กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--คต.
สถานการณ์ตลาดสิ่งทอในสหรัฐอเมริกายังคงไม่ฟื้นตัว ผู้ส่งออกเบนเข็มหาตลาดทดแทนอย่างญี่ปุ่น ซึ่งมีการขยายตัวที่น่าพอใจ พร้อมทั้งใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ JTEPA และ AFTA ในการสร้างศักยภาพในการแข่งขัน
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สหรัฐฯ นำเข้า สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่มในไตรมาสแรกของปี 2552 ลดลงร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยนำเข้ามูลค่า 19,037 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่วนใหญ่ คือ ด้ายและผลิตภัณฑ์จากฝ้าย โดยนำเข้าจากประเทศที่มีความได้เปรียบเรื่องต้นทุนการผลิต เช่น จีน บังคลาเทศ ฮอนดูรัส เวียดนาม อินโดนีเซีย เม็กซิโก และอินเดีย ขณะที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 16 ของสหรัฐฯ และไตรมาสแรกของปี 2552 สหรัฐฯ นำเข้าจากไทยมูลค่าประมาณ 422 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป
ถึงแม้ว่า สหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับหนึ่งของไทยจะลดการสั่งซื้อ ผู้ประกอบการไทยยังคงมีช่องทางที่จะรักษาระดับการส่งออก ด้วยการพัฒนาตลาดเดิม เช่น ญี่ปุ่น และอาเซียน ซึ่งถือว่าไทยมีความได้เปรียบจาก FTA โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย — ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นมา มีผลทำให้การส่งออกในปี 2551 ขยายตัวถึงร้อยละ 23 ส่วนใหญ่เป็นเส้นด้ายและผ้าใยสังเคราะห์
นอกจากนี้ ไทยควรใช้ประโยชน์จากประเทศสมาชิกอาเซียนมากขึ้น ทั้งในด้านของการเป็นแหล่งวัตถุดิบราคาถูก และตลาดส่งออกขนาดใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมากรมการค้าต่างประเทศได้ประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้น และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงให้มากขึ้นมาโดยตลาด
นางสาวชุติมาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากตลาดเดิมแล้ว ผู้ประกอบการควรบุกเบิกตลาดใหม่ ๆ ที่มีความต้องการและกำลังซื้อสูง เช่น สหรัฐอมหรับเอมิรตส์และรัสเซีย โดยจะต้องรักษาและพัฒนาคุณภาพสินค้า พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น การพัฒนาสิ่งทอเทคนิคที่มีคุณภาพพิเศษ (สิ่งทอกันไฟและสิ่งทอยานยนต์) รวมทั้งติดตามทิศทางของตลาด ความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนการส่งมอบให้ตรงเวลา