้งนี้ สถาบันฯ ได้คัดเลือกซิมโฟนี หมายเลข 4 โดยได้เชิญวาทยากรระดับโลกชาวญี่ปุ่น มร. ฮิโคทาโร ยาซากิ ซึ่งเป็นวาทยากรที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงรู้จักและทรงนิยมความสามารถ มาเป็นผู้อำนวยเพลง และมีนักร้องรับเชิญเสียงโซปราโนชาวเยอรมัน แคทริน สตาริค มาโชว์พลังเสียงในกระบวนสุดท้ายของบทเพลงด้วย” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี กล่าว ค่ำคืนแห่งบทเพลงอันไพเราะอบอุ่นไปด้วยผู้ชมเต็มหอประชุม โดยก่อนการแสดงจะเริ่มขึ้นนั้น สถาบันดนตรีกัลยา-ณิวัฒนาได้จัดเสวนาขึ้นเป็นการอุ่นเครื่อง เพื่อให้ผู้ชมได้ชมการแสดงอย่างเต็มอรรถรสยิ่งขึ้น โดยได้เชิญ ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร. เจตนา นาควัชระ และ ธเนศ วงศ์ยานนาวา มาร่วมเสวนา ธเนศ วงศ์ยานนาวา กล่าวถึงดนตรีคลาสสิกในยุคของกุสตาฟ มาห์เลอร์ ว่าเป็นยุคที่สังคมเวียนนาเข้าสู่ภาวะเสื่อมถอย ขณะที่ลัทธิมาร์กซิสต์ของนาซีเยอรมันกำลังขยายตัว ดนตรีจึงถูกจัดให้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการสร้างชาติ สร้างอัตลักษณ์ “ดนตรีแบบซิมโฟนีเป็นดนตรีแห่งการปลุกเร้า แสดงความยิ่งใหญ่ ซิมโฟนีจึงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นชุมชนแห่งชาติ แสดงถึงพลังของตัวเอง แนวทางของเพลงซิมโฟนีจึงเหมาะกับการเมืองแบบรัฐประชาชาติแบบใหม่” ธเนศ กล่าวเสริมว่า ชีวิตของมาห์เลอร์ประสบกับความตายมาตั้งแต่เด็กจากการที่พี่น้องของเขาหลายคนได้เสียชีวิตลงตั้งแต่เยาว์วัย ชีวิตและความตายจึงมีอิทธิพลต่อความคิดและผลงานของเขาอย่างมาก สำหรับซิมโฟนี หมายเลข 4 นี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ กล่าวว่า เป็นบทพรรณาการเดินทางผ่านโลกจากพื้นพิภพสู่สวรรค์ มาห์เลอร์ได้กล่าวถึงความตายผ่านเสียงเครื่องดนตรีที่หยอกล้อ สอดรับกันอย่างมีสีสัน “ดนตรีของมาห์เลอร์แม้จะเป็นดนตรีสำหรับฟัง แต่การ ‘ชม’ จะให้อรรถรสของท่วงทำนองยิ่งขึ้น เราจะได้เห็นเครื่องดนตรีสนทนากัน หยอกล้อกัน มีทั้งสนุกสนานร่าเริง อ่อนหวานและดุดัน อาจกล่าวได้ว่าซิมโฟนีหมายเลข 4 เป็นดนตรีที่กล่าวถึงความสุข ความหฤหรรษ์ แม้จะเกี่ยวเนื่องกับความตาย แต่ก็ไม่ใช่ความหม่นเศร้า โดยเฉพาะในกระบวนสุดท้ายที่มาห์เลอร์ได้แต่งคำร้องกล่าวถึงชีวิตของเด็กบนสวรรค์ที่เพลินใจไปกับการเริงระบำและอาหารอันอุดมสมบูรณ์” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา กล่าวเสริมว่า ขณะที่บทประพันธ์ของเบโธเฟนสื่อถึงความยิ่งใหญ่ แต่บทเพลงของมาห์เลอร์บอกเล่าถึงความเรียบง่าย ชีวิตของคนเล็ก ๆ ที่มีความฝัน ศาสนา และดนตรีเป็นเครื่องชโลมใจในยามยาก ดนตรีจึงเป็นความบันเทิงของโลกและเป็นของขวัญจากสวรรค์ที่มอบให้แม้กระทั่งคนธรรมดาสามัญ เมื่อการเสวนาจบลงก็มาถึงหนึ่งชั่วโมงที่ทุกคนรอคอย กับการบรรเลงเพลงซิมโฟนี หมายเลข 4 โดยนักดนตรีกว่า 80 ชีวิตของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา อำนวยเพลงโดย มร. ฮิโคทาโร ยาซากิ โดยกระบวนแรกของซิมโฟนีมีเสียงกระดิ่งพวงเป็นตัวนำเข้าสู่บทประพันธ์ ในกระบวนที่สอง มาห์เลอร์ใช้กลวิธีการขึ้นสายไวโอลินแบบพิเศษซึ่งใช้ในงานประพันธ์ในยุคบาโรก ไวโอลินเป็นตัวแทนของ ฟรอยด์ ไฮน์ ปีศาจโครงกระดูก บรรเลงไวโอลินบทเพลงเต้นรำแห่งความตาย กระบวนที่สามสะท้อนภาพมารดาของมาห์เลอร์ที่แม้จะมีสีหน้าที่เศร้าหมองไปด้วยความทุกข์ แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งความรักและการให้อภัยอยู่เสมอ กระบวนสุดท้ายประกอบด้วยบทเพลง Das himmlische Leben หรือชีวิตเยี่ยงชาวฟ้า สำหรับนักร้องโซปราโน บทร้องสะท้อนภาพชีวิตบนสวรรค์ในจินตนาการของเด็ก สถานที่ซึ่งไม่เคยขาดแคลนอาหาร มีเหล่าทูตสวรรค์เป็นผู้อบขนมปัง และนางฟ้าเริงระบำ มร. ฮิโคทาโร ยาซากิ กล่าวว่า ซิมโฟนี หมายเลข 4 คือโศลกสู่สรวงสวรรค์ โดยเฉพาะคำร้องในกระบวนที่ 4 ที่กล่าวถึงชีวิตเปี่ยมสุขของชาวฟ้าบนสรวงสวรรค์นั้น เปรียบได้กับชีวิตในสวรรคาลัยของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ “การถ่ายทอดบทเพลงของมาห์เลอร์จึงเป็นการน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน โดยมาห์เลอร์ได้กล่าวถึงชีวิตอันงดงามบนสวรรค์ แม้มาห์เลอร์จะไม่ใช่ชาวพุทธ แต่ผมเชื่อว่าทุกศาสนาย่อมมีภาพอันงดงามของสรวงสวรรค์เช่นเดียวกัน นับเป็นเกียรติอย่างสูงของผมที่มีโอกาสได้อำนวยเพลงในคอนเสิร์ตครั้งนี้ หลังจากที่ผมได้อำนวยเพลงในการแสดงถวายอาลัย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์และในช่วงพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว” มร. ยาซากิ กล่าว สำหรับสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา เป็นสถาบันในกำกับของมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยได้จัดการศึกษาเฉพาะแก่เยาวชนไทยที่มีความสามารถพิเศษให้สามารถพัฒนาอัจฉริยภาพทางด้านดนตรี เริ่มตั้งแต่เยาวชนระดับปฐมวัยต่อเนื่องไปจนถึงระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นนักดนตรีชั้นนำในระดับชาติและระดับนานาชาติ และในอนาคตจะยกฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ เปิดสอนระดับปริญญาตรีด้านดนตรีคลาสสิก หลักสูตร ๔ ปี คาดว่าจะเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีได้ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๖ ในอนาคตจะมีโครงการขยายการศึกษาทั้งในระดับประกาศนียบัตร และระดับบัณฑิตศึกษา สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาได้จัดตั้ง วงดุริยางค์สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา โดยสมาชิกของวงประกอบด้วยนักดนตรีกิตติมศักดิ์ อาจารย์ และชาวต่างประเทศที่สถาบันฯ เชิญมาเป็นครั้งคราว บริษัท พับบลิค ฮิต จำกัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 2525699 public hit

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ