กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--ธนบุรินทร์ เอเซีย แปซิฟิก
(19 มิถุนายน 2552) ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ออกโรงแจงแนวทางรับมือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หลังยอดผู้ป่วยในประเทศไทยเพิ่มทุกวัน ออกมาตรการเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการแพร่ระบาด และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการทั้งไทยและเทศ อาทิ จัดหาเครื่องเทอร์โมสแกนให้แก่ผู้จัดงาน ติดตั้งระบบ ฟอกอากาศเพิ่มเติมบริเวณศูนย์อาหารสกาย คิทเช่น อาคารชาเลนเจอร์ มูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท รวมถึงการคำนึงเรื่องของการรักษาความสะอาดของเจ้าหน้าที่ให้บริการ และสถานที่อย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ล่าสุดเร่งซักล้างเบาะนั่งในอาคารอารีน่าเพื่อให้พร้อมบริการคอนเสิร์ตครั้งใหญ่
นายพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด เปิดเผย ถึงการรับมือกับสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศต่างๆ ในขณะนี้ว่า “พื้นที่ทุกตารางเมตรของศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีไว้สำหรับการรองรับผู้มาใช้บริการจำนวนมาก เราจึงให้ความสำคัญและคำนึงถึงความสะอาดอยู่แล้ว และเมื่อเกิดภาวะแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 อิมแพ็คฯ ยิ่งต้องเร่งสร้างมาตรการป้องกัน และรับมือกับทุกความเสี่ยงที่จะเกิดกับผู้ใช้บริการไม่ว่าจะเป็นผู้จัดงาน ผู้เยี่ยมชมงาม เจ้าหน้าที่บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานของอิมแพ็คฯ เอง โดยมาตรการแรกที่เราได้ดำเนินการไปแล้ว คือ การประสานงานจัดหาเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ หรือเครื่องเทอร์โมสแกน ในงาน ThaiFEX World of Food 2009 ที่ผ่านมา และอิมแพ็คฯ ยังสามารถจัดหามาบริการให้ได้หากมีการร้องขอ โดยลูกค้าเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีการตรวจสุขภาพพนักงานที่ทำงานอยู่ในส่วนของงานบริการลูกค้า รวมถึงพนักงานเอาท์ซอสด้วย
อย่างไรก็ดี อิมแพ็คฯ มีนโยบายให้เฝ้าระวัง และเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยได้ติดต่อสอบถามศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข เรื่องการเฝ้าระวังและการทำความสะอาดให้ถูกสุขอนามัย และได้เพิ่มมาตรการต่างๆ ด้านสุขอนามัยส่วนรวมอย่างถูกวิธี เนื่องจากคนส่วนใหญ่ติดโรคไข้หวัดใหญ่จากการถูกละอองฝอยไอจาม น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยโดยตรง หรืออาจได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ลูกบิดประตู โทรศัพท์ แก้วน้ำ เป็นต้น ดังนั้น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อทางอากาศภายในตัวอาคาร อิมแพ็คฯ จึงเน้นการรักษาความสะอาดโดยเฉพาะระบบปรับอากาศ โดยมีมาตรการเพิ่มเติมจากการล้างทำความสะอาดระบบปรับอากาศ ประจำทุกเดือน ได้แก่ การติดตั้งระบบฟอกอากาศเพิ่มเติมที่เครื่องปรับอากาศ บริเวณศูนย์อาหารสกาย คิทเช่น อาคาร ชาเลนเจอร์ มูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท และการเปิดพัดลมระบายอากาศก่อนเปิดแอร์ในบริเวณอาคาร แสดงสินค้าและนิทรรศการร่วมกับการใช้น้ำยาสเปรย์ฆ่าเชื้อ ฉีดพ่นห้องทำงานและบริเวณส่วนแสดงสินค้าและนิทรรศการ ซึ่งจะสามารถรับมือกับปัญหาการแพร่กระจายของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้ใน ระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ อิมแพ็คฯ ยังได้เพิ่มมาตรการด้านความสะอาดเป็นพิเศษ ได้แก่ การทำความสะอาดอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆ เช่น โต๊ะทำงาน ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ราวบันได ฯลฯ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุกวัน การทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องน้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เป็นประจำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช่น ก๊อกน้ำ อ่างล้างมือ เป็นต้น ทั้งนี้ ตามปกติการทำความสะอาดของแผนกทำความสะอาดได้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคทำความสะอาดเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งก็เพียงพอต่อการรักษาความสะอาดหรือป้องกันการระบาดของโรค แต่เพื่อความมั่นใจของลูกค้า ผู้รับผิดชอบได้กำชับหัวหน้างานทุกคน ตลอดจนถึงผู้เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดตลอดไป
ทั้งนี้ อิมแพ็คฯ ยังมีนโยบายในส่วนของการรณรงค์กับพนักงานภายใน โดยได้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) ให้ความรู้เรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และวิธีป้องกันการติดเชื้อตามหลัก 4 อ. / วิธีป้องกัน ดูแลรักษาสำหรับผู้ติดเชื้อตามหลัก 4 พ. รวมถึงจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ ร่วมกับการวางแผนดำเนินการจัดอบรมให้พนักงานที่เกี่ยวข้องในการบริการลูกค้าโดยตรง ได้รู้วิธีป้องกันโรคติดต่ออย่างถูกต้อง ส่วนมาตรการในการระวังการแพร่เชื้อในเบื้องต้นคือ ให้พนักงานที่มีอาการไข้ ไม่สบาย สามารถหยุดพักงานได้ทันที และรับการรักษาจนกว่าจะหายดีจึงกลับมาทำงานตามปกติ
นายพอลล์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนั้น เพื่อเตรียมรับมือกับฝูงชนหลายพันคนที่จะเดินทางมาชมคอนเสิร์ตของศิลปินกลุ่มยอดนิยมจากประเทศเกาหลี ดงบัง ชินกิ (Dong Bang Shin Ki) ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ แม้จะมีการวางรากฐานด้านมาตรฐานการรักษาความสะอาดในทุกๆ ระบบอย่างเคร่งครัดแล้ว เรายังรับผิดชอบต่อสุขภาพของผู้ใช้บริการทุกคน โดยได้ดำเนินการซักทำความสะอาดเก้าอี้ในอาคารอารีน่า (เก้าอี้เบาะ) ประมาณ 5,000 ที่นั่ง โดยจะเริ่มดำเนินการให้แล้วเสร็จรับคอนเสิร์ตดังกล่าว โดยคาดการว่าน่าจะแล้วเสร็จ และครบทุกส่วนพื้นที่ของอิมแพ็คฯ”
“ขณะนี้ อิมแพ็คฯ ยังประเมินว่าการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยที่ติดเชื้อในประเทศไทยนั้นจะไม่กระทบต่อการจัดงานแสดงสินค้า และการประชุมต่างๆ ที่กำลังจะมีขึ้นหรือจัดอยู่ในขณะนี้ แม้จะมีความเป็นห่วงของ นักธุรกิจบางกลุ่มที่กังวลเรื่องความปลอดภัย และอาจไม่ต้องการเดินทางมายังประเทศกลุ่มเสี่ยง แต่เชื่อว่าประสบการณ์และศักยภาพในการจัดงานระดับนานาชาติของ อิมแพ็คฯ ที่ผ่านมา จะสามารถสร้างความมั่นใจและอำนวยความสะดวกแก่ผู้จัดงาน ผู้ร่วมงานแสดงสินค้าและนิทรรศการ และผู้ซื้อได้เพียงพอ เชื่อมั่นว่าจะทำให้ปัญหาความกังวลดังกล่าวหมดไป และไม่กระทบกับงานที่จะมีขึ้นแต่อย่างใด” นายพอลล์ กล่าวสรุป
สื่อมวลชนต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:
บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด
จินตนา พงษ์ภักดี (081 640 0497)
โทร: +66 (0) 2833 5061
อีเมลล์: jintanap@impact.co.th
อภิรดี สนธิวรานุรักษ์ (084 911 5556)
โทร: +66 (0) 2833 5062
อีเมลล์: apiradeeso@impact.co.th
สุภวรรณ รักงาม
โทร: +66 (0) 2833 5067
อีเมลล์: supawanr@impact.co.th
บริษัท ธนบุรินทร์ เอเซีย แปซิฟิค จำกัด
เกษมศรี ยูเฟมิโย (081 611 4696)
โทร: +66 (0) 231 6158-9
อีเมลล์: kasemsri@thanaburin.co.th
ยุวดี ชมบุญ (08 9 669 5286)
โทร: +66 (0) 231 6158-9
อีเมลล์: yuwadi@thanaburin.co.th
ธิดาพร จำรัสคำ (081 734 0473)
โทร: +66 (0) 231 6158-9
อีเมลล์: tidaporn@thanaburin.co.th