กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--ก.พ.
หลังจากที่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ทั้ง 7 คน ซึ่งประกอบด้วย นายศราวุธ เมนะเศวต ในฐานะประธาน ก.พ.ค. นางจรวยพร ธรณินทร์ โฆษก ก.พ.ค. นางสุภาวดี เวชศิลป์ นายภิรมย์ ศรีจันทร์ นายบุญเลิศ ลิ้มทองกุล นายภิรมย์ สิมะเสถียร และนางสาวทัศนีย์ ธรรมสิทธิ์ ได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2551 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการพิทักษ์ระบบคุณธรรมในภาคราชการไทย จากเดิมที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะดูแลทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
โดย ก.พ.ค. ถือเป็นองค์กรกึ่งตุลาการที่มีปรัชญาในการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ประกอบด้วย หลักประกันความเป็นมืออาชีพ หลักความเป็นกลางและความเป็นอิสระ ในการใช้ดุลพินิจ หลักการรับฟังความเห็นทั้งสองฝ่าย และหลักประกันความเป็นธรรม ซึ่งผู้ที่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ต้องเป็นข้าราชการพลเรือนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งได้แก่ ข้าราชการพลเรือนสามัญ และข้าราชการพลเรือนในพระองค์ โดยเป็นผู้ที่ถูกลงโทษทางวินัยทั้งร้ายแรงและไม่ร้ายแรง ซึ่งเมื่อทราบคำสั่งแล้วต้องส่งเรื่องมาที่ ก.พ.ค. ภายใน 30 วัน และการดำเนินการของ ก.พ.ค. จะทำให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน โดยสามารถขยายได้อีกไม่เกิน 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 60 วัน และหากผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ก็สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 90 วัน
ส่วนกรณีการร้องทุกข์ ก.พ.ค. จะรับวินิจฉัยเฉพาะข้าราชการพลเรือนสามัญที่ยัง รับราชการอยู่ และต้นเหตุแห่งทุกข์ต้องเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และปลัดกระทรวง โดยเรื่องที่ร้องทุกข์ต้องเป็นเรื่องที่ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตน เป็นเหตุให้คับข้องใจเพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เลือกปฏิบัติให้ไม่เป็นธรรม ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ประวิงเวลาหน่วงเหนี่ยว ทำให้เสียสิทธิอันพึงมี และไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม ซึ่งในการวินิจฉัยของ ก.พ.ค. จะใช้หลักกฎหมายในการพิจารณาประกอบด้วย 1.พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 2.พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 3.กฎ ก.พ.ค.ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 4.กฎ ก.พ.ค.ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551 และ 5.กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นางจรวยพร ธรณินทร์ โฆษก ก.พ.ค. กล่าวว่า ความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.พ.ค. นั้น จะเห็นได้จากการจัดรูปแบบการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์ในรูปองค์คณะ โดยแต่ละองค์คณะจะมีกรรมการ ก.พ.ค. และกรรมการวินิจฉัยร่วมกันพิจารณา ดังนั้นในแต่ละองค์คณะจึงมีการถ่วงดุลกันในตัว นอกจากนี้ เมื่อองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาวินิจฉัยเรื่องแล้ว ยังต้องส่งเรื่องให้ ก.พ.ค.(ทั้ง 7 คน) ได้รับทราบหรือพิจารณาแล้วแต่กรณีอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ขั้นตอนวิธีพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551 ได้กำหนดขั้นตอนในการแสวงหาความจริงและ การให้โอกาสคู่กรณีอย่างเป็นธรรมเสมอกัน จึงเป็นที่น่าเชื่อถือได้ว่าการพิจารณาวินิจฉัย เรื่องอุทธรณ์ของ ก.พ.ค. นั้น ด้านคู่กรณีจะได้รับความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ ซึ่งจากสถิติที่ส่วนราชการรายงานผลการดำเนินการทางวินัยมายัง ก.พ.ค. ตามระเบียบ ก.พ.ว่าด้วยการรายงานเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2539 เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการทะเบียนประวัติ ในรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2547-2551 ยังพบว่ามีข้าราชการพลเรือนสามัญที่ถูกลงโทษทางวินัยเพิ่มขึ้น กล่าวคือ ในปีงบประมาณ 2547 มีจำนวน 500 คน ปีงบประมาณ 2548 มีจำนวน 563 คน ปีงบประมาณ 2549 มีจำนวน 502 ปีงบประมาณ 2550 มีจำนวน 472 คน และปีงบประมาณ 2551 มีจำนวน 706 คน
การเปลี่ยนแปลงการพิทักษ์ระบบคุณธรรมในภาคราชการตามกระบวนการนี้ จึงถือเป็นจุดแข็งของการบริหารทรัพยากรบุคคลที่มีความรวดเร็ว ลดขั้นตอน และเป็นกลาง รวมทั้ง ให้ข้าราชการได้รับความคุ้มครองตามระบบคุณธรรม ซึ่งเป็นหลักสำคัญของการบริหารทรัพยากรบุคคลแนวใหม่ของข้าราชการพลเรือน และที่สำคัญยังถือเป็นภารกิจที่ท้าทาย ของกรรมการ ก.พ.ค. ทั้ง 7 คน ในการที่จะปฏิบัติหน้าที่ ตามหลักการที่ได้ประกาศไว้คือ “ยุติธรรม เป็นธรรม และรวดเร็ว”
ในขณะที่ข้าราชการฝ่ายพลเรือนอื่นที่มิใช่ข้าราชการพลเรือนตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 จะต้องใช้กฎหมายในการอุทธรณ์และร้องทุกข์ ที่แตกต่างกันไป คือ ข้าราชการครู ใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยยื่นอุทธรณ์/ร้องทุกข์ได้ที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ข้าราชการตำรวจ ใช้พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ยื่นอุทธรณ์/ร้องทุกข์ ที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ข้าราชการทหาร ใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ.2521 ยื่นอุทธรณ์/ร้องทุกข์ที่คณะกรรมการข้าราชการทหาร (ก.ข.ท.)
ข้าราชการศาลยุติธรรม ใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ยื่นอุทธรณ์/ร้องทุกข์ที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) ข้าราชการอัยการ ใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2521 ยื่นอุทธรณ์/ร้องทุกข์ได้ที่คณะกรรมการข้าราชการอัยการ (กอ.) ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ยื่นอุทธรณ์/ร้องทุกข์ได้ที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.)
ข้าราชการกรุงเทพมหานคร ใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ยื่นอุทธรณ์/ร้องทุกข์ได้ที่คณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) และ ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด พนักงานเทศบาล/พนักงานส่วนตำบล/พนักงานเมืองพัทยา ใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ยื่นอุทธรณ์/ร้องทุกข์ได้ที่คณะกรรมการข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นของข้าราชการผู้นั้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1786 กลุ่มสื่อสารองค์กร สำนักงาน ก.พ.