กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--กทม.
รองผู้ว่าฯ ธีระชนรุดหารือผู้บริหารเมืองทองธานีขยายเส้นทางรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT หมอชิต-ศูนย์ราชการ ไปจนถึงเมืองทองธานี รวมระยะทาง 20 ก.ม.เบื้องต้นทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกันให้เพิ่มสถานี และอู่จอดซ่อมบำรุงในที่ดินเมืองทอง ซึ่งเจ้าของย้ำยกให้ฟรี คาดรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีกมหาศาล รวมวันละกว่าแสนคน โดยรายละเอียดโครงการทั้งหมดเสร็จ มิ.ย.เพิ่มงบอีก 130 ล้านบาท ต้องนำเข้า สภา กทม.พร้อมเตรียมเสนอ ครม.อนุมัติเส้นทางที่เพิ่มขึ้น จากนั้นประกวดราคา ก.ย.เริ่มสร้าง ปลายปี 52 กำหนดเสร็จปลายปี 53
ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ที่ปรึกษาโครงการรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT และผู้เกี่ยวข้อง เดินทางสำรวจแนวเส้นทางโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ BRT สายหมอชิต-ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ตรวจพื้นที่ก่อสร้างสถานีบนถนนแจ้งวัฒนะ พื้นที่ก่อสร้างสถานีศูนย์ราชการ พื้นที่ก่อสร้างสถานีและอู่จอดซ่อมบำรุง บริเวณเมืองทองธานีและแนวทางการขยายการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
เดิมขออนุมัติเส้นทาง หมอชิต-ศูนย์ราชการ 16.5 ก.ม.
เดิมรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT เส้นทางหมอชิต-ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ตามที่ขออนุมัติจากสภากรุงเทพมหานครมีระยะทางทั้งสิ้น 16.5 กิโลเมตร จำนวน 6 สถานี ใช้รถโดยสารวิ่ง 45 คัน ระยะเวลาวิ่งตลอดเส้นทาง 22-35 นาที มีการก่อสร้างสถานีเชื่อมต่อการเดินทางกับสถานีรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้ามหานคร จากนั้นใช้เส้นทางถนนพหลโยธิน โดยเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนวิภาวดีรังสิต เข้าสู่สถานีหอวัง ซึ่งเป็นสถานีที่คาดว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารจำนวนมากจากสถานศึกษาและศูนย์การค้าในบริเวณใกล้เคียง แล้วขึ้นสู่ทางยกระดับดอนเมืองและเดินทางตามเส้นทางยกระดับดอนเมืองเป็นระยะทางรวม 8 กิโลเมตรจนถึงถนนแจ้งวัฒนะ และจะเลี้ยวเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะและเดินรถตามถนนแจ้งวัฒนะระยะทางประมาณ 3.5 กม. ตามแนวเส้นทางจะผ่าน แยกหลักสี่ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย การสื่อสารแห่งประเทศไทย กรมการกงสุลและเลี้ยวเข้ารับส่งผู้โดยสารที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะและจะสามารถรองรับข้าราชการที่ทำงานในศูนย์ราชการแห่งนี้ 29 หน่วยงาน จำนวนเกือบ 60,000 คน ซึ่งศูนย์ราชการจะเป็นอู่จอดและซ่อมบำรุงด้วย จากนั้น BRT จะวิ่งกลับสู่ถนนแจ้งวัฒนะ และเข้าสู่สถานีคลองประปาเป็นสถานีสุดท้าย แล้ววิ่งกลับมายังจุดเริ่มต้นที่หมอชิตดังเดิม
เดิมหาอู่จอดและซ่อมบำรุงไม่ได้ ทั้งในศูนย์ราชการและที่จะร่วมใช้กับบีทีเอสหมอชิต
แต่จากการพิจารณาของที่ปรึกษาและผู้แทนรับผิดชอบพื้นที่ศูนย์ราชการแล้ว ไม่สามารถสร้างอู่จอดและซ่อมบำรุงในพื้นที่ศูนย์ราชการได้ เนื่องจากพื้นที่ไม่เพียงพอ อีกทั้งถ้าจะก่อสร้างที่บริเวณอู่จอดรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต ทางผู้แทนของกรมธนารักษ์มีความเห็นว่าไม่สามารถทำได้ ผู้บริหารกรุงเทพมหานครและสำนักการจราจรและขนส่งจึงเข้าหารือกับศูนย์นิทรรศการเมืองทองธานีเพื่อจัดทำเป็นอู่จอดและซ่อมบำรุงรถ BRT
กทม.กับเมืองทองธานี เห็นพ้องขยายเส้นทางเข้าเมืองทองฯ รับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น และมีพื้นที่อู่จอดและซ่อมฟรี
จากการหารือของคณะผู้บริหาร กทม.และผู้บริหารเมืองทองธานี นำโดยนายอนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานบริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) มีความเห็นร่วมกันที่จะขยายเส้นทางรถ BRT เข้าไปยังเมืองทองธานี ซึ่งจะเพิ่มสถานีอีก 1 สถานี บรเวณทะเลสาปของโครงการ อีกทั้งเมืองทองธานียินดีที่จะยกที่ดินให้สร้างอู่จอดและซ่อมบำรุง และสถานที่จอดแล้วจรในพื้นที่ด้วย ซึ่งจะมีผลดีกับทุกฝ่าย ทั้งกรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าของ BRT เมืองทองธานี และจังหวัดนนทบุรี อีกทั้งประชาชนใช้บริการมากขึ้น โดยจากการรายงานมีประชาชนเข้ามาชมนิทรรศการสินค้า ชมคอนเสิร์ตการแสดง การประชุมทุกระดับ เฉลี่ยแล้วปีละ 15-20 ล้านคน รวมถึงประชาชนผู้เดินทางเข้ามาทำงานในเมืองทองธานี และผู้อาศัยในคอนโดมิเนียมเมืองทองธานีอีกประมาณ 1 แสนคน ดังนั้นจากการสำรวจมีคนเดินทางเข้าออกเมืองทองธานีเดือนละกว่า 1 ล้านคน หากมีระบบขนส่งมวลชนที่ดีก็สามารถรองรับการเดินทางขนาดใหญ่นี้ได้ อีกทั้งเมืองทองธานีมีโครงการก่อสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น จึงเห็นพ้องกันว่าระบบรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT จะตอบสนองความสะดวกในการเดินทางได้อย่างดี โดยคาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการวันละ 111,000 คน ใช้รถโดยสาร 60 คัน
รายละเอียดโครงการทั้งหมดเสร็จ มิ.ย.เพิ่มงบ 130 ล้านบาท ต้องนำเข้า สภา กทม.พร้อมเตรียมเสนอ ครม.อนุมัติเส้นทางที่เพิ่มขึ้น ประกวดราคา ก.ย.เริ่มสร้าง ปลายปี 52 กำหนดเสร็จปลายปี 53
ทั้งนี้บริษัทที่ปรึกษาโครงการ จะจัดทำรายละเอียดโครงการทั้งหมด ทั้งการก่อสร้าง ระยะทาง จำนวนรถโดยสาร และอื่นๆ ส่งให้กับ สจส.ภายในเดือน มิ.ย.52 จากนั้น สจส.จะเรียกประชุมคณะกรรมการกำกับดูแล ซึ่งประกอบด้วย สจส. กรมทางหลวง สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เดือน ก.ค.52 เพื่อขอรับความเห็นและเตรียมจัดระบบการดำเนินการร่วมกัน และเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติเส้นทางในส่วนที่เพิ่มขึ้นอีกครั้ง ซึ่งงบประมาณลงทุนก่อนที่จะขยายไปยังเมืองทองธานีนั้น กทม.ตั้งไว้ที่ 1,670 ล้านบาท แต่พอขยายเส้นทางจะมีการของบประมาณเพิ่มเป็น 1,800 ล้านบาท โดยจะนำเข้าที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครเพื่อขออนุมัติในส่วนต่าง เนื่องจากเคยตั้งงบประมาณในส่วนแรกไว้แล้ว จากนั้นนำเรื่องเสนอสภา กทม.ตามมาตรา 93 เรื่องการดำเนินการก่อสร้างนอกพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งจะได้หารือกับสภาท้องถิ่น จ.นนทบุรี รวมทั้งทำข้อตกลงร่วมกับผู้บริหารของเมืองทองธานีเพื่อขอใช้พื้นที่ เมื่อขั้นตอนแล้วเสร็จก็จะเข้าสู่กระบวนการเปิดประกวดราคาเพื่อหาผู้รับเหมาก่อสร้างภายในเดือน ก.ย.52 และคาดว่างานก่อสร้างจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงปลายปี 52 กำหนดแล้วเสร็จปลายปี 53