รมช. ประดิษฐ์ จะเดินทางไปกล่าวในการประชุมใหญ่สมัชชาองค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจโลกและผลกระทบที่เกิดขึ้น

ข่าวทั่วไป Monday June 22, 2009 11:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ย้ำช่วยเหลือผู้ส่งออกไทย โดยการปฏิเสธระบอบการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศด้วยมาตรการภาษีและการกีดกันทางการค้า (Protectionism) นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าววันนี้ว่า จะเดินทางไปนครนิวยอร์ค ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทยเพื่อร่วมการประชุมว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อการพัฒนา ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก “ภารกิจที่สำคัญของผมครั้งนี้คือ การคุ้มครองผู้ส่งออกและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยการแสดงออกอย่างหนักแน่นถึงการไม่เห็นด้วยกับกระแสการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศด้วยมาตรการภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ที่กำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นภัยต่อระบบการค้าของโลก” รมช. ประดิษฐ์ กล่าว “เศรษฐกิจของประเทศไทยประมาณ 2 ใน 3 มาจากการส่งออก หากมีอุปสรรคทางการค้าใดๆ เกิดขึ้น จะเป็นตัวขัดขวางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และจะสร้างปัญหาให้กับธุรกิจต่างๆ ของประเทศไทย ซึ่งเรากำลังจะได้เห็นตัวอย่างมากมายของการกีดกันทางการค้าที่เริ่มคืบคลานเข้ามา และจะเพิ่มความยุ่งยากให้กับผู้ส่งออก ดังนั้นวิธีที่จะรักษาผลประโยชน์ของทุกประเทศในระยะยาวต้องมาจากการคงสภาพของระบบการค้าแบบเปิดต่อไปและร่วมกันต่อต้านการสร้างกำแพงภาษีและอุปสรรคทางการค้า” รมช. ประดิษฐ์ กล่าว รมช. ประดิษฐ์ กล่าวอีกว่า จะแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่สมัชชาทราบถึงความคืบหน้าในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย และหวังที่จะได้ศึกษาว่าประเทศต่างๆ เขาทำอย่างไรในการต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น การประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 ถึง 26 มิถุนายน 2552 ณ นครนิวยอร์ค โดยมีผู้นำประเทศ ผู้นำรัฐบาล ซึ่งรวมถึงพระมหากษัตริย์ ประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี ประมาณ 190 ประเทศ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้มูลค่าการส่งออกของประเทศไทย ปี 2551 คิดเป็นเงิน 5,850,000 ล้านบาท มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม 2552 ประมาณ 398,000 ล้านบาท ลดลง 26.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา สำหรับมูลค่าการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ประมาณ 1,950,000 ล้านบาท ลดลง 22.95% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ กระทรวงการคลัง 02-271 2759

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ