กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--วชิราวุธวิทยาลัย
เป็นปีที่น่าจับตามอง สำหรับโรงเรียนประจำที่มีสมญญานามว่าเป็น “อีตัน เมืองไทย” กำลังเตรียมจัด งานฉลองใหญ่ครบ ๑ศตวรรษแห่งการสถาปนาอย่างยิ่งใหญ่ อันเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของเหล่านักเรียนเก่า-ปัจจุบัน และภาคีร่วม ที่จะรังสรรค์กิจกรรมเพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานสถาปนา ผ่านกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ และการเตรียมจัดสร้างอาคารที่ระลึก ๑๐๐ ปีที่ช่วยให้การเรียนการสอนเยาวชนมีความก้าวหน้าพัฒนายิ่งขึ้น
นับเป็นโอกาสอันน่ายินดีของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ที่ในปี พ.ศ.๒๕๕๓ จะดำเนินการมาครบ ๑๐๐ ปีบริบูรณ์ ในปีนี้ชาววชิราวุธฯ จึงเตรียมจัดงานฉลองภายใต้ชื่องาน “วชิราวุธ ๑๐๐ ปี” โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักเรียนเก่า ครู ผู้ปกครอง นักเรียนปัจจุบัน ที่จะร่วมจัดกิจกรรมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากุรณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย และทรงวางรากฐานให้ประเทศไทยมีความมั่นคง โดยทรงใส่พระราชหฤทัยให้ความสำคัญต่อการศึกษาของเยาวชนเป็นอย่างยิ่ง
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานการจัดงานวชิราวุธ ๑๐๐ ปี กล่าวถึงวชิราวุธวิทยาลัยว่า โรงเรียนแห่งนี้ถือเป็นพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติเป็นอันดับแรก หลังจากที่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๖ แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้น แทนการสร้างพระอารามประจำรัชกาล ซึ่งในสมัยนั้นมีอารามที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นจำนวนมากแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาที่ยาวไกล ตั้งแต่ดำรงพระราชอิสริยยศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการศึกษาพระราชทานเหล่ามหาดเล็กเป็นเด็กที่ผู้ปกครองนำมาถวายตัว
สำหรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในงานดังกล่าว ดร.สาโรจน์ ลีสวรรค์ ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ได้อธิบายถึงรายละเอียดว่า ขอบเขตของการเฉลิมฉลองจะเริ่มตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึงวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นวันสถาปนาโรงเรียน ระหว่างนั้นวชิราวุธวิทยาลัยจะเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมที่เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีการจัดกิจกรรมทางวิชาการ ที่จะเปิดให้สาธารณชนภายนอกเข้ามาเยี่ยมชม
“สำหรับกิจกรรมแบ่งออกเป็น ๓ ส่วนด้วยกันคือ กิจกรรมภาคกลางวัน ที่คณะกรรมการจัดงานจะร่วมกับองค์กร สถาบัน และหน่วยงานที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของรัชกาลที่ ๖ จัดนิทรรศการพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ รวมไปถึงกิจกรรมทางวิชาการ ซึ่งจะจัดให้มีรูปแบบที่ตื่นตาตื่นใจ และทำให้ผู้ที่มาชมได้ความรู้และความเพลิดเพลิน กิจกรรมภาคกลางคืน จะเป็นงานรื่นเริงทั้งหมดเป็นการแสดงละครบทพระราชนิพนธ์ การแสดงดนตรี งานเลี้ยงรับรอง เป็นต้น ในส่วนของพิธีการทางศาสนา จะจัดขึ้นในวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ หรือในวันครบ ๑๐๐ ปี จะมีการทำบุญตักบาตร และ พิธีสำคัญ ณ หอประชุม” ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยกล่าว
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ วชิราวุธวิทยาลัยไม่เพียงแต่จะฉลองกันเป็นการภายในเท่านั้น ยังเชิญภาคีร่วมที่เป็นองค์กร หน่วยงานที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา มาร่วมในการฉลองครั้งนี้ด้วย ซึ่งในส่วนนี้จำเป็นต้องได้รับความอนุเคราะห์ความร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่าย ทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้อง นักเรียนเก่า-ปัจจุบัน คณะครูอาจารย์ ผู้ปกครอง และ บุคคลภายนอก สนับสนุนการจัดงาน โดยนายสุรเดช บุณยวัฒน ฝ่ายเลขาการจัดงานฯ ได้กล่าวถึงโครงการสร้างอาคาร “วชิราวุธ ๑๐๐ปี” ว่าจะสร้างแทนอาคารเรียนเดิมของนักเรียนชั้นประถมศึกษา ที่ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรมไปตามกาลเวลา
นอกจากนั้น นายดุสิต นนทะนาคร ประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดหารายได้ กล่าวเสริมถึงเรื่องอาคารวชิราวุธ ๑๐๐ ปีว่า เป็นอาคารที่จะสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์สูงสุดทางการศึกษาประกอบไปด้วยสื่อการสอนที่จะทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ถือเป็นแบบอย่างของสถาบันการศึกษาที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา สามารถเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนภายนอกเข้ามาศึกษาดูงาน แล้วนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม ในส่วนนี้ต้องอาศัยความสนับสนุนของทุกฝ่ายที่จะร่วมกันบริจาคเพื่อสร้างอาคารเรียนหลังนี้ และยังนำรายได้ส่วหนึ่งมาบูรณะอาคารแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๖ ตามวัตถุประสงค์อีกด้วย
ประธานการจัดงานวชิราวุธ ๑๐๐ ปี กล่าวเสริมภายหลังว่า การฉลองวชิราวุธวิทยาลัยเป็นเรื่องน่าจดจำเพราะ โรงเรียนนี้องค์การที่เป็นเหมือนพี่น้องที่กำเนิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันหลายต่อหลายองค์การ ความผูกพันทางประวัติศาสตร์ที่ร่วมเดินกันมาเปรียบดั่งเวลาอันมีค่ายิ่ง เราจึงพร้อมที่จะดำเนินการจัดกิจกรรมด้วยความตั้งใจ และหวังให้ประชาชนได้เรียนรู้และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยตลอดมา
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 3483636 จิตติศักดิ์ ศักดิ์สมวาศ