กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--ศูนย์คุณธรรม
ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา นับจากปัญหาการปรับลดคนงาน และปิดตัวของภาคธุรกิจและอุตสหกรรม ทำให้ทุกภาคส่วนต้องหาทางแก้ไขปัญหา หลายองค์กรหันกลับมาใช้หลักธรรมาภิบาลและปฏิบัติตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง เพื่อหวังที่จะคลี่คลายวิกฤตการณ์ปัญหาต่างๆลงได้ ล่าสุดศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) ได้ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรีและองค์กรทวิภาคี ได้จัดทำ“โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้อาชีวะธรรม” โดยจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน สำหรับนักศึกษาอาชีว ปวช.(ประกาศนียบัตรวิชาชีพ) และระดับชั้นปวส. (ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง) เพื่อผลิตกำลังคนด้านวิชาชีพและระดับฝีมือ ระดับเทคนิค ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยนำความรู้ทางทฤษฏีอันเป็นสากล และภูมิปัญญาไทยที่สอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมอันดีงาม นำมาพัฒนาผู้เรียนให้สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้
นางสาวนราทิพย์ พุ่มทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) กล่าวว่า “โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้อาชีวะธรรม เป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้กับนักศึกษาอาชีวที่มีความรู้ความสามารถ ให้พัฒนาศักยภาพควบคู่กับการเสริมสร้างคุณลักษณะพฤติกรรมจริยธรรมในงานอาชีพอุตสาหกรรมที่เหมาะสม โดยการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการในการกำหนดลักษณะอันพึงประสงค์ของพนักงาน เช่น ความซื่อสัตย์ มีวินัย ความอดทน ความรับผิดชอบ ฯลฯ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตเพื่อเป็นการเสริมสร้างคุณลักษณะพฤติกรรมจริยธรรมในงานอาชีพที่เหมาะสม เช่น ความซื่อสัตย์ มีวินัย ความอดทน ความรับผิดชอบ เป็นต้น ซึ่งศูนย์คุณธรรม สถาบันการศึกษา และบริษัทภาคเอกชน จะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน โดยจะมีการสอดแทรกหลักคุณธรรมจริยธรรม เข้าไปในวิชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วิชาก่อสร้าง วิชาสถาปัตยกรรม วิศวกรรม ด้วย เพื่อให้นักศึกษาได้ซึมซับคุณธรรม จริยธรรม เป็นบุคคลที่มีคุณภาพในการออกไปประกอบวิชาชีพให้แก่สังคม
น.ส.นราทิพย์ กล่าวอีกว่า สถาบันอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จะต้องมีการหารือกับภาคเอกชนว่า ภาคเอกชนต่างๆ ต้องการบัณฑิตที่จบไปมีคุณธรรมจริยธรรมในลักษณะไหน เช่น บริษัทขนส่งเงินให้ธนาคาร ต้องการบุคลากรที่มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นต้น ซึ่งการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้แก่นักศึกษา อาจจะต้องใช้เวลาให้เด็กได้ซึมซับ โดยจะมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ ก็จะขยายไปตามสถาบันอาชีวศึกษาที่ต้องการเข้าร่วมโครงการสร้างบัณฑิตที่มีคุณธรรมต่อไป
“คิดว่าเมื่อให้ครู อาจารย์ สอดแทรกหลักคุณธรรม จริยธรรม ในหลักสูตรการเรียนการสอนจะช่วยให้เด็กได้เห็นว่า การทำความดีทำได้ไม่ยาก หากสามารถทำได้สำเร็จ ดิฉันคาดหวังว่า สังคมจะได้คนดี และจะทำให้ปัญหาการรับน้องรุนแรง หรือนักศึกษาอาชีวะตีกัน ลดลงได้บ้าง เพราะเมื่อเด็กมีคุณธรรมจริยธรรมในใจแล้ว ปัญหาต่างๆ ก็จะบรรเทาลงได้ อย่างไรก็ตาม ศูนย์คุณธรรมอยากให้องค์กรการศึกษา องค์กรรัฐ องค์กรภาคเอกชนหันกลับมาใช้หลักธรรมาภิบาลและปฏิบัติตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง เพื่อหวังที่จะคลี่คลายวิกฤติการณ์ต่างๆ ของบ้านเมืองให้ลดลงด้วย” ผอ.ศูนย์คุณธรรม กล่าว
นางพรสวรรค์ วินิจสร รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานและความร่วมมือ วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี กล่าวว่า “วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรีมีการจัดการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนสังคม และสถานประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี เพื่อกำหนดเป้าหมายและทิศทางการทำงานเอาแผนการสอนมาบูรณาการเรื่องคุณธรรมจริยธรรมอันพึงประสงค์ของสถานประกอบการ โดยครูเป็นผู้ออกแบบประเมินเนื้อหาวิชาการและคุณธรรม พร้อมจัดทำแผนการสอนและเมื่อจบหลักสูตรนักเรียนก็จะต้องทำโครงงานสะท้อนคุณธรรม และความรู้ความสามารถที่ได้นำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิต โดยจะจัดแสดงในรูปแบบของนิทรรศการ ซึ่งสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีและสามารถนำไปปฏิบัติหรือประยุกต์ใช้ได้จริง”
ด้านนาย นที แต้มมาลา ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารระบบความปลอดภัย บริษัท สยามแอดมินนิสเทรทีฟ แมเนจเมนท์ จำกัด (แซมโก้) หนึ่งในตัวแทนสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกล่าวว่า “เนื่องจากบริษัทดำเนินธุรกิจด้านบริการ คุณสมบัติของพนักงานจึงแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ด้านการแต่งกายต้องสุภาพเรียบร้อยเหมาะสมถูกกาละเทศะควบคู่กับความมีวินัย ซื่อสัตย์ ขยันมั่นเพียร เชื่อว่าหากหลักสูตรอาชีวะธรรมประสบความสำเร็จก็จะช่วยลดปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ลงได้ และยังช่วยเป็นเครื่องมือคัดกรองบุคลากรที่มีคุณภาพและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้กับบริษัทฯต่างๆ ได้มากขึ้น”
นายอรุณศักดิ์ ปักโกทะสงข์ พนักงานแผนกตรวจสอบบริษัทฯ สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นนักศึกษาชั้น ปวส. ปี 2 สาขางานบริหารการผลิตรถยนต์ วิทยาลัยเทคนิคมีบุรี กล่าวว่า “ดีใจที่ได้เข้าร่วมโครงการอาชีวะธรรม เพราะได้ฝึกฝนพัฒนาทักษะฝีมือควบคู่กับการบ่มเพาะคุณธรรมพื้นฐานไปพร้อมๆ กัน ช่วยให้เราคิดอย่างมีภูมิคุ้มกันและใช้แก้ไขปัญหาในการทำงานได้ ทั้งยังช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมของบริษัทด้วย โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งมีการแข่งขันสูง”
ดังนั้น“โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้อาชีวะธรรม” ซึ่งศูนย์คุณธรรมร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรีและองค์กรทวิภาคีจัดขึ้นในครั้งนี้ จึงนับเป็นโครงการดีๆ อีกโครงการหนึ่ง ซึ่งจะช่วยพัฒนาระบบการเรียนการสอนโดยการบูรณาการการเรียนรู้คุณธรรมในการพัฒนางานวิชาชีพ เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตบุคลากรที่มีศักภาพสู่สถานประกอบการในอนาคตได้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้นด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ประมวล บุญมา 02-6449900ต่อ 302
อาภาภรณ์ กิจศิริ